วิมานของ Tesla อาจล่มสลาย หาก Elon Musk ยังไม่กลับมาจริงจังกับธุรกิจหลักเสียที

แม้ Tesla จะเป็นแบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์ที่จุดประกายตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจนผู้ผลิตค่ายอื่นต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีนี้เกือบทุกราย แต่จากจุดเริ่มต้นนี้เองมันก็อาจเป็นจุดจบที่ไม่สวย หากผู้ก่อตั้งอย่าง Elon Musk ยังมัวแต่ทำเรื่องอื่น

Tesla
Tesla // ภาพจาก Shutterstock

Tesla กับจุดเริ่มต้นที่สวยหรู

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า Tesla คือแบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์ที่ทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าคึกคักเป็นพิเศษ เพราะนับตั้งแต่ปี 2551 ที่เปิดตัว Tesla Roadster รถสปอร์ตพลังงานไฟฟ้าล้วน ก็ทำให้สปอตไลท์ทุกด้วยฉายลงมาที่ Tesla ผ่านการสร้างความแตกต่าง และสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมมาก่อนในอุตสาหกรรมรถยนต์

และหลังจากนั้น Tesla ก็เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น Sedan อย่าง Model S หรือ SUV ตามสมัยนิยม Model X และรุ่นราคาประหยัด Model 3 แถมเตรียมรุกตลาดเชิงพาณิชย์ด้วยรถหัวลากไฟฟ้า Semi-Truck พร้อมผลิตอุปกรณ์เสริมมากมาย เช่นสถานีชาร์จ และเครื่องชาร์จตามบ้านต่างๆ

tesla
Tesla รุ่นต่างๆ // ภาพ Shutterstock

แต่ความสำเร็จนั้นอาจมีจุดจบไม่สวย เพราะปัจจุบัน Tesla อยู่ในช่วงลำบาก ทั้งการที่ Elon Musk ออกมาบอกว่าอาจมีเงินเหลือใช้เพียงแค่ 10 เดือนหากยังลงทุนในรูปแบบเดิม รวมถึงปัญหา Trade War ที่ทำให้การจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในจีนยากขึ้น ผ่านราคาขายที่แพงกว่าเดิมเป็นต้น

จีนกับความสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้าทุกแบรนด์

ปัจจุบันตลาดรถยนต์จีนนั้นใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก และรถยนต์ไฟฟ้าก็เช่นเดียวกัน จึงไม่แปลกที่เมื่อเติบโตขนาดนี้ Tesla จึงไปลงทุนถึง 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.25 แสนล้านบาท) เพื่อสร้าง Gigafactory หรือโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในจีน แต่ด้วยปัญหาเรื่อง Trade War มันก็อาจใช้งานได้ไม่เต็มที่หลังจากนี้

Tesla
โชวรูม Tesla

ขณะเดียวกันรัฐบาลจีนก็สนับสนุนแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าท้องถิ่นมากกว่า ทำให้ Tesla นั้นแข่งขันได้ยากกว่าเดิม ยิ่งแบรนด์รถยนต์ดั้งเดิม เช่น BMW ก็ไปจับมือกับค่ายผู้ผลิตรถยนต์ในจีนเพื่อได้รับสิทธิประโยชน์นั้นด้วย มันก็ยิ่งเป็นการยากของ Tesla ในการแข่งขันในตลาดนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตามเมื่อกลับมามองที่ตลาดสหรัฐอเมริกา หรือตลาดหลักของ Tesla แบรนด์รถยนต์ที่เกิดขึ้นใหม่ และชูจุดเด่นเรื่องเทคโนโลยีที่ไม่เคยมีมาก่อน แถมตั้งเป้าขึ้นมาทดแทนตลาดเดิมต่างก็ไปไม่รอดทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น Saturn (ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม GM), Hudson, DeLorean (รถใน Back to the Future) และ Packard

Tesla
Supercharge ของ Tesla – ภาพจาก Pixabay

ตลาดสหรัฐก็ใช่ว่าจะง่ายสำหรับ Tesla

ถึง Tesla จะเป็นแบรนด์รถยนต์ในสหรัฐฯ แต่ปัจจัยเรื่องการแข่งขัน, การกำกับกิจการที่เข้มงวด รวมถึงค่ายรถยนต์พี่ใหญ่ที่พร้อมจะรับน้องตลอเวลาก็ทำให้ Tesla อาจมีโอกาสเป็นเหมือนกับแบรนด์รถยนต์ใหม่ๆ ในย่อหน้าก่อนที่เกิดมาไม่นานก็ต้องหายไป

ที่ในในอุตสาหกรรมรถยนต์นั้นแบรนด์ผู้ผลิตรายใหญ่ทำกำไรกับการขายรถแค่ 6%/คัน เท่านั้น ต่างกับอุตสาหกรรมอื่น เช่นสินค้าอุปโภคบริโภค, สื่อบันเทิง หรือสินค้าเทคโนโลยี เพราะสินค้าเหล่านี้ไม่มีการกับกำกับที่ยุ่งยาก, ใช้แรงงานน้อย ที่สำคัญขายกันแบบกำไรครึ่งต่อครึ่ง ดังนั้นการเริ่มต้นในธุรกิจยานยนต์ไม่ใช่เรื่องง่ายเอาเสียเลย

Tesla
รถบรรทุกหัวลากจาก Tesla ที่ขับเคลือนด้วยไฟฟ้าทั้งคัน

เมื่อสินค้ามีอัตรากำไรน้อยขนาดนี้มันก็ต้องขายให้ได้มากๆ สังเกตว่าแบรนด์รถยนต์ในปัจจุบันต้องขายกันเป็นหลักหลายล้านคันต่อปี หรืออย่างน้อยๆ ก็ต้องเกือบล้านคันต่อปี ซึ่ง Tesla ยังห่างจุดนั้น เพราะเมื่อปี 2561 ก็ส่งมอบไปได้ 2 แสนกว่าคันเท่านั้น แถมรุ่นประหยัดอย่าง Model 3 ยังมีปัญหาเรื่องการผลิตอีกด้วย

การกลับมาจริงจัง และ Scale แบบสุดๆ คือเรื่องจำเป็น

ทั้งนี้ความที่ Elon Musk เป็น Serial Entrepreneur หรือนักธุรกิจที่พร้อมจะสร้างธุรกิจใหม่ๆ ตลอดเวลา ทำให้ช่วงที่ Tesla กำลังมีปัญหา Elon Musk ก็มีโครงการใหม่ๆ เช่นการทำหลังคาที่สร้างพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์, เครื่องยิงไฟ รวมถึงธุรกิจเที่ยวอวกาศ Space X จึงไม่แปลกที่ความจริงจังใน Tesla ก็ต้องลดลงตาม

Tesla
Tesla Model 3 // ภาพจาก Shutterstock

แต่ถึง Elon Musk จะกลับมาจริงจังกับ Tesla เขาก็ต้องพยายามทำให้มัน Scale Up ในแบบสุดๆ ไม่ใช่เติบโตในอัตราเดิม ไม่ว่าจะเป็นการขยายกำลังการผลิต การสร้างความน่าเชื่อถือใกล้เคียงกับแบรนด์รถยนต์ชั้นนำอื่นๆ เพราะหากขยายได้ช้ากว่านั้น โอกาสที่บริษัทจะล่มสลายไปเหมือนแบรนด์รถยนต์เกิดใหม่ก่อนหน้านี้ก็มีสูง

ในทางกลับกันถึง Tesla จะ Scale Up จนใกล้เคียงกับแบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำแล้ว แต่ปัจจุบันแบรนด์เหล่านี้ก็พัฒนารถยนต์ไฟฟ้า และเทคโนโลยีไร้คนขับที่ก่อนหน้านี้มันคือจุดแข็งของ Tesla ได้กันเกือบทั้งหมดแล้ว ดังนั้นมันก็ยิ่งท้าทายว่า Elon Musk จะต้องดิ้นรนอย่างไรต่อไป

สรุป

เรียกว่าเป็นงานยากจริงๆ ของ Tesla เพราะจากจุดเด่นที่ตัวเองมี ทุกค่ายรถยนต์ชั้นนำก็พยายามทำให้ได้กันหมดแล้ว ดังนั้นในอนาคตของ Tesla จะเป็นอย่างไรก็ยากที่จะรู้ อาจเป็นอาจถูกควบรวมกิจการ, ล่มสลาย หรือกลายเป็นมหาอำนาจใหม่ในวงการนี้ก็ได้ และถึง Elon Musk จะเคยทำ Paypal จนโด่งดังมาแล้ว แต่นั่นมันก็คนละเรื่องกับการทำธุรกิจผู้ผลิตรถยนต์ด้วย

อ้างอิง // Digital Trends

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา