ข่าวการปิดกิจการของ Ensogo สร้างผลกระทบกับผู้บริโภคและร้านค้าไปบางส่วน ปัจจุบันอาจจะมีร้านค้าบางแห่งที่ยังรับดีลที่ลูกค้าซื้อไว้จนกว่าจะหมดอายุ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดีในการให้บริการ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือในมุมมองทางธุรกิจเว็บ daily deal ลักษณะนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป จะยังมีเว็บขายโปรโมชั่นราคาแรงๆ แบบนี้อยู่อีกหรือไม่
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การประกาศยุติการให้บริการของ Ensogo เหตุผลที่ร้านอาหารหรือโรงแรมระดับ Top ยังสามารถรับ คูปอง หรือ สิทธิพิเศษ ที่ผู้บริโภคซื้อไปแล้วได้จนกว่าจะหมดอายุ เพราะ Ensogo ใช้วิธีการซื้อเหมาโปรโมชั่นราคาพิเศษมาในราคาถูก และมาขายต่อ เท่ากับว่าร้านค้าเหล่านั้นได้รับเงินไปล่วงหน้าแล้ว ดังนั้นร้านค้าจึงสามารถรับคูปองจากลูกค้าได้ ซึ่งร้านเหล่านี้มีจำนวนประมาณ 20% ของร้านค้าทั้งหมด
แต่มีร้านค้าผู้ประกอบการอีกประมาณ 80% ที่เป็นกลุ่ม SME อาศัยการทำตลาดผ่าน Ensogo ต้องรอการตัดรอบเงินจาก Ensogo ประมาณ 30-60 วัน จึงจะได้รับเงิน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ถ้าร้านค้าเหล่านี้จะไม่สามารถรับคูปองจากลูกค้าได้อีก (เพราะถ้ารับ ก็ไม่สามารถไปเบิกเงินจาก Ensogo ได้ เพราะปิดบริษัทไปแล้ว) แต่ลูกค้าจ่ายเงินซื้อคูปองไปเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ Ensogo ได้สร้างผลกระทบกับวงการออนไลน์อย่างไม่เคยเกิดมาก่อน และ Brand Inside ได้สอบถามมุมมองจาก 2 นักธุรกิจที่อยู่ในวงการออนไลน์มายาวนาน คือ ยอด ชินสุภัคกุล CEO จาก วงใน (wongnai) และ ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ แห่ง Tarad.com และนายกสมาคมอีคอมเมิร์ซ มาร่วมแสดงความคิดเห็นได้อย่างน่าสนใจ
ยอด ชินสุภัคกุล CEO จากวงใน (wongnai) กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับ Ensogo เป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะธุรกิจของ Ensogo ในไทยทำได้ดีมาก Brand ติดตลาด คนไทยรู้จัก ช่วยกระตุ้นยอดขายให้กับร้านดังๆ และก็สร้างยอดขายให้ร้านระดับ SME พอสมควร ถ้าทำธุรกิจนี้ต่อในไทยก็น่าจะยังรักษาตลาดไว้ได้ โดยต้องอาศัยการบริหารจัดการที่ดีมาก ดังนั้นเมื่อบริษัทแม่ในต่างประเทศ ปรับตัวไปเน้นขายสินค้าในลักษณะ Flash Sale ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น คู่แข่งมีมาก ทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้ยาก
อย่างไรก็ตาม การยุติธุรกิจของ Ensogo จะสร้างผลกระทบด้านความเชื่อมั่นกับตลาดในระยะสั้นพอสมควร เพราะ Ensogo เป็นเว็บ daily deal ที่มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 80% ถ้าหายไปจากตลาด ก็น่าจะทำให้ธุรกิจประเภทนี้หายไปด้วยเช่นกัน แต่ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้เพราะเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และสุดท้าย daily deal จะกลายเป็นโปรโมชั่นทางการตลาดอย่างหนึ่งที่ทุกเว็บทำออกมาเพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงเวลาสั้นๆ
ด้านวงในเอง มีรายได้หลักมาจากโฆษณา และทำ daily deal บ้างแต่ไม่มีโปรโมชั่นโหดๆ เพื่อกระตุ้นการซื้อแต่จะเป็นสิทธิพิเศษให้กับลูกค้าได้ใช้เพราะชอบที่จะไปกินอาหารร้านนั้นอยู่แล้วสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีกับ daily deal โดยให้ส่วนลด 10-30% และวงในเก็บค่าธรรมเนียม 15-20% โดยมีรอบตัดบิลประมาณ 30วันก่อนส่งเงินให้ร้านค้าและกำลังพยายามลดระยะเวลาให้สั้นลงเพราะรู้ว่ากระแสเงินสดสำคัญกับผู้ประกอบการแต่ในอนาคต วงใน เตรียมพัฒนารูปแบบโมเดลธุรกิจใหม่เพื่อมาทดแทน daily deal อยู่แล้ว
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ แห่ง Tarad.com บอกว่า เหตุการณ์ดังกล่าวกระทบกับความเชื่อมั่นของร้านค้าและผู้บริโภคบ้าง แต่โดยภาพรวมยังถือว่าโอเค ซึ่งธุรกิจเว็บ daily deal เริ่มแย่ลงมาระยะหนึ่งแล้วทั่วโลก ดูได้จาก Coupon ที่ปิดตัวในหลายประเทศ หรือ Rakuten ที่ถอนตัวกลับญี่ปุ่น แต่ทั้งหมดมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ ไม่ได้ปิดตัวแบบกะทันหันเหมือน Ensogo
แต่เมื่อดูธุรกิจของ Ensogo ในประเทศไทย ต้องบอกว่ามีการบริหารจัดการที่ดี ธุรกิจยังมีรายได้และมีกำไรอยู่ แต่การเปลี่ยนแปลงน่าจะเกิดจากนโยบาย รวมถึงผลการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศมากกว่า โดยส่วนตัวมองว่า เว็บ daily deal จะค่อยๆ ลดบทบาทลงไป แต่ก็อาจจะเหลือบางเว็บที่ยังใช้เป็นการตลาดอยู่ ที่เห็นได้ชัด เช่น Eatigo ที่ยังทำตลาดอยู่ในเวลานี้ แต่ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าจะสามารถสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้มากน้อยแค่ไหน เพราะเว็บ daily deal จำนวนมาก เปลี่ยนโมเดลธุรกิจมาเป็นเว็บขายของกันแล้ว
ขณะที่เว็บตลาดดอทคอม เป็น Marketplace ชัดเจน เน้นทำการตลาดร่วมกับร้านค้า ไม่ได้ทำในลักษณะ daily deal และยังมีระบบรับประกันทั้งการจ่ายเงินและการรับสินค้าสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค จึงได้รับผลกระทบน้อยมากในเรื่องนี้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา