เรียนรู้การทำธุรกิจด้วยความยั่งยืน เรื่องที่มากกว่าสิ่งแวดล้อม

“เราใช้ทรัพยากรอะไรในวันนี้ อย่าไปรบกวนคนรุ่นหน้า”

เป็นคำพูดที่ ยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด สรุปความหมายของคำว่า “ความยั่งยืน” ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เอาไว้ระหว่างการแถลงข่าวเรื่องการจัดงานสัมมนาหัวข้อ ‘Day One with Sustainability’ หรือ ‘ก้าวแรกธุรกิจด้วยความยั่งยืน’ ที่เอปสันดึงสามแบรนดธุรกิจคนรุ่นใหม่ ที่จัดขึ้นมหาวิทยาหอการค้าไทย เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม และมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

เอปสัน หนึ่งในผู้นำด้านการผลิตเทคโนโลยีการพิมพ์และโปรเจคเตอร์อันดับหนึ่งของโลก ก็มีความตระหนักในเรื่องการทำธุรกิจที่ยั่งยืนมานานแล้ว ด้วยการกำหนดแนวทางในการทำธุรกิจ ให้ควบคู่กับการรักษาสภาพแวดล้อมรอบบริษัท

ยรรยง กล่าวว่า นโยบายเรื่องความยั่งยืนนั้น เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของเอปสันซึ่งต้องยอมรับว่า คำว่า “ความยั่งยืน” เป็นคำที่ฮิตมากในปัจจุบัน บริษัทต่างๆ ผู้ประกอบการต่างๆ คนทั่วไป ก็เริ่มมีความตระหนักรับรู้เรื่องของความยั่งยืนมากขึ้น เรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การทำธุรกิจอย่างไรให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้ คำจำกัดความของคำว่า ความยั่งยืน มาจากองค์การสหประชาชาติที่ได้ให้คำจำกัดความของความยั่งยืนเอาไว้ สรุปได้ว่า เราทำอะไรหรือทรัพยากรอะไรในวันนี้ อย่าไปรบกวนคนรุ่นหน้าของเรา แปลง่ายๆ ว่า ใช้อะไรวันนี้ อย่าไปยืมอนาคตของลูกหลานหรือคนรุ่นหน้ามาใช้

ในส่วนของเอปสันนั้น ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด โดยมีวิชั่น 2050 ว่า จะลดการปลดปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ ในปี 2050 และจะหยุดการใช้พลังงานจากใต้พื้นพิภพ และจะเปลี่ยนเป็นพลังงานหมุนเวียนทั้งหมดแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ เอปสันได้กำหนดแนวทางในการทำธุรกิจให้เดินคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมรอบบริษัทฯ ที่จังหวัดนากาโน ประเทศญี่ปุ่น ก่อนจะขยายขอบเขตความรับผิดชอบให้กว้างขึ้นจนเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการกำจัดสารซีเอฟซีที่ทำลายชั้นโอโซนออกจากกระบวนการผลิตทั้งหมดได้ในปี 1993 และได้เริ่มทำงานร่วมกับยูเอ็นตั้งแต่ปี 2004 รวมถึงสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (UNSDG)

“เอปสันได้ใช้หลักความยั่งยืนตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิตตลอดจนถึงขั้นตอนบรรจุห่อและโลจิสติกส์ เพื่อรับประกันว่าผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นจะมีส่วนร่วมกับการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น การพัฒนาเทคโนโลยี Heat-Free ที่ใช้ในเครื่องพิมพ์สำนักงาน ซึ่งไม่ใช้ความร้อนในกระบวนการพิมพ์ จึงช่วยประหยัดพลังงานได้มากกว่าเครื่องพิมพ์เลเซอร์ถึง 85% และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 85%”

และการที่เอปสันเชื่อมโยงความยั่งยืนเข้ากับกลไกธุรกิจตั้งแต่แรกเริ่ม ทำให้บริษัทฯ เป็นหนึ่งในองค์กรที่มีความชัดเจนและประสบความสำเร็จในการสร้างความเติบโตทางธุรกิจไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกได้และ
นี่คือที่มาของการจัดงานสัมมนา หัวข้อ ‘Day One with Sustainability’ ของเอปสัน โดยงานนี้ เอปสัน ได้รับเกียรติจาก 3 แบรนด์ธุรกิจของคนไทย ที่สร้างความเติบโตจากแนวคิดความยั่งยืนในการทำธุรกิจ มาบอกเล่าเรื่องราวให้ผู้สัมมนาได้ฟัง  ได้แก่ SHE KNOWS, Maddy Hopper และ Qualy ที่จะมาบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ ที่อยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืน เพื่อจะได้เป็นแนวทางให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ต่อไป

ปานไพลิน พิพัฒนสกุล และ ธัญญรัตน์ ตรีสุรมงคลโชติ 2 สาวคนเก่งผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์
SHE KNOWS เสื้อผ้าแฟชั่นสตรี เจ้าของสโลแกน ‘Greener Fashion for All’ บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเสื้อผ้า
รักษ์โลกของทั้งคู่ว่า แรกเริ่ม SHE KNOWS ก็เป็นแบรนด์เสื้อผ้า Fast Fashion ทั่วๆ ไป เน้นปริมาณ ไม่ได้เน้นคุณภาพ แต่จุดเปลี่ยนที่มาเป็น Greener Fashion ก็คือ การไปเปิดร้านป๊อปอัพที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง แล้วจู่ๆ ก็มองไปรอบตัวเห็นร้านอื่นอีกเป็นร้อยๆ ร้านที่ขายเสื้อผ้าเกรดเดียวกัน และเริ่มรู้สึกว่าเสื้อผ้าพวกนี้ เดี๋ยวก็จะกลายเป็น “ขยะ” ทั้งนั้น เพียงแต่เปลี่ยนจากขยะของร้าน กลายเป็นขยะของลูกค้า แล้วก็จะกลายเป็นขยะของโลก เพราะเสื้อผ้าที่ขายนั้น รู้อยู่ว่าลูกค้าซื้อไปใช้ไม่กี่ครั้ง ซักไม่กี่ครั้ง ก็จะกลายเป็นขยะ เพราะไม่มีคุณภาพ ณ จุดนั้น เลยทำให้ทั้ง 2 สาว เริ่มต้นคุยกันว่า ไม่อยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาขยะเหล่านี้ อยากทำให้สินค้าของร้านเป็นสินค้าที่มีคุณภาพดี และถ้าลูกค้านึกถึงสินค้าคุณภาพดี ก็อยากให้นึกถึง SHE KNOWS โดยโฟกัสไปที่การแก้ปัญหาของวงการแฟชั่น 3 ปัญหาคือ สิ่งแวดล้อม คนงาน และลูกค้า

ปัญหาแรก คือสิ่งแวดล้อมนั้น 2 สาวบอกว่า วงการแฟชั่น ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำ มลภาวะทางอากาศ ขยะ หรือหน้าดินที่เสื่อมโทรม เพราะใช้ปุ๋ยที่เร่งโตมากเกินไป จึงเลือกวัตถุดิบที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด เช่น ผ้าออแกนิกคอตตอนที่ไม่ทำลายหน้าดิน หรือใช้น้ำน้อยกว่าคอตตอนปกติ หรือแม้แต่กางเกงยีนส์ ก็ทำมาจากผ้ารีไซเคิลทั้งหมด เป็นต้น

ปัจจัยต่อไป คือเรื่องของคนงาน ที่ผ่านมาการว่าจ้างแรงงานในการตัดเย็บนั้น มีการจ่ายค่าแรงที่น้อยมากให้กับช่าง
ซึ่งดูแลไม่ได้สอดคล้องกับค่าครองชีพ SHE KNOWS จึงเลือกที่จ่ายค่าแรงให้กับช่างคนไทย เป็นเงินที่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ ไม่ใช่ค่าแรงงานขั้นต่ำ แต่ต้องเป็นค่าจ้างที่ได้ไปแล้วเพียงพอต่อการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันจริงๆ เมื่อจ่ายค่าแรงที่สูง สิ่งที่ได้มาก็คือคุณภาพของสินค้าที่ดีขึ้น ลูกค้าได้ไป ก็ใส่ได้นานขึ้นเกิดเป็นอีโคซิสเต็มที่ค่อนข้าง “แฮปปี้”

สุดท้าย คือเรื่องของลูกค้า เพราะเป็นที่รู้กกันว่า สินค้ารักษ์โลกส่วนใหญ่ จะต้องมีราคาแพง กางเกงยีนส์รักษ์โลกทั่วไปราคาเริ่มต้นก็ 3,000 – 4,000 บาท SHE KNOWS จึงได้พยายามทำให้กางเกงยีนส์รักษ์โลกของทางร้านเป็นสิ่งที่สามารถจับต้องได้ ด้วยราคาแค่พันกว่าบาท

แต่เมื่อเริ่มต้น ก็เป็นเรื่องยากแล้ว!

เพราะเวลาซื้อวัตถุดิบที่เป็นอะไรที่รักษ์โลก ก็จะมีต้นทุนที่สูงมาก จึงต้องหาสมดุลให้เจอว่าจะขายสินค้ารักษ์โลก ในราคาที่ลูกค้าจับต้องได้อย่างไร ที่สำคัญคือ คุณภาพต้องดีด้วย โดยฐานลูกค้าก็มาจากลูกค้ากลุ่มเดิมที่เคยซื้อเสื้อผ้าของ SHE KNOWS อยู่แล้ว พอใช้ดี ก็บอกต่อๆ กันไป เพราะฉะนั้น แบรนด์ แอมบาสเดอร์ที่ดีที่สุดของร้านก็คือ ลูกค้าปัจจุบัน SHE KNOWS ขายผ่านออนไลน์เท่านั้น คือ Lazada, Instagram และ Line เสื้อผ้าจะเป็นเสื้อผ้าสำหรับให้ผู้หญิงทั่วไปใส่ได้ ใส่แล้วสวย และสำคัญสุด คือ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ก่อนทิ้งท้ายว่า ธุรกิจที่ยั่งยืน ไม่ใช่แค่เรื่องของสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของชุมชนด้วย ต้องครบทั้งอีโคซิสเต็ม

อีกแบรนด์หนึ่ง ที่ร่วมในงานสัมมนา ก็คือ Maddy Hopper แบรนด์ของรองเท้าผ้าใบรักษ์โลก ที่ชาญ
สิทธิญาวณิชย์ และภาคิน โรจนเวคิน 2 ผู้ร่วมก่อตั้ง ด้วยคอนเซ็ปต์อย่างแรกคือ ต้องเป็นรองเท้าที่ใส่กับอะไร
ก็ได้ ต้องนุ่ม และสามคือ ดีกับคนใส่ไม่พอ แต่ต้องดีกับโลกด้วย สาเหตุที่มองเรื่องของการรักษ์โลกด้วยนั้น เพราะมองว่าเราต้องมีความรับผิดชอบในฐานะของผู้ประกอบการด้วย ก็คือ มีเรื่องของผู้บริโภค เรื่องของความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ต้องไปด้วยกัน

สิ่งที่ต้องยอมรับ เมื่อต้องทำสินค้ารักษ์โลกก็คือ เรื่องของกำไรที่น้อยมาก ซึ่งสองหนุ่มบอกว่า ต้องใช้ความสามารถในการทำให้ต้นทุนบางอย่างลดลง เพื่อที่จะได้กำไรมากขึ้น เพราะอย่างไรเสีย ธุรกิจก็ต้องยั่งยืนในตัวมันเอง ไม่เช่นนั้นก็จะไม่ได้อิมแพคอะไรเลย ขณะเดียวกัน ราคาสินค้าก็ต้องให้ผู้บริโภคสามารถจับต้องได้ด้วย

สำหรับเรื่องเทรนด์ของเรื่องความยั่งยืนนั้น มองว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และหลายแบรนด์ก็เริ่มมองเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น อาจจะเป็นเพราะการได้รับผลกระทบโดยตรงจากสภาพอากาศที่รุนแรงอย่างหนัก หรืออย่างการเกิดน้ำท่วม ที่กดดันภาคธุรกิจมากขึ้น ก็เชื่อว่าน่าจะมีแบรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมามาก ก็จะทำให้ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น

2 หนุ่มแห่ง Maddy Hopper  มองว่า สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ก็คือ เป็นแค่ตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าการทำสินค้าที่เป็น
แบรนด์รักษ์โลก ก็สามารถทำกำไรได้เหมือนกัน และมีลูกค้าซื้อสินค้าด้วย และสุดท้าย เรียกได้ว่าเป็นพี่ใหญ่ผู้มากประสบการณ์สุดในงานสัมมนา  ‘Day One with Sustainability’ สำหรับ  Qualy แบรนด์สินค้าตกแต่งบ้านที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลของคนไทย ที่ส่งออกไปขายใน 66 ประเทศทั่วโลก 

ทศพล ศุภเมธีกูลวัฒน์ ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด Qualy Design บอกว่า “Qualy เริ่มสร้าง
แบรนด์เมื่อ 18 ปีที่แล้ว ยึดหลักความยั่งยืนมาตั้งแต่คอลเล็กชั่นแรก ทั้งวัสดุที่เลือกใช้เป็นวัสดุรีไซเคิล ช่วยลดการนำทรัพยากรใหม่มาใช้ การออกแบบผลิตภัณฑ์ก็คำนึงถึงอายุการใช้งานที่ยาวนาน และลดการใช้ทรัพยากร ส่วนบรรจุภัณฑ์ก็มีขนาดเล็กหรือน้ำหนักเบา เพื่อประหยัดการขนส่ง ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงและการปล่อยมลพิษจากยานพาหนะ ทุกผลิตภัณฑ์ยังเน้นการสื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมไปสู่ผู้บริโภค ปัจจุบัน Qualy ได้รับความนิยมอย่างมากจากกลุ่มผู้ที่ชอบตกแต่งบ้าน ชอบไลฟ์สไตล์ที่ดี และใส่ใจต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับวันฐานลูกค้ากลุ่มนี้จะขยายเพิ่มมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ”

ทศพล พูดถึงเรื่องการทำธุรกิจด้วยความยั่งยืนว่า จำเป็นต้องหาจุดสมดุลที่ว่าธุรกิจต้องสามารถเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน พร้อมกับสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนด้วย เพราะธุรกิจที่ใช้วัสดุรีไซเคิลจะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าธุรกิจทั่วไป เพื่อทำให้สินค้ามีความแตกต่าง สินค้ารักษ์โลกในอดีตเป็นเรื่องของแฟชั่น คนใช้จำกัดอยู่ในวงแคบ เพราะมีราคาสูง แต่ Qualy พยายามที่จะทำให้สินค้านี้กลายเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ มีราคาจับต้องได้เข้าถึงคนได้จำนวนมาก”

ก็หวังว่างานสัมมนา ‘Day One with Sustainability’ หรือ  ‘ก้าวแรกธุรกิจด้วยความยั่งยืน’ ในครั้งนี้ จะช่วยให้น้องๆ คนรุ่นใหม่ที่จะทำธุรกิจ หรือสานต่อธุรกิจของครอบครัว ได้รับแรงบันดาลใจและไอเดียเรื่องความยั่งยืนมาใช้กับธุรกิจของตัวเอง ไม่มากก็น้อย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา