ปิดตำนาน TT&T บทเรียนให้สัมปทานครั้งใหญ่ของรัฐ และมหากาพย์อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

ในที่สุด TT&T ก็ถูกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่งให้ยุติบริการทุกอย่างของบริษัทดังกล่าว หลังจากถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เพราะฟื้นฟูกิจการจากล้มละลายไม่ได้ซักที

ศึกษาต้นเรื่องครั้งองค์การโทรศัพท์อนุมัติสัมปทาน

ต้องเท้าความกันก่อนว่า TT&T หรือชื่อเต็มๆ บมจ.ไทย เทเลโฟน แอนด์ เทเลคอมมิวนิเคชั่น นั้นเกิดขึ้นเมื่อปี 2535 เพื่อรับสัมปทานโครงข่ายโทรศัพท์บ้านในต่างจังหวัดจากบมจ.ทีโอที หรือองค์การโทรศัพท์ในขณะนั้น จำนวน 1.5 ล้านเลขหมาย หลังจากหน่วยงานรัฐรายนี้ให้สัมปทานโครงข่ายโทรศัพท์บ้านในกรุงเทพ และปริมณฑลกับบมจ.เทเลคอมเอเชีย หรือทรู คอร์ปอเรชั่น ในปัจจุบัน แต่เมื่อ TT&T ให้บริการโทรศัพท์บ้านมาระยะหนึ่ง ก็เริ่มขยายธุรกิจสู่อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แต่ไม่ได้ทำภายใต้บริษัทนี้ กลับตั้งบริษัทลูก TTTBB ขึ้นมาให้บริการแทน

ซึ่งการทำแบบนี้เป็นจุด Start ของการล้มละลายโดยตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจของ TT&T ก็ว่าได้ เพราะด้วย TTTBB เป็นบริษัทลูก ทำให้ TT&T ตัดสินใจทยอยโอนลูกค้า และทรัพย์สินต่างๆ ไปให้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ เพื่อเลี่ยงการเสียค่าสัมปทานให้กับองค์การโทรศัพท์ และช่วงนั้นก็มีการฟ้องร้องกันหลายครั้ง โดยกรณีที่ถูกจับตาคือการที่องค์การโทรศัพท์ฟ้องว่า TTTBB ลักลอบใช้โครงข่ายสายโทรศัพท์เพื่อไปให้บริการอินเทอร์เน็ต ทั้งๆ ที่ผู้ได้รับใบอนุญาตใช้งานมีรายเดียวคือ TT&T แต่จนแล้วจนรอดศาลก็ยกฟ้อง เพราะมองว่าได้สัมปทานไปแล้วจะนำไปใช้อย่างอื่นก็ได้

ภาพจาก pixabay.com

ด้วยมูลค่าสูงจึงเกิดการซื้อขายกันอย่างผิดปกติ

อย่างไรก็ตามเมื่อตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงราว 10 ปีก่อนถือเป็นตลาดใหม่ และมีโอกาสทางธุรกิจที่สูงมาก เพราะช่วงนั้นยุคดอทคอมก็กำลังเติบโต และมีบริการใหม่ๆ บนอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก แต่ถึงจะใหญ่แค่ไหน การที่ TT&T กระโดดลงมาในตลาดนี้ก็ยังไม่ทำให้บริษัทมีผลกำไรมากกว่าเดิมอยู่ดี เพราะช่วงนั้นเป็นหนี้จำนวนมาก ถึงขนาดทุนจดทะเบียนบริษัทกว่า 70,000 ล้านบาทต้องติดลบ และเข้าสู่สถานะล้มละลายสมบูรณ์แบบ จนต้องส่งแผนฟื้นฟูกิจการให้กับศาล และกลุ่มเจ้าหนี้ก็ประชุมกันก่อนส่งบริษัท พี แพลนเนอร์ จำกัด มาฟื้นฟูกิจการ

แต่จนแล้วจนรอดสถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้น เพราะแทบไม่มีความเคลื่อนไหวในการฟื้นฟูกิจการแต่อย่างใด ซึ่งระหว่างนั้นทาง TT&T ก็ได้เปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 3BB ของกลุ่มจัสมิน เข้ามาเช่าใช้ข่ายสายเพื่อทำตลาดในต่างจังหวัดด้วย และก็เกิดข้อพิพาทกันขึ้น เพราะอยู่ๆ สัญญาณอินเทอร์เน็ตของ 3BB ก็หายไป จนทางผู้เช่าฟ้องร้องค่าเสียหายกับ TT&T กว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งสุดท้ายบริษัทในเครือกลุ่มจัสมินก็เป็นเจ้าหนี้ของ TT&T อีกราย และจัดตั้งบริษัทย่อยเข้ามาคุม TT&T ในช่วงทำแผนฟื้นฟูกิจการด้วย

ผู้บริโภค – พนักงาน กับค่าเสียหายที่เรียกร้องคืนไม่ได้

ขณะเดียวกันระหว่างที่เกิดการฟ้องร้องกันก็มีหลายครั้งที่ผู้บริโภคต้องรับกรรม เช่นการล็อคตู้ข่ายสายโทรศัพท์โดย TT&T จนทำให้ 3BB ไม่สามารถให้บริการในบางจังหวัดได้เลยทีเดียว นอกจากนี้พนักงานที่ตั้งใจทำงานให้กับบริษัท เมื่อเจอกับแผนฟื้นฟูแบบไม่ไปไหนก็เล่นเอาท้อใจ และไม่รู้ชะตาชีวิตตนเองว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งล่าสุดศาลล้มละลายกลางก็มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และให้ยุติบริการทุกอย่างของ TT&T ลงตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 2560 ทำให้ผู้ใช้งานโทรศัพท์บ้านกว่า 4 แสนเลขหมายถูกลอยแพ และพนักงานก็ไม่รู้จะทำอะไรต่อไปทันที

แต่ถึงอย่างไร บมจ.ทีโอที ที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานเดิม ได้ยื่นมือเข้ามารับผิดชอบผู้ใช้บริการทั้ง 4 แสนเลขหมาย โดยสามารถใช้บริการได้ต่อไป พร้อมกับชำระค่าบริการได้เหมือนเดิม แต่เรียกว่าครั้งนี้ก็เป็นอีกรอบที่การให้สัมปทานของภาครัฐผิดพลาด เพราะไม่ได้ทำรายได้ให้กับประเทศ แถมสุดท้ายบริษัทยังล้มละลายอีกด้วย และที่สำคัญจากนี้ต้องคอยจับตามองบริการโทรศัพท์บ้านต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร เพราะในสิ้นเดือนต.ค. นี้ สัญญาสัมปทานระหว่างบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กว่า 2 ล้านเลขหมายก็สิ้นสุดลงแล้วด้วย ดังนั้นใครใช้โทรศัพท์บ้านอยู่ต้องก็ติดตามกันให้ดี

อ้างอิง

TTNT ปิดฉาก 4 ตำนาน แฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

3BB ฟ้อง TT&T ศึกนี้ไร้ผู้ชนะ(Cyber Weekend)

ปิดฉาก TT&T ! หยุดบริการเที่ยงคืน 28 ก.พ.60 กระทบลูกค้า 4 แสนราย

 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา