ปิดตำนาน Segway PT ยานพาหนะสองล้อที่พลิกวงการเทคโนโลยี

เมื่อ 20 ปีก่อน เทคโนโลยีที่หลายคนตื่นตะลึงต้องมี Segway PT อย่างแน่นอน เพราะใครจะไปคิดว่าแค่ไปยืนอยู่ระหว่างล้อสองล้อจะทำให้เราไปไหนก็ได้ แต่ล่าสุด Segway PT เลิกผลิตแล้ว ลองดูกันว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น

segway
ภาพ shutterstock

เริ่มจากความบังเอิญทางวิศวกรรม

การจะขึ้นไปยืนระหว่างล้อทั้งสอง และบังคับให้ไปไหนก็ได้ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่ายๆ เพราะ Segway PT อาศัย Self-Balancing Gyroscopes ทำให้ความสมดุลของทั้งสองล้อเกิดขึ้น และเวลาผู้ใช้ขึ้นไปยืนบนแท่นระหว่างล้อทั้งสอง ก็สามารถควบคุม Segway PT ผ่านการโน้มตัวไปในทิศทางต่างๆ

แต่ Segway PT ไม่ได้ถูกตั้งใจออกแบบ เพราะมันมาจากความบังเอิญทางวิศวกรรมจากทีมงานของ Dean Kamen ผู้ก่อตั้ง Segway ที่ตอนนั้นอยู่ระหว่างพัฒนา iBot รถเข็นผู้สูงอายุ หรือผู้พิการสุดล้ำที่สามารถยกตัวเองให้สูงขึ้น และสามารถวิ่งขึ้นบันไดได้ ซึ่งการทำอย่างนั้นต้องอาศัย Self-Balancing Gyroscopes

อย่างไรก็ตามทีมวิศวกรรมของเขามองว่า Self-Balancing Gyroscopes น่าจะนำมาประยุกต์เพื่อสร้างอะไรได้มากกว่านี้ และนั่น Segway PT ก็คือคำตอบ โดยอุปกรณ์สุดล้ำตัวนี้เปิดตัวเมื่อปี 2544 ในราคา 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.25 แสนบาทตามอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยในขณะนั้น) วิ่งได้เร็วสุด 16 กม./ชม.

ล้ำยิ่งกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล

ด้วยความล้ำนี้เอง ทำให้ Steve Jobs ผู้ร่วมก่อตั้ง Apple ออกมาบอกว่า เทคโนโลยีนี้จะยิ่งใหญ่กว่าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือบางคนก็บอกว่ามันเจ๋งสุดๆ นับตั้งแต่มีเครื่อง Apple Macintosh เกิดขึ้น ซึ่งมันก็เป็นอย่างนั้นจริงในช่วงแรก เพราะ Dean Kamen กลายเป็นเศรษฐีชั่วพริบตาหลังจากเขาจำหน่าย Segway PT

segway
ภาพ pexels

แต่นั่นมันเรื่องเมื่อ 20 ปีก่อน เพราะ Segway PT ได้หยุดผลิตมาตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. ในโรงงานที่สหรัฐอเมริกา โดยพนักงานทั้งหมด 21 คนถูกเลิกจ้างทันที ส่วนอีก 12 คนจะปรับเป็นพนักงานชั่วคราว เพื่อดูแลการซ่อมบำรุง Segway PT ที่จำหน่ายไป ส่วนพนักงานที่ดูแลสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ารุ่น Segway Discovery ทั้ง 5 คนยังถูกจ้างอยู่

ส่วนสถานภาพบริษัทของ Segway ปัจจุบันนั้นเป็นอย่างไร ก็ต้องเล่าให้ฟังว่า Dean Kamen ได้ขายบริษัทออกไปเมื่อปี 2552 ใหักับเศรษฐีชาวอังกฤษนามว่า Jim Heselden แต่หลังจากซื้อกิจการมา 10 เดือน เขาก็เกิดอุบัติเหตุตกเขาระหว่างขับ Segway PT อยู่ และเสียชีวิตทันที

เกิดใหม่ในมือของบริษัทจีน Ninebot

ต่อมาในปี 2558 ทางบริษัท Ninebot ผู้ออกแบบสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าจากจีนก็มาซื้อกิจการต่อไป พร้อมกับฟื้นแบรนด์ Segway ขึ้นมาอีกครั้ง ผ่านการทำตลาดสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าแทน ส่วน Segway PT ในช่วงแรกหลังซื้อกิจการก็ยังทำตลาดอยู่ แต่ค่อยๆ ลดความสำคัญลงมา

“เคยไปคุยกับลูกค้าคนหนึ่งที่ใช้งาน Segway PT มา 12 ปี และวิ่งไปกว่า 1.6 แสนกม. พบว่า ถึง Segway PT จะทรุดโทรมไปบ้าง แต่ก็ยังใช้งานได้ปกติ ทำให้ยากที่จะขายใหม่ นอกจากนี้การขับ Segway PT ยังต้องอาศัยความชำนาญในการทรงตัว ก็เป็นอีกเหตุผลในการทำตลาดที่ยากขึ้นด้วย” Judi Cai ประธานของ Segway กล่าว

segway

สำหรับยอดขายของ Segway PT หากนับตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันทำได้เพียง 1.4 แสนเครื่องเท่านั้น น้อยกว่าเป้าช่วงเปิดตัวที่วางไว้ว่าจะขายได้ 1 แสนเครื่องภายใน 13 เดือนแรก ส่วนในแง่รายได้ Segway PT คิดเป็นรายได้ของ Ninebot แค่ 1.5% แทบไม่มีการเติบโตในช่วง 3 ปีล่าสุด

ความทนทานที่ยังถูกใช้งานอยู่

ในทางกลับกัน จากความทนทานนี้เอง ทำให้ Segway PT ยังถูกใช้งานอยู่ในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มบริการรักษาความปลอดภัย และใช้ในเชิงท่องเที่ยว แม้จะผิดวัตถุประสงค์ในช่วงแรกของ Dean Kamen ที่อยากให้ Segway PT เป็นยานพาหนะสำหรับทุกคนที่ใช้ชีวิตในเมือง แต่มันก็ยังดีกว่าไม่ถูกใช้งานเลย

segway
เครื่องเล่นที่อาศัย Self-Balancing Gyroscopes

นอกจากนี้ความยากในการขับขี่ของ Segway PT ก็มักจะทำให้ผู้ขับเกิดอุบัติเหตุโดยไม่ได้ตั้งใจบ่อยครั้ง ไล่ตั้งแต่การเสียชีวิตของผู้ซื้อกิจการดังที่แจ้งไปเบื้องต้น, George W.Bush ก็เคยประสบอุบัติเหตุจากการขับขี่ รวมถึงช่างกล้องก็เคยขับไปชน Usain Bolt จนได้รับอาการบาดเจ็บเล็กน้อยด้วย

แม้ Segway PT จะหายไปจากตลาดแล้ว แต่ก็ยังดีที่เทคโนโลยี Self-Balancing Gyroscopes ได้ส่งทอดไปยังผู้สร้างยานพาหนะส่วนบุคคลยุคใหม่อยู่ตลอดเวลา เพราะมันค่อนข้างอำนวยความสะดวกในการออกแบบ แต่ถึงอย่างไรเวลาคนรุ่นใหม่ไปเห็นเทคโนโลยีในลักษณะนี้ พวกเขาก็คงไม่ได้นึกถึง Segway PT แล้ว

สรุป

Segway คือผู้ปฏิวัติวงการเดินทางส่วนบุคคลจริงๆ เพราะไม่ว่าใครๆ ก็ต่างอยากได้ แม้ราคาจะสูงจนเกินเอื้อมก็ตาม ซึ่งในประเทศไทยก็มีถูกใช้งานอยู่บ้างตามสนามบิน และหากใครมีอยู่ที่บ้าน มันก็อาจกลายเป็นสมบัติอีกชิ้นที่รอเพิ่มมูลค่าก็เป็นได้ เนื่องจากมันไม่มีผลิตอีกแล้ว

อ้างอิง // Fast Company, The Guardian, TechCrunch

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา