ผลสำรวจเผยพนักงาน 68% อยากให้หุ่นยนต์ฟังความเครียดในที่ทำงาน มากกว่าหัวหน้าของตัวเอง

ภาวะความเครียดที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคลเป็นเรื่องที่น่ากังวลเสมอมาตั้งแต่ก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่องค์การอนามัยโลก เคยคาดการณ์ว่า กว่า 250 ล้านคนทั่วโลก ต้องเผชิญกับภาวะความเครียด รวมถึงอัตราการฆ่าตัวตายก็สูงขึ้นเรื่อยๆ

ยิ่งมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งทำให้ผู้ที่ต้องเผชิญกับภาวะความเครียด และเป็นโรคซึมเศร้ามีมากขึ้น จนนักจิตวิทยา หรือผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับความเครียดมีจำนวนไม่เพียงพอ แนวความคิดที่จะพัฒนาหุ่นยนต์ หรือ AI ให้กลายเป็นที่ปรึกษาแทนคนจึงเกิดขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาความขาดแคลนดังกล่าว

จากผลการสำรวจของ Workplace Intelligence และ Oracle จากพนักงานกว่า 12,000 คนทั่วโลก มีเพียง 18% เท่านั้นที่อยากปรึกษาปัญหาทางจิตใจกับคน แต่ในทางตรงกันข้าม พนักงานกว่า 68% ต้องการที่จะปรึกษาความเครียด และความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นในที่ทำงานกับหุ่นยนต์ มากกว่าจะปรึกษากับคน นอกจากนี้คนกว่า 80% ยอมรับที่จะมีหุ่นยนต์เป็นผู้ให้คำปรึกษา

Dan Schawbel ผู้ก่อตั้ง Workplace Intelligence เล่าว่า สิ่งหนึ่งที่คนต้องการมากที่สุดคือ ข้อมูลที่ไม่มีอคติ และตรงไปตรงมา รวมถึงความสามารถในการเข้าถึงแหล่งที่จะให้คำปรึกษาได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะที่ผ่านมาปัญหาอย่างหนึ่งในการให้คำปรึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องความเครียดคือ การไม่ยอมบอกข้อมูลตามความจริง โดยเฉพาะหากผู้ที่ให้คำปรึกษาเป็นหัวหน้าของเราเอง

หรือในอีกกรณีหนึ่ง หากคนที่เป็นหัวหน้า หรือคนที่มีตำแหน่งงานสูงๆ ต้องการรับคำปรึกษา คนเหล่านี้ก็จะไม่กล้าบอกความจริงทั้งหมด เพราะกลัวที่จะถูกตัดสิน

เทคโนโลยีจึงกลายมาเป็นคำตอบให้กับปัญหาเหล่านี้ เพราะเทคโนโลยีมีความเที่ยงตรง ไม่มีอคติ ไม่ตัดสินผู้อื่น และไม่รู้ลำดับขั้นความอาวุโสของตำแหน่งในสถานที่ทำงาน แต่อย่างไรก็ตามเทคโนโลยียังขาดสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งนั่นคือ ความเห็นอกเห็นใจ ที่มีเฉพาะในคนเท่านั้น

ยุคทองของการลงทุนใน Digital Health

ที่ผ่านมามีการลงทุนในระบบ Digital Health ไปแล้วกว่า 9.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.84 แสนล้านบาท ส่วนในปีนี้เฉพาะไตรมาส 3 มีการลงทุนไปแล้ว 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.21 แสนล้านบาท โดยเฉพาะการลงทุนในระบบ AI ที่ใช้ในวงการสุขภาพ นับตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา มีการลงทุนไปแล้ว 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3 แสนล้านบาท

ในอนาคตผู้เชี่ยวชาญหลายคนมีการคาดการณ์พฤติกรรมการใช้โทรศัพท์ของคนเอาไว้ว่า กว่า 80% ของประชากรสหรัฐอเมริกามีโทรศัพท์มือถือเป็นของตัวเอง การใช้ข้อมูลต่างๆ เพื่อวิเคราะห์การใช้ชีวิตอาจกลายเป็นเรื่องปกติ เหมือนที่ Spotify สามารถวิเคราะห์เพลงที่ผู้ใช้งานแต่ละคนชอบฟังได้ แต่เปลี่ยนเป็น AI ที่วิเคราะห์ และให้คำแนะนำได้อย่างถูกที่และถูกเวลา

ที่มา – cnbc

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา