หมดยุคยูนิคอร์น ธุรกิจสตาร์ทอัพยุคนี้ต้องเป็นอูฐ อดทน ปรับตัวกับทุกสภาวะเศรษฐกิจได้

ธุรกิจสตาร์ทอัพเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการทำธุรกิจที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน โดยมีความฝันสูงสุด คือการสร้างสตาร์ทอัพให้กลายเป็นยูนิคอร์น

ยูนิคอร์นเป็นสัตว์ในตำนานที่นำมาเปรียบเทียบกับสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จสูง ภาพจาก Unsplash โดย James Lee

ยูนิคอร์นสตาร์ทอัพ เป็นชื่อเรียกของธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.18 หมื่นล้านบาทขึ้นไป ด้วยมูลค่ากิจการที่สูงหลายหมื่นล้านแสดงถึงความสำเร็จที่เจ้าของกิจการภูมิใจ เพราะส่วนใหญ่การทำธุรกิจสตาร์ทอัพต้องเริ่มจากสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

แต่อย่างไรก็ตามในยุคที่สถานการณ์โควิด-19 สร้างความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ยูนิคอร์นสตาร์ทอัพหลายแห่งเริ่มประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก จนต้องยอมปลดพนักงานออกบางส่วนเพื่อรักษาความอยู่รอด

อูฐ เป็นสัตว์ที่สามารถอดทน ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมอันเลวร้ายได้เป็นอย่างดี ภาพจาก Unsplash โดย Wolfgang Hasselmann

ยุคนี้สตาร์ทอัพต้องเป็นอูฐ ไม่ใช่ยูนิคอร์น

ถ้าจะเปรียบเทียบง่ายๆ ยูนิคอร์นสตาร์ทอัพก็เป็นเหมือนบริษัทขนาดใหญ่ มีพนักงานจำนวนมาก โครงสร้างซับซ้อน แน่นอนว่าการบริหารจัดการบางอย่างอาจเป็นไปด้วยความเชื่องช้า ต้องใช้เวลานานในการปรับตัว ซึ่งตรงข้ามกับของสตาร์ทอัพที่มีลักษณะเป็นอูฐ ที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมทุกๆ รูปแบบได้ดีกว่า ไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจเป็นอย่างไรก็สามารถอยู่รอดได้ โดยสตาร์ทอัพที่มีลักษณะเป็นอูฐ มีแนวคิดการดำเนินกิจการดังนี้

ระดมทุนอย่างระมัดระวัง

ธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีลักษณะเหมือนอูฐ จะให้ความสนใจกับการควบคุมต้นทุน และการกำหนดมูลค่าของสินค้าเสมอ ทำให้การเติบโตของสตาร์ทอัพเป็นไปด้วยความมั่นคง อยู่บนพื้นฐานที่ดี รวมถึงสามารถเลือกที่จะระดมทุนในช่วงเวลา และจำนวนเงินที่เหมาะสม ภายใต้เงื่อนไขของบริษัทที่กำหนดไว้ตั้งแต่แรก หรือบางบริษัทสตาร์ทอัพอาจเลือกที่จะไม่ระดมทุนจากนักลงทุนรายใดเลยก็ได้เช่นกัน เพราะต้องการอาศัยพื้นฐานของตัวเองเป็นสำคัญ

ตอบสนองต่อสถานการณ์วิกฤตอย่างรวดเร็ว

ธุรกิจสตาร์ทอัพที่ดีต้องตอบสนองต่อสถานการณ์วิกฤตได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการสื่อสารกับนักลงทุน รวมถึงมีมาตรการเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่ส่งผลเสียต่อธุรกิจอย่างรวดเร็ว

ตัวอย่างของธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีลักษณะเป็นอูฐ คือ Zoona บริษัทสตาร์ทอัพด้านการทำธุรกรรมทางโทรศัพท์มือถือ ในประเทศแซมเบีย เคยประสบกับภาวะวิกฤตเมื่อปี 2016 โดยในขณะนั้นค่าเงิน Kwach ของแซมเบียลดลงถึง 70% ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจอย่างรุนแรง

ในวิกฤตครั้งนั้น Zoona เลือกที่จะสื่อสารกับนักลงทุน และพันธมิตรทางธุรกิจในทันทีถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้น รวมถึงมีการเสนอแผนการทางธุรกิจเพื่อประคองตัวในสถานการณ์ ทั้งการปรับขนาดธุรกิจให้มีความเหมาะสม ชะลอการลงทุนเพิ่ม รวมถึงลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

กระจายความเสี่ยง อย่าทุ่มทำอย่างเดียว

การทำธุรกิจสตาร์ทอัพก็เหมือนกับการทำธุรกิจประเภทอื่นๆ คือ ต้องรู้จักกระจายความเสี่ยงในการทำธุรกิจ ไม่ทุ่มลงทุนเพียงอย่างเดียว

VisionSpring สตาร์ทอัพที่แจกจ่ายแว่นตาให้คนยากจนทั่วโลก เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีของสตาร์ทอัพที่รู้จักกระจายความเสี่ยงในการทำธุรกิจ คือ VisionSpring มีช่องทางในการแจกจ่ายแว่นตาที่หลากหลาย ทั้งช่องทางการขายส่ง การขายแว่นตาผ่านตัวกลาง และการขายแว่นตาโดยตรงสู่มือของลูกค้า ทำให้ VisionSpring มีตลาดเป็นของตัวเองที่หลากหลายมาก หากตลาดใดตลาดหนึ่งมีปัญหา ก็ยังมีตลาดอื่นที่สร้างยอดขายได้อยู่

ที่มา – Entrepreneur

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา