คุยกับเจ้าของร้านอาหาร ผลกระทบหลังเว็บดีล Ensogo ปิดกิจการในไทย

ข่าวการปิดกิจการของ Ensogo ในประเทศไทยแบบฉับพลัน สร้างผลกระทบในวงกว้าง ทั้งลูกค้าที่ซื้อดีลไปแล้ว และร้านค้า-ร้านอาหารที่มีข้อตกลงดีลกับ Ensogo

เว็บไซต์ Brand Inside คุยกับเจ้าของร้านอาหาร-ร้านกาแฟ ที่ได้รับผลกระทบจากการขายดีลผ่าน Ensogo รวมถึงเว็บดีลระดับอินเตอร์ Groupon ที่ปิดกิจการไปก่อนหน้านี้ ว่าเกิดอะไรขึ้น

โปรโมชั่นร้าน Taste of Thai บนเว็บไซต์ Ensogo Thailand
โปรโมชั่นร้าน Taste of Thai บนเว็บไซต์ Ensogo Thailand
โปรโมชั่น Ensogo บนเว็บไซต์ร้าน Taste of Thai
โปรโมชั่น Ensogo บนเว็บไซต์ร้าน Taste of Thai

คุณศราวุธ เปรมจิต เจ้าของร้านอาหาร Taste of Thai ย่านโชคชัย 4 และร้านกาแฟแบรนด์ Casadio หลายสาขา ได้ทำตลาดผ่านการขายดีลใน Groupon และ Ensogo ซึ่งก็ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปิดตัวของเว็บไซต์ดีลทั้งสองแห่ง

คุณศราวุธ เล่าว่ากระบวนการทำงานของเว็บดีลลักษณะนี้ ร้านอาหารจะแทบไม่ได้อะไรเลย เพราะต้องขายดีลในราคาถูกมากๆ เพื่อเรียกลูกค้า (เช่น ชุดอาหารราคา 400 บาท ขายในราคา 160 บาทเท่านั้น) แค่นี้ก็แทบไม่ได้กำไรอยู่แล้ว และต้องโดนเว็บดีลหักค่าธรรมเนียมอีก 25% ของราคาดีลด้วย

หลังจากนั้นแล้ว ร้านอาหารจะได้เงินอีก 75% ที่เหลือ แต่แบ่งเป็นส่วน โดยร้านอาหารจะได้เงินค่าดีล 70% เป็นประจำทุกเดือนตามจำนวนดีลที่ลูกค้าซื้อ และได้อีก 30% ที่เหลือเมื่อจบดีลทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่มีระยะเวลาประมาณ 3 เดือน

ดังนั้นในมุมของร้านค้า-ร้านอาหาร การขายดีลผ่าน Ensogo แทบไม่ได้กำไรอะไรเลย แต่ได้ผลเรื่องการตลาดเป็นหลัก จากการขายดีลผ่าน Ensogo มาพอสมควร พบว่าเมืองไทยคนใช้ Ensogo กันเยอะ แต่ลูกค้ากลุ่มนี้จะใช้จ่ายเท่ากับคูปองที่ซื้อเท่านั้น โอกาสจ่ายเพิ่มซื้ออย่างอื่นมียากมาก เช่น ดีลชุดอาหาร 199 บาทไม่รวมเครื่องดื่ม ลูกค้าก็จะมากินโดยไม่สั่งเครื่องดื่มเลยด้วยซ้ำ

ร้าน Casadio Coffee หนึ่งในร้านที่ขายดีลกับ Ensogo

คุณศราวุธ เล่าข้อมูลว่ากรณีของ Groupon ถือเป็นดีลครั้งแรกของบริษัทด้วย เพิ่งทำข้อตกลงดีลกันไม่นานนัก ยังไม่ได้เงินสักก้อนเลยด้วยซ้ำ ก็แจ๊คพ็อตแตก Groupon ปิดตัวในไทยโดยไม่บอกกล่าวใดๆ แต่ทางร้านรู้ตัวช้า เลยขายดีลต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งผลกระทบของทางร้านคือมีเงินค้างอยู่กับ Groupon เป็นหลักหมื่นต้นๆ

พอมาถึงเคสของ Ensogo ก็เป็นแบบเดียวกัน คือไม่ได้บอกกล่าวใดๆ เลย เผอิญมีบทเรียนจาก Groupon มาก่อนแล้ว เมื่อทราบข่าวลือว่า Ensogo จะปิดกิจการในไทย จึงสั่งเลิกรับคูปองทันทีเมื่อทราบข่าวเบื้องต้น ผลกระทบเลยไม่มากนัก มีเงินค้างอยู่กับ Ensogo เพียงหลักพันเท่านั้น

กรณีของ Ensogo คุณศราวุธบอกว่าได้เงินงวดล่าสุด (ก้อน 70%) เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา และการจ่ายเงินเป็นไปตามปกติทุกงวด แต่เงินก้อน 30% ที่ยังค้างอยู่ ตามกำหนดของ Ensogo จะจ่ายให้วันที่ 15 สิงหาคม 2559 ซึ่งก็คงไม่ได้เงินก้อนนี้แล้ว กรณีของทางร้านถือว่าเป็นเงินไม่มากนัก ฟ้องเอาคงไม่คุ้ม แต่ก็ทราบมาว่ามีร้านอาหารใหญ่ๆ บางร้าน คนซื้อเป็นพันๆ ดีล ผลกระทบน่าจะเป็นหลักหลายแสนบาท

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากแหล่งข่าวใกล้ชิดกับ Ensogo ประเทศไทยด้วยว่ากิจการของ Ensogo ในประเทศไทยและในฮ่องกง ไม่ได้ขาดทุน แต่ในประเทศอื่นขาดทุน ซึ่งมีนักลงทุนสนใจมาตัดส่วนซื้อเฉพาะ Ensogo ในไทยไปทำต่อ อย่างไรก็ตาม ซีอีโอของ Ensogo มีเงื่อนไขว่าถ้าจะซื้อต้องซื้อทั้งหมดทุกประเทศ สุดท้ายการซื้อกิจการเลยล่มไป และกลายเป็น Ensogo ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปิดตัวลงทั้งหมด

รู้จักบริษัท Ensogo

Ensogo เป็นเว็บดีลที่ก่อตั้งโดย ทอม และพอล ศรีวรกุล (ปัจจุบันเปิดธุรกิจใหม่ aCommerce ด้านลอจิสติกส์สำหรับเว็บอีคอมเมิร์ซ) หลังจากนั้นขายกิจการให้ LivingSocial คู่แข่งของ Groupon และเปลี่ยนมืออีกครั้งมาขายให้บริษัท iBuy Group ของสิงคโปร์ (จดทะเบียนขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย) ภายหลัง iBuy เปลี่ยนชื่อบริษัทตัวเองเป็น Ensogo ตามชื่อแบรนด์ที่ซื้อมา โดยซีอีโอของ Ensogo คนล่าสุดที่เพิ่งลาออกคือ Kris Marszalek เป็นซีอีโอของ iBuy มาก่อนนั่นเอง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ บรรณาธิการบริหาร BrandInside.asia