แบรนด์ Abercombie & Fitch อาจหายไปจากวงการแฟชั่นจริงๆ หลังการเจรจาธุรกิจไม่ลงตัว

โลโก้ A&F ที่ปักอยู่บนเสื้อยืดตัวเก่าที่ฮิตในไทยช่วงค.ศ.2000 คงสั่นเป็นเจ้าเข้า หลังจากรับรู้ว่า Abercrombie & Fitch กำลังจะล่มสลาย เพราะไม่สามารถหาคนมารับช่วงต่อธุรกิจที่มีปัญหาตอนนี้ได้

ภาพจาก Flickr ของ Sam Davyson

หยุดคุยต่อ ขอฟื้นธุรกิจด้วยตนเอง

หลังจากที่ประสบปัญหาทางธุรกิจอย่างหนัก จน Abercrombie & Fitch Co. หรือ A&F ก็ต้องหาผู้สนใจมาซื้อกิจการ เพื่อกอบกู้แบรนด์เอาไว้ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถทำได้ เพราะล่าสุดการเจรจากับผู้ซื้อรายหนึ่งนั้นล่มไม่เป็นท่า ผ่านการปฏิเสธโดยตัว A&F เอง เล่นเอาราคาหุ้นของบริษัทตกลงอย่างหนักในรอบ 10 เดือน

ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทที่คาดว่าจะซื้อกิจการของ A&F คือ Express Inc. หรือ American Eagle Outfitters Inc. คู่แข่งในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า แต่เมื่อตัว A&F ปฏิเสธข้อเสนอซื้อดังกล่าว ก็เป็นการยากที่จะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งได้ เพราะมีทั้งปัญหาล้มละลาย และพ่ายแพ้คู่แข่งด้านแบรนด์ จนต้องทยอยปิดหน้าร้านไปหลายแห่ง

ภาพจากหน้าร้านของ Abercrombie & Fitch

อย่างไรก็ตามการประครองธุรกิจต่อไปจะอยู่ในกำมือของ Fran Horowitz ที่เพิ่งได้ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารมาเพียง 5 เดือน หลังจาก A&F ปลด Mike Jeffries ที่ครองตำแหน่งนี้มานานออกไปเมื่อ 2 ปีก่อน ถือเป็นอีกความท้าทายในการนำธุรกิจให้กลับมาของผู้บริหารคนใหม่อีกด้วย

แม้เดินหน้าดิจิทัล แต่สู้แบรนด์ใหม่ไม่ได้

ในทางกลับกัน A&F พยายามที่จะดิ้นให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ก่อน ด้วยการนำดิจิทัลเข้ามามีส่วนร่วม เช่นการทำ Concept Store ใหม่ที่มีระบบการลองเสื้ออัจฉริยะ และการชำระเงินที่ง่าย แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังสู้ไม่ได้กับการเติบโตอย่างรวดเร็วของกลุ่ม Fast Fashion อย่าง H&M, Zara และ Forever 21 ได้

ภาพโดย MediaPhoto.Org (mediaphoto.org Own work) [CC BY 3.0 (http://creativecommons.org/licenses/by/3.0)], via Wikimedia Commons
และเมื่อลองดูแบรนด์ที่ได้รับความนิยมในเวลาใกล้เคียงกับ A&F เช่น Aeropostale, Bebe และ Rue21 ต่างก็อยู่ระหว่างประสบปัญหาทางธุรกิจ เพราะตามเทรนด์แฟชั่นไม่ทัน ประกอบกับการเดินหน้าด้วยดิจิทัลก็ยังสู้แบรนด์ใหม่ๆ ที่มีการดีไซน์ และนวัตกรรมการตลาดที่ดีกว่า ไม่ได้อยู่ดี

สรุป

“แฟชั่น” เป็นเรื่องที่ไปเร็วมาเร็ว ถ้าใครจะอยู่ยั้งยืนยงได้ ก็ต้องรู้จักปรับตัว ไม่ใช่จะยืนดีไซน์มันอยู่แบบเดียว และตัวอย่างที่ดีก็มีให้เห็นกันเยอะ ซึ่ง A&F ก็เป็นหนึ่งในนั้น และเรื่องนี้ก็มีโอกาสเกิดกับอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยได้ เพราะถ้ายังไม่รู้จักปรับเปลี่ยนงาน หรือการสื่อสารแบรนด์ ก็ใช่ว่าจะอยู่ในตลาดได้นานเสมอ

อ้างอิง // Business Insider, USA Today, Bloomberg

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา