การจะทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้นั้น นอกจากความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือทรัพยากรบุคคลภายในบริษัท ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สร้างไม่ยาก แต่สิ่งที่ยากคือการรักษาทรัพยากรบุคคลให้อยู่กับบริษัทให้ได้
สิ่งที่จะช่วยรักษาทีมงาน หรือพนักงานภายในบริษัทได้เป็นอย่างดี นั่นคือ Empathy ของคนที่เป็นเจ้านาย หรือผู้ประกอบการนั่นเอง ซึ่ง Empathy แปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ คือ ความเห็นอกเห็นใจ เป็นทักษะความเข้าใจความรู้สึก ความสามารถในการรับรู้อารมณ์ของบุคคลอื่นๆ ได้ โดยจะมีความแตกต่างจากคำว่า Sympathy ที่มักสับสนกันบ่อยๆ ซึ่ง Sympathy คือ ความสงสาร แต่ในความสงสารนั้นอาจไม่ได้มีความเข้าใจจริงๆ ก็ได้
แม้แต่ Bill Gates มหาเศรษฐีผู้ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของโลก ยังให้ความสำคัญกับทักษะความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เมื่อปี 2014 Gates เคยเป็นตัวแทนในงานพิธีสำเร็จการศึกษาของนักศึกษามหาวิทยาลัย Standford ว่า “ถ้าในชีวิตเรามีเพียงมุมมองต่อสิ่งต่างๆ ในแง่ดี แต่ไม่มีความเห็นอกเห็นใจ ไม่ได้เข้าใจคนอื่นจริงๆ ความรู้ที่เรียนมาก็ไม่สำคัญ เพราะเราจะไม่ได้แก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง”
Aytekin Tank CEO และผู้ก่อตั้ง JotForm เว็บไซต์การสร้างแบบฟอร์มแบบง่ายๆ สำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐาน มีผู้ใช้งานกว่า 7 ล้านคนทั่วโลก ก็เป็นผู้ประกอบการอีกหนึ่งคนที่เห็นความสำคัญของคำว่าความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น โดยเขาให้เหตุผลว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการทำธุรกิจคือคน นั่นคือ ทีมงาน และลูกค้า ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้บริษัทก้าวไปข้างหน้าได้ ไม่ใช่เฉพาะซอร์ฟแวร์เพียงอย่างเดียว
ความเห็นอกเห็นใจ คือสิ่งที่มากกว่าความสงสาร
Tank ให้เหตุผลว่า การขาดความเห็นอกเห็นใจในการทำงานของผู้ประกอบการหลายๆ คน จะทำให้พนักงาน หรือทีมงานในบริษัทขาดการมีส่วนร่วม แน่นอนว่าการขาดการมีส่วนร่วมนี้ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานอย่างเลี่ยงไม่ได้ มากไปกว่านั้นเคยมีการทำการวิจัยพบว่า การขาดการมีส่วนร่วมของพนักงาน สามารถสร้างความเสียหายให้กับบริษัทหลายแห่งรวมกันกว่า 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 18 ล้านล้านบาท
สิ่งที่ผู้ประกอบการหรือคนที่เป็นหัวหน้าควรทำคือ การพยายามทำความเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจคนที่เป็นลูกน้องของตัวเอง ไม่ใช่แค่การรู้สึกสงสาร หรือเสียใจกับสถานการณ์ที่ลูกน้องต้องเจอ ซึ่งความสงสารนี้ Tank อธิบายว่าเป็นเหมือนความรู้สึกผิวเผินเท่านั้น
ความเห็นอกเห็นใจ ช่วยสร้างความเข้าใจแบบเปิดอก
ในบางครั้งผู้ประกอบการหรือคนที่เป็นหัวหน้าหลายๆ คนอาจเข้าใจว่าความเห็นอกเห็นใจ เป็นทักษะที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด และไม่สามารถสร้างขึ้นได้ แต่ความจริงแล้ว Satya Nadella CEO ของ Microsoft เห็นว่าความเห็นอกเห็นใจเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นได้ เหมือนการสร้างกล้ามเนื้อในการออกกำลังกาย
กว่าที่ Nadella จะก้าวขึ้นมาเป็น CEO ของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกได้ เขาต้องผ่านเรื่องราวต่างๆ มากมาย ตั้งแต่การพยายามเพื่อให้ได้ Green Card เพื่ออาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา เขาต้องสร้างชีวิต และครอบครัวของเขาตั้งแต่ศูนย์ ซึ่งความยากลำบากนี้ทำให้เขากลายเป็นคนที่สามารถเข้าอกเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่น และสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นการมีส่วนร่วมได้นั่นเอง
Nadella จึงไม่ใช่คนที่เข้าใจพนักงานแบบผิวเผิน แต่เขารู้ว่าพนักงานทุกๆ คนต้องการแรงสนับสนุนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
Peter Bregman เชื่อว่าความเห็นอกเห็นใจ และการเข้าใจผู้อื่นนี้ จะช่วยลดความรุนแรงในการสนทนา ในกรณีที่คุยกันไม่เข้าใจ จนอาจเกิดเป็นแรงปะทะ ให้กลายเป็นการสนทนาแบบเปิดอกและพูดคุยกันด้วยความเข้าใจ ซึ่งสามารถทำได้โดยการพูดคุยโดยเปิดใจรับฟัง ให้โอกาสคนที่พูดคุยด้วยในการแสดงความคิดเห็น และแสดงให้เห็นว่าเราสนใจผู้ร่วมสนทนาด้วยจริงๆ
ที่มา – Entrepreneur
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา