Epson เผยเทรนด์การพิมพ์เพื่อการใช้งานทั่วไปลดลง แต่กลุ่มธุรกิจอื่นๆ ยังมีช่องเติบโต หน่วยงานราชการ ภาคธุรกิจเอกชน ดันยอดธุรกิจ B2B เพิ่มขึ้นหลังจากหลากหลายวิกฤตตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ชูทุกกลุ่มธุรกิจเติบโตมากกว่า 10% สองปีติดต่อกัน พร้อมลุยธุรกิจใหม่ด้าน B2B
ยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่าภาพรวมของตลาดเครื่องพิมพ์โดยรวมของปี 2565 จาก GFK นั้นพบว่ามูลค่าตลาดลดลง 5% จาก 2,985 ล้านบาท เหลือ 2,838 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2564 ส่วนยอดจำหน่ายลดลง 8% จาก 787,000 เครื่อง เหลือ 717,000 เครื่อง ปัจจัยหลักคือพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป จากการใช้การพิมพ์ในหลายๆ กลุ่มลดลง, พฤติกรรมที่ชะลอการซื้อสินค้าใหม่ลดลง และเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ธุรกิจอื่นๆ ของ Epson กลับเติบโตสวนทางกัน ทำให้ในปีงบประมาณ 2565 Epson เติบโตขึ้นด้วยยอดขายจากปีงบประมาณก่อนหน้านี้กว่า 10% ถือเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน นับตั้งแต่ช่วงวิกฤตโควิต-19, สงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมไปถึงการถดถอยของเศรษฐกิจโลก
“กลุ่มสินค้าที่ผลักดันให้ยอดขายรวมของ Epson โตขึ้นหลักๆ จะเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องพิมพ์อุตสาหกรรม ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีและเชื่อมั่นในแบรนด์, โฮมโปรเจคเตอร์ จากอานิงค์ฟุตบอลโลก และเทรนด์การสร้างโฮมเธียเตอร์ภายในบ้าน และเครื่องพิมพ์สิ่งทอระบบดิจิทัล ที่โตขึ้นจากแรงหนุนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มสินค้า B2B”
สำหรับกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจที่เป็นจุดเปลี่ยนของการเปลี่ยนแปลงหลังจากวิกฤตต่างๆ ก็คือกลุ่มเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทขนาดใหญ่ที่เข้าไปทดแทน และแย่งชิงตลาดเครื่องถ่ายเอกสารตามสำนักงานต่างๆ ที่ปัจจุบันเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทมีคุณภาพการพิมพ์ที่แทบจะใกล้เคียงเครื่องพิมพ์เลเซอร์ และด้วยต้นทุนค่าพิมพ์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยรวมถูกกว่า 85% ดังนั้นจึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในหลายๆ กลุ่มธุรกิจที่ยังต้องใช้การพิมพ์เอกสาร
“New 5” กลยุทธ์ดันธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน
ยรรยง กล่างเพิ่มเติมว่า ด้วยวิกฤตการต่างๆ ที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 3 ปี บริษัทฯ ต้องวางกลยุทธ์ที่สร้างการเติบโตแบบยั่งยืน มองหาช่องทางพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ และมีเป้าหมายสร้างการเติบโตมากกว่า 10% ติดต่อเป็นปีที่สามติดต่อกัน โดยเน้นไป 5 กลยุทธ์ดังนี้
New S-Curve พัฒนาเทคโนโลยีระบบพิมพ์ “Heat-Free” ที่ลดการใช้พลังงานลงกว่า 85%, ลดการปล่อยคาร์บอนไดอ๊อกไซต์ 85% และลดอุปกรณ์สิ้นเปลือง 59% เมื่อเทียบกับเครื่องพิมพ์เลเซอร์ พร้อมประกาศยุติการจำหน่ายเครื่องพิมพ์เลเซอร์ในประเทศไทยในสิ้นปี 2566 เพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมตามนโยบายของบริษัทฯ แม่ พร้อมเปิดตัวเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทรุ่นใหม่ ที่กินไฟน้อยลง ใช้วัสดุ ส่วนประกอบ อุปกรณ์สิ้นเปลืองต่างๆ น้อยลง และเลเซอร์โปรเจคเตอร์ ที่ให้ความสว่าง ความคมชัด และประหยัดไฟมากว่า เทคโนโลยีโปรเจคเตอร์แบบหลอดภาพ
New Target เข้าสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ด้วยสินค้ากลุ่มเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทความเร็วสูง ที่จะมาทดแทนเครื่องถ่ายเอกสาร ซึ่งได้รับผลตอบรับดี รวมไปถึง เลเซอร์โปรเจคเตอร์ ที่เป็นทางเลือกใหม่ให้กับหลายอุตสาหกรรมนำไปใช้
New Business Model เปิดรูปแบบธุรกิจการพิมพ์แบบเหมาจ่ายรายเดือนอย่าง EasyCare ทำให้ผู้บริโภคสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตให้เหมาะสมกับธุรกิจได้ และช่วงครึ่งปีหลังนี้ เปิดตัว Epson iPrint AnyWhere สั่งการพิมพ์เอกสารต่างๆ นอกสถานที่ผ่านเครื่องพิมพ์เอปสันในสถานที่ต่างๆ ที่อยู่ในเครือข่าย ซึ่งจะสร้างรายได้แบบยั่งยืนต่อไป
New Experience ภายในตุลาคมนี้ Epson จะเปิดโชว์รูมแห่งแรกของไทย “Epson New Solution Service” บนพื้นที่กว่า 600 ตารางเมตร โดยจะรวบรวมผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่มาจัดแสดง พร้อมกับทำการสาธิตและจัดอบรมให้กับตัวแทนจำหน่ายและลูกค้าที่สนใจ ให้ได้สัมผัสกับประสบการณ์การใช้งานเครื่องจริงก่อนตัดสินใจซื้อ
New Service เน้นกลุ่ม B2B มากขึ้น เพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มหน่วยงานราชการ ธนาคาร ประกันภัย ที่มีอยู่ทั่วประเทศ รองรับการขยายตัวของตลาด และลดระยะเวลาในการส่งเครื่องซ่อม โดยเปิดศูนย์ให้บริการหลังการขายจากเดิม 122 แห่ง เป็น 130 แห่งภายในปีนี้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา