มองเทรนด์การทำงาน 2022 การจ้างงานน้อยลง คนทำงานอิสระเพิ่มขึ้น เวลางานไม่ชัด ทักษะต้องหลากหลาย

สถานการณ์การจ้างงานในไทยและทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา โควิดเข้ามาเปลี่ยนการทำงานตามปกติให้แตกต่างไปจากเดิมเร็วขึ้น เพราะเทคโนโลยีก็เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว ปิดท้ายด้วยล่าสุดกับเหตุการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะมีผลต่อการจ้างงานอย่างไรบ้าง

worker
ภาพจาก Shutterstock

การทำงานยุคใหม่ สารพัดสถานการณ์ที่ต้อง “ปรับตัว” ให้ได้

ศิริยุพา รุ่งเริงสุข ที่ปรึกษาบริหาร สำนักประธานกรรมการบริหาร รพ. บำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้เชี่ยวชาญงาน HR และการพัฒนาภาวะผู้นำ บอกว่า เทรนด์การจ้างงานที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ ในมุมมองขององค์กร การจ้างงานในภาพรวมจะลดน้อยลง Lean and Mean มากขึ้น พนักงานประจำจะลดจำนวน แต่พนักงานชั่วคราว พนักงานสัญญาจ้าง หรือพนักงานเฉพาะกิจจะมีมากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่าย พื้นที่ทำงานหรือออฟฟิศยังจำเป็นแต่ลดขนาดลง

ดังนั้น แนวโน้มของแรงงาน จะมีความเป็น GIG Worker หรือ Freelance มากขึ้น นั่นคือจ้างงานจบเป็นชิ้นๆ หรือเป็นโครงการไป ซึ่งปัจจุบันในไทยมีสัดส่วนประมาณ 20-30% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเมื่อจากงานวิจัยของ Havard Business พบว่าที่อเมริกามีสัดส่วนมากกว่า 50% เท่ากับว่ายังมีพื้นที่ให้ GIG Worker อีกไม่น้อย

นอกจากนี้ แนวทางการจ้างงาน จะจ้างคนที่ทำงานได้จริงมากกว่าเด็กจบใหม่ ด้วยค่าจ้างที่ใกล้เคียงกัน เพราะไม่ต้องใช้เวลาในการสอนงาน การทำงานจะมีลักษณะเป็น Hybrid มากขึ้น แปลว่าแรงงานต้องมีทักษะที่ด้านออนไลน์ และสามารถทำงานได้หลากหลายตำแหน่งหมุนเวียนได้ และจะแยกชั่วโมงการทำงานและเวลาส่วนตัวไม่ออก แปลว่าต้องทำงานได้ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม ตลาดงานจะกว้างขึ้น คนแก่จะทำงานนานขึ้นเกษียณอายุช้าลง เด็กยังไม่จบก็เข้าสู่ตลาดงานเร็วขึ้นด้วย คนมีความหลากหลาย ทั้งเพศ เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม และการเมือง เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นองค์กรต้องเปิดใจให้กว้าง ส่วนพนักงานต้องระมัดระวังและเลือกที่จะแสดงออกเท่าที่จำเป็น

worker
ภาพจาก Shutterstock

การสื่อสาร คือปัจจัยสำคัญ

หลายองค์กรมีปัญหาเรื่องการสื่อสารที่เหมาะสม เป็นเรื่องสำคัญมากประการหนึ่งทำงาน ยิ่งต่อไปพนักงานมีความหลากหลายมากขึ้น การสื่อสารยิ่งต้องมีความรัดกุม องค์กรต้องฝึกเรื่องการสื่อสารภายในให้มากขึ้น ยิ่งในสภาพแวดล้อมการทำงานแบบ Hybrid หรือทำงานออนไลน์ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรเป็นเรื่องไม่ง่าย

นอกจากนี้ แรงงานไทย จะติดเรื่องการทำงานแบบ รับคำสั่ง ต้องมีการฝึกให้คิดและทำงานได้เอง มีความเป็น Leadership และ Enterpreneurship แปลว่าต้องมีการฝึกอบรมเรื่องการทำ Project Management และหลักการทำ Design Thinking ต้องรู้เรื่อง Change Management สามารถรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

worker
ภาพจาก Shutterstock

การพัฒนาทักษะสำคัญกว่าใบปริญญา ต้องทำงานได้รอบด้าน

เรื่องของการพัฒนาทักษะ ยังเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงเป็นประจำ ซึ่งสิ่งสำคัญที่ช่วยในการพัฒนาทักษะใหม่ๆ คือ ทัศนคติ (Attitude) ยิ่งแรงงานมีแนวโน้มลดลง แรงงานแก่ๆ ต้องพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีให้ทัน รวมถึงทักษะด้านภาษา และการสื่อสารด้วย โดยเฉพาะภาษาไทย ที่ตอนนี้เป็นจุดอ่อนของเด็กรุ่นใหม่ ใช้ภาษาไม่ถูกต้องเลย ขณะที่ภาษาอังกฤษ ก็ต้องสามารถใช้งานได้ดีด้วย

ทักษะด้านคณิตศาสตร์เบื้องต้นก็มีความจำเป็น มีการนำ AI เข้ามาใช้ในองค์กรมากขึ้นเรื่อยๆ ความเข้าใจทางคณิตศาตสตร์จึงจำเป็น หรือแม้แต่พื้นฐานทางตัวเลข เช่น ร้อยละ ต้นทุน กำไร การทำบัญชีเบื้องต้น เรื่องทางสถิติ ตัวแปร ทั้งหมดมีความสัมพันธ์กับเรื่อง Big Data ซึ่งแรงงานต้องเข้าใจ

ส่วนทักษะคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต รวมถึงการใช้งานโซเชียล ต้องมีความเข้าใจและใช้งานได้เป็นอย่างดี ทั้งหมดเพื่อให้สามารถทำงานได้รอบด้าน จะทำงานถนัดเพียงอย่างเดียวไม่ได้อีกแล้ว

worker
ภาพจาก Shutterstock

การสร้างแบรนด์ตัวเอง เพื่อเป็นพนักงานดาวเด่น

คนเก่ง คนดี คนขยัน หลายคนหลุดโผไม่ได้เป็น พนง. ดาวเด่น เพราะสร้างแบรนด์ตัวเองไม่เป็น

มนุษย์เงินเดือนทั่วโลกที่ถึงแม้จะเก่ง เป็นคนดี ขยันทำงานหนัก แต่ไม่ได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นในขณะที่คนที่มีความสามารถต่ำกว่ากลับไปถึงฝั่งฝันได้เร็วกว่า เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ดังนั้นแรงงานต้องสร้างแบรนด์ตัวเองให้เด่นชัด นำเสนอตัวเองในจังหวะที่เหมาะสม อย่ารอให้องค์กรหาเราเจอเอง ขยันเงียบๆ จะถูกมองข้าม ต้องมีศาสตร์ มีศิลป์มีจิตวิทยา

การสร้างแบรน์คือการนำเสนอคุณสมบัติที่แสดงถึงคุณค่า เนื้อหา ตัวตนที่แท้จริงของเรา การสร้างแบรนด์ไม่ใช่การสร้างภาพ

ดังนั้น ลูกค้าในองค์กรคือนายจ้าง หัวหน้างาน ลูกน้องและเพื่อนร่วมงาน บุคคลแหล่านี้ที่อยู่ในและนอกองค์กรคือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่อโอกาสในการได้เลื่อนขั้นตำแหน่ง แรงงาน ต้องพิจารณาตัวเองเหมือนเป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่จะต้องมีการนำเสนอแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักชื่นชอบในสายตาของลูกค้า

เด็กนักเรียน นักศึกษา ต้องสร้างแบรนด์ตั้งแต่เรียนอยู่ พนักงานบริษัท สามารถทำได้ทันที ซึ่งการสร้างแบรนด์ มีความหลากหลาย เปลี่ยนแปลงได้ แต่ต้องมีแนวทาง มีทิศทางไว้ แต่ปรับเปลี่ยนได้ตามความสามารถและความชอบ เพื่อให้ดึงศักยภาพออกมาใช้ได้ในทุกทาง

worker
ภาพจาก Shutterstock

กระบวนการสร้างแบรนด์ตัวเอง ย่อๆ มี 4 ขั้นตอน

  • ร่างโร้ดแม้ปเป้าหมายชีวิตการทำงานในแต่ละช่วง เริ่มแรกมองยาวๆ ไปเลยว่าจุดสูงสุดในชีวิตเมื่ออายุประมาณ 60 ปี เราอยากเป็นอะไร อยากทำอะไร แล้วถอยกลับมาดูว่าปัจจุบันเราอายุเท่าไร แล้ววางแผนปักหมุดคร่าวๆว่า อีก 3 ปี 5 ปี 10 ปี 20 ปีจนอายุ 60 ปี อยากเป็นอะไร ทำอะไร ทั้งนี้แต่ละคนจะมีเป้าหมายของชีวิตไม่เหมือนกัน การแบ่งช่วงชีวิตการทำงานก็จะต่างกันไป ซึ่งเราสามารถปรับเปลี่ยนโร้ดแม้ปของเราได้เสมอตามความต้องการและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป แต่อย่างน้อยขอให้มีโร้ดแม้ปเป็นจุดเริ่มต้นก่อน
  • ประเมินแบรนด์ของตนเอง ให้คนที่ไว้ใจ ช่วยพิจารณาเป้าหมายการทำงานของเราในแต่ละช่วงที่เตรียมไว้ในโร้ดแม้ปว่าต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้างจึงจะบรรลุเป้าหมายเหล่านั้นได้ ทั้งนี้อาจจะเลือกเป้าหมายใกล้ๆตัวในระยะเวลา 1-5 ปีในอนาคตมาดูก่อน มีความรู้ ทักษะ จุดเด่น จุดด้อยอะไรบ้างที่ถือว่าเป็นแบรนด์ของเราในปัจจุบัน การที่มีผู้อื่นมาร่วมประเมินด้วยจะได้ไม่เข้าข้างตนเอง และจะได้ทราบด้วยว่ามุมมองของผู้อื่นที่มีต่อแบรนด์ของตัวเรานั้นตรงกับที่เราคิดและต้องการให้เป็นเช่นนั้นหรือไม่ จากประสบการณ์พบว่าหลายคนมองตัวเองแบบหนึ่ง แต่หัวหน้างานและเพื่อนร่วมงานกลับมองเขาในอีกแบบหนึ่ง
  • พัฒนาตนเองเพื่อสร้างคุณค่าของแบรนด์ เมื่อทราบจุดเด่น จุดด้อยในเรื่องความรู้ความสามารถจากการประเมินแล้วก็ต้องวางแผนขั้นตอนและระยะเวลาในการเรียนรู้พัฒนาความสามารถกันอย่างจริงจังเป็นระบบเพื่อสร้างคุณสมบัติที่แท้จริงให้เกิดขึ้น
  • สร้างเครือข่ายที่ดี คนที่จะเป็นดาวเด่นขององค์กรมีตำแหน่งบริหารระดับสูงต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีแบบ 360 องศา เพราะทั้งหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง และลูกค้าภายนอกล้วนมีบทบาทอิทธิพลกับความสำเร็จ ผลงานและความก้าวหน้าของตนเองและองค์กร

รู้จักเลือกจังหวะเวลา ช่องทางและเวทีในการนำเสนอแบรนด์ ถึงจะมีความสามารถ มีแบรนด์ที่ดี แต่ถ้าไม่รู้จังหวะเวลาในการนำเสนอแบรนด์ เลือกช่องทางในการสื่อสารแบรนด์ผิด เลือกสถานที่ที่ไม่เหมาะสมในการแสดงแบรนด์ตนเองและผลงาน ก็ทำให้เราไม่สามารถแจ้งเกิดได้ มิหนำซ้ำหากเลือกเวทีหรือสถานที่ในการนำเสนอแบรนด์ผิด อาจสร้างผลลบให้ได้มากอย่างคาดไม่ถึงได้ อย่างเบาะๆอาจถูกมองว่าเอาหน้า สร้างภาพ อวดตัว อย่างแรงก็อาจมีศัตรูที่หมั่นไส้คอยปัดแข้งปัดขาไม่ให้ก้าวหน้า

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา