จุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดยุคแรงงานจีนราคาถูก เมื่อเทคโนโลยีและคุณภาพ คือสิ่งที่มาแทนที่

ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นที่รู้กันดีว่า ประเทศที่ครองความยิ่งใหญ่ คือ จีน ทั้งเรื่องของแรงงาน วัตถุดิบ และกระบวนการผลิตที่มีต้นทุนต่ำกว่าประเทศอื่นๆ และยังมีตลาดขนาดใหญ่รองรับ รวมถึงการส่งออกด้วย

แต่มาวันนี้อะไรๆ ก็อาจจะเปลี่ยนไป เพราะดูเหมือนลูกค้าหลายประเทศเปลี่ยนการซื้อสินค้าสิ่งทอจากจีนไปประเทศอื่นแทน เพราะจีนเริ่มมีต้นทุนที่แพงขึ้น และความต้องการของลูกค้าที่อยากได้สินค้ามีคุณภาพ

แน่นอนว่า จีน ยังครองความเป็นอันดับ 1 อยู่ ด้วยแรงงานกว่า 4.6 ล้านคน สร้าง GDP และตัวเลขส่งออกกว่า 284,000 ล้านดอลลาร์ แต่ด้วยค่าแรงที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยมากกว่า 12% ต่อปี ทำให้ “ราคา” ไม่ได้เป็นข้อได้เปรียบสำหรับจีนอีกต่อไป

ยิ่งวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าบางอย่าง เช่น ฝ้าย, ขนสัตว์ ภาษีนำเข้าอุปกรณ์ รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อมที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้จีนแข่งขันได้ยาก โดยเฉพาะกับประเทศพัฒนาแล้ว เช่น อิตาลี ที่มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิตเพื่อลดต้นทุน

ความน่าสนใจในฐานะ “ฐานการผลิต” ลดน้อยลง

จุดเด่นของจีนคือ การมีประชากรเยอะมากที่สุด ทำให้แรงงานมีราคาต่ำ และมีตลาดที่ใหญ่ที่สุด แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ 2008 ถึง 2016 ช่องว่างต้นทุนการผลิตเส้นด้ายในอุตสาหกรรมสิ่งทอของอิตาลีและจีน ลดลงประมาณ 30% โดยปัจจุบันห่างกัน 0.57 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม จากเดิม 0.82 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม

Shiu Lo Mo-ching ประธานของ Hong Kong General Chamber of Textiles Ltd และ CEO ของโรงงานสิ่งทอ Wah Fung Group บอกว่า ค่าจ้างแรงงานจีนที่เพิ่มสูงขึ้น 25% แม้จะยังห่างจากค่าจ้างแรงงานในอิตาลี แต่การต้องใช้เวลาส่งวัตถุดิบไปให้ถึงจีน ผลิตและส่งสินค้ากลับมาขายที่ยุโรป ขณะที่ค่าจ้างแรงงานไม่ได้ถูกเหมือนก่อน ทำให้จีน “น่าสนใจน้อยลง” ในฐานะฐานการผลิต

เปรียบเทียบกันแล้ว เมื่อแบรนด์เสื้อผ้ายุโรปต้องผลิตคอลเลคชั่นเสื้อผ้าให้มากขึ้น เร็วขึ้น และปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการลูกค้า ทำให้ฐานการผลิตควรอยู่ใกล้ และทำงานได้เร็ว ทำให้จีนไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดอีกต่อไป ดังนั้นช่วง 10 เดือนแรกของปีที่แล้ว อิตาลีได้นำเข้าสิ่งทอจากจีนลดลง 8.7%

ส่วนที่สำคัญอีกประการคือ ผู้บริโภค ให้ความสนใจกับคุณภาพและกระบวนการผลิตมากขึ้น เรียกว่า นอกจากต้องคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายแล้ว ยังมีการตรวจสอบย้อนกลับถึงกระบวนการผลิต ทำให้หลายแบรนด์ในยุโรป เปลี่ยนกลับไปใช้ฐานการผลิตในอิตาลี ซึ่งระบุได้ชัดเจนว่า “Made in Italy” รวมถึงระบุชื่อโรงงานผลิตได้ กลายเป็นแต้มต่อที่เหนือกว่าแบรนด์คู่แข่ง

ลาก่อนประเทศจีน เมื่อค่าจ้างแรงงานไม่ตอบโจทย์

Olesia Pryimak เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า “Opri” จากยูเครน บอกว่า มีการสั่งสิ่งทอจากจีนลดลง 60% เทียบกับ 2 ปีก่อนหน้านี้ และเปลี่ยนไปสั่งจากตุรกีแทน เพราะมีคุณภาพ ราคา ที่ดีกว่าและอยู่ใกล้กับยุโรปมากกว่า

แม้ว่าเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าหลายเจ้าอาจจะยังบอกตัวเลขที่ชัดเจนไม่ได้ในตอนนี้ว่าการสั่งซื้อสิ่งทอจากจีนลดลงแค่ไหน แต่ถ้าดูภาพรวมการส่งออกของจีนก่อน 10 เดือนแรกของปี 2016 เพิ่มขึ้น 1.4% แต่ลดลง 4.1% ในเดือนตุลาคม

นอกจากนี้มีโรงงานผลิตสิ่งทอขนาดใหญ่ในจูไห่ เมืองอุตสาหกรรมทางใต้ของจีน ที่มีการจ้างงานกว่า 1,100 คน แต่จากค่าแรงงานที่เพิ่มขึ้น ทำให้โรงงานมีการลงทุนเครื่องจักรและเทคโนโลยีมากขึ้น และจะลดการจ้างงานลง 2 ใน 3 ภายใน 2 ปีจากนี้ และมีข่าวว่า โรงงานขนาดเล็กหลายแห่งอาจปิดตัวลง

สรุป

เป็นไปได้ว่า นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดยุคแรงงานจีนราคาถูก แต่ย้อนกลับไปดูเรื่องของการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตลาดมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย ความต้องการผู้บริโภค มีเรื่อง Customized และ Personalized ทำให้เจ้าของแบรนด์ต้องปรับตัว คุณภาพและแหล่งที่มาของวัตถุดิบและการผลิต กลายเป็นสิ่งที่คนซื้อให้ความสนใจมากขึ้น เรื่องนี้ ไทยเอง ก็ต้องคิดให้หนักเช่นกัน

ที่มา: Reuters

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา