Entertainmerce กลยุทธ์ใหม่ของเฮียฮ้อในวันที่ RS Group มีมากกว่าธุรกิจเพลง

ถ้าพูดถึงค่ายเพลงที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพการทำธุรกิจในยุคปัจจุบันได้ดีที่สุด ต้องมีชื่อของ RS หรือปัจจุบันในชื่อ RS Group เพราะความกล้าในการปรับตัวจากการทำธุรกิจ Entertainment สู่ Commerce อย่างเต็มตัว จนหลายคนอาจเริ่มสงสัยว่า ตอนนี้ RS ทำธุรกิจอะไรอยู่บ้าง

Brand Inside ได้มีโอกาสคุยกับ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์ เอส จำกัด (มหาชน) หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ เฮียฮ้อ ถึงกลยุทธ์การปรับตัวในการทำธุรกิจของ RS จากธุรกิจเพลงสู่ความท้าทายใหม่ๆ ของธุรกิจ Commerce

เฮียฮ้อเริ่มต้นด้วยการเล่าถึงธุรกิจของ RS ในอดีตว่าเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจ Entertainment 100% จนกระทั่งเริ่มปรับตัวเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมาด้วยการเปลี่ยนจากทำธุรกิจ Entertainment สู่การทำธุรกิจ Commerce อย่างเต็มตัว เพราะรู้ว่าสภาพแวดล้อมของธุรกิจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

“ทีวีมี 20 กว่าช่อง ยังไงก็ขายโฆษณาไม่เต็ม” เฮียฮ้อมองว่าทีวีต้องหารายได้ใหม่ๆ แม้ผู้บริโภคจะชอบช่องทางออนไลน์ แต่อย่าลืมว่าทีวีสามารถเข้าถึงคนทั่วประเทศได้กว่า 10 ล้านคนต่อวัน ดังนั้น “ต้องเปลี่ยนคนดูให้กลายเป็นลูกค้าให้ได้”

ประกอบกับกระแสการรักสุขภาพเริ่มเติบโต มีมูลค่าตลาดหลายแสนล้านบาท RS จึงสนใจเข้ามาทำตลาด โดยใช้เวลาลองผิดลองถูกอยู่ 2 ปีจึงจับทางได้

Entertainmerce กลยุทธ์ใหม่ของ RS

ปัจจุบันรายได้หลักของ RS ไม่ได้มาจากธุรกิจ Entertainment อีกแล้ว แต่รายได้กว่า 65% มาจากธุรกิจ Commerce และอีก 35% ที่เหลือมาจากธุรกิจ Entertainment ซึ่งแบ่งออกเป็น ธรุกิจเพลง 5-7% ธุรกิจวิทยุ 10% และธุรกิจทีวี (ช่อง 8) อีก 20%

แม้ว่าปัจจุบัน RS จะมีรายได้หลักมาจากการทำธุรกิจ Commerce แต่เฮียฮ้อเล่าว่า ต้องมีการนำเอาจุดแข็งของทั้งธุรกิจ Commerce และ Entertainment มารวมกัน กลายเป็น Entertainmerce คือ ต้องเอาความบันเทิง ศิลปิน ครีเอทีพ มาทำงานร่วมกัน เป็นยุทธศาสตร์ใหม่ของ RS

RS มีความชำนาญและเชี่ยวชาญในธุรกิจ Entertainment ดังนั้นไม่มีทางทิ้งธุรกิจนี้ไปแน่นอน แต่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ตอนไหนต้องเริ่ม ต้องไหนต้องหยุดคือหัวใจสำคัญ

ธุรกิจ Commerce ง่ายกว่า Entertainment

การทำธุรกิจไม่มีคำว่าง่าย แต่ทั้งธุรกิจ Entertainment และ Commerce มีความยากแตกต่างกัน โดยสำหรับเฮียฮ้อแล้ว “การทำธุรกิจ Commerce ง่ายกว่า สำหรับคนที่อยู่ในวงการเพลงมาตลอด เพราะมีความเป็นเหตุเป็นผล สินค้าทำแล้วขายไม่ได้ รู้เหตุผลว่าทำไม มีเหตุผลชัดเจน เช่น ราคาแพงไป หรือรสชาติไม่ดี กลิ่นไม่ดี”

ส่วนธุรกิจ Entertainment ความยากคือ ไม่มีสูตรสำเร็จ คนชอบ แต่ทำอีกทีคนอาจจะไม่ชอบ หาเหตุผลไม่ได้ บางเพลงมั่นใจมาก แต่ไม่ดัง เพราะเพลงมีเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึกของคนมากกว่า

สร้างความสะดวก เน้นความสบายใจ คือวิธีเปลี่ยนคนดูทีวีเป็นลูกค้า

ที่ผ่านมาการทำธุรกิจเพลงของ RS เฮียฮ้อเล่าว่า RS ไม่เคยเจอกับลูกค้าโดยตรง เพราะการทำเพลงใช้การเก็บเงินผ่านคนกลางในตลาดอย่าง ยี่ปั๊ว และซาปั๊ว ไม่เคยเข้าถึงลูกค้าด้วยตัวเอง แต่การทำช่องทีวี ทำให้ RS สามารถเจอลูกค้าได้โดยตรง คำถามที่เกิดขึ้นคือจะเปลี่ยนคนดูเป็นลูกค้าได้อย่างไร โดยเฉพาะทีวีที่สามารถเข้าถึงคนดูได้วันละกว่า 10 ล้านคน

เฮียฮ้อเริ่มกลยุทธ์การเปลี่ยนคนดูให้กลายเป็นลูกค้า โดยศึกษาว่ากลุ่มคนดูทีวีคือใคร อายุเท่าไหร่ ชอบดูรายการประเภทใด โดยตั้งต้นว่าลูกค้าจะต้องสะดวก สร้างความสบายใจมากที่สุด โทรสั่งของแล้วส่งให้ถึงบ้าน เก็บเงินปลายทางได้ ไม่มีเรื่องต้องกังวล ไม่ชอบสินค้าก็เปลี่ยนได้ แถมยังส่งฟรี ไม่ต้องเสียค่าส่งเพิ่ม

กลยุทธ์เปลี่ยนผู้ชม ผู้ฟังเป็นลูกค้า ภาพจากแอปพลิเคชัน Coolism

ส่วนในขั้นถัดไปเฮียฮ้อไม่ได้หยุดอยู่ที่การเปลี่ยนคนดูทีวีให้กลายเป็นลูกค้าเท่านั้น เพราะเฮียฮ้อมองไกลถึงการเปลี่ยนคนฟังวิทยุให้กลายเป็นลูกค้าเช่นกัน โดยจะเปลี่ยนคนฟังวิทยุคลื่น Cool 93 Fahrenheit ของ RS ให้กลายเป็นลูกค้า ผ่านแอปพลิเคชัน Cool everything ให้สามารถฟังเพลงและซื้อของจากในแอปพลิเคชันเดียวกันได้

ไม่มีคู่แข่ง มีแต่เพื่อนร่วมธุรกิจ

แม้ว่า RS จะมีช่องทีวีเป็นของตัวเอง นั่นก็คือช่อง 8 แต่เฮียฮ้อก็ไม่ได้มองว่าทีวีช่องอื่นๆ คือคู่แข่งในการทำธุรกิจแต่อย่างใด เพราะเฮียฮ้อกลับมองว่าทีวีช่องอื่นๆ เป็นเพื่อนร่วมธุรกิจ ช่องทีวีอื่นที่อยู่ไม่ได้ ไม่ได้เกี่ยวกับช่องอื่นว่าเป็นผู้ที่ทำให้อยู่ไม่ได้ แต่เป็นเพราะไม่สามารถปรับตัวเข้ากับคนดู และสภาพแวดล้อมได้

RS จึงต้องชวนทีวีช่องอื่นๆ มาทำงานร่วมกันเพราะ RS มี Supply Chain ที่ครบ ทีวีช่องอื่นๆ สามารถร่วมเป็น Partner ในธุรกิจ Commerce กับ RS ได้ โดยไม่ต้องลงทุนเอง ซึ่งในปัจจุบันก็มีช่องทีวี ทั้งเวิร์คพอยท์ อมรินทร์ทีวี และไทยรัฐทีวี เป็น Partner เพื่อเปลี่ยนคนดูทีวีให้กลายเป็นลูกค้า

ธุรกิจเพลงไม่มีวันตาย ยังสร้างรายได้ปีละ 300 ล้าน

แม้ RS จะบอกว่าปรับตัวหันไปทำธุรกิจ Commerce เต็มตัวเป็นรายได้หลักกว่า 65% ในแต่ละปี แต่ความจริงแล้วธุรกิจเพลง ก็ยังมีความสำคัญอยู่เช่นเดิม และสามารถสร้างรายได้ให้ RS ปีละกว่า 300 ล้านบาท โดย RS พยายามหา Business Model ในการทำธุรกิจใหม่ๆ เสมอ

จากที่แต่เดิม RS เคยทำธุรกิจเพลงในรูปแบบ Music Marketing คือ ทำเพลงให้ศิลปิน และศิลปินเป็นผู้ออกเงินเอง แต่ตอนนี้ทั้งธุรกิจเพลง ทีวี และวิทยุ ต้องมีความเกี่ยวข้องกับ Commerce ภายใต้ยุทธศาสตร์ Entertainmerce และในเร็วๆ นี้ เฮียฮ้อมีแผนที่จะวางแผนทำเพลงอีกครั้ง โดยใช้ค่ายเพลงที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี คือ อาร์สยาม กามิกาเซ่ และโรสซาวน์ มาปัดฝุ่นใหม่ โดยจะเปิดตัวในช่วงเดือนกันยายนนี้

เพราะเฮียฮ้อ มีแนวคิดว่าธุรกิจเพลงไม่มีวันตาย เริ่มจากแผ่นเสียง เทป แผ่นซีดี สู่ยุคการดาวน์โหลด และสตรีมมิง แผ่นซีดีตาย แต่คนยังคงฟังเพลงอยู่เรื่อยๆ ดังนั้นต้องหา Business Model ใหม่ๆ เพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้

ความท้าทายของเฮียฮ้อ และ RS

เฮียฮ้อเล่าเรื่องความฝันของตัวเองว่า หลายสิบปีที่แล้วชอบมองตึกสูงๆ เวลาขับรถ และอยากจะสร้างตึกใหญ่ๆ เป็นของตัวเอง ซึ่งวันนี้เฮียฮ้อสามารถทำความฝันนี้ได้แล้ว ส่วนความฝันต่อไปในอนาคตของเฮียฮ้อคือ การทำให้ RS มีรายได้ในระดับ 1 หมื่นล้านบาทให้ได้ในอนาคต

สรุป

RS เป็นตัวอย่างธุรกิจที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ และความต้องการของคนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการรู้จักความต้องการของคน เพื่อเปลี่ยนทั้งคนดูทีวี และคนฟังวิทยุ ซึ่งถือเป็นสื่อที่มีอยู่ในมือ ให้กลายเป็นลูกค้า โดยใช้จุดแข็งของ RS ที่มีอยู่ทั้งหมด โดยเฉพาะศิลปิน สื่อ และทีมงาน เพื่อทำธุรกิจที่เรียกว่า Entertainmerce ให้ประสบความสำเร็จในยุคนี้ไปได้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา