อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ในธุรกิจสายการบิน แต่ล่าสุด เอมิเรตส์ หนึ่งในสายการบินชั้นนำของโลกได้ประกาศลงทุนเปิดหน้าร้าน เอมิเรตส์ เวิลด์ สโตร์ ในอาเซียนถึงสองประเทศ ประกอบด้วยสิงคโปร์ และไทย โดยการลงทุนนี้คิดเป็นหนึ่งในงบ 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่สายการบินจะลงทุนเปิดหน้าร้านใน 3 ปีจากนี้
25 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 820 ล้านบาท อาจเป็นตัวเงินที่ไม่ได้มากเมื่อเทียบกับรายได้ของกลุ่มเอมิเรตส์ในปี 2023-24 ที่ 37,400 ล้านดอลลาร์ เติบโต 15% แต่นั่นก็ยังน่าสนใจว่า ทำไมธุรกิจสายการบินต้องมาเปิดหน้าร้านเพื่อให้บริการต่าง ๆ ที่โดยหลักแล้วคือการจองตั๋วเครื่องบิน
เพื่อหาคำตอบนั้น Brand Inside เข้าไปหาข้อมูลเกี่ยวกับ เอมิเรตส์ เวิลด์ สโตร์ ในประเทศไทย พร้อมแผนการ และเป้าหมายของสถานที่ดังกล่าว รวมถึงทิศทางของการเปิดสาขาในรูปแบบนี้เพิ่มเติมในภูมิภาคอาเซียนดังนี้
เอมิเรตส์ ลงทุนต่อเนื่องในประเทศไทย
การเปิดตัว เอมิเรตส์ เวิลด์ สโตร์ ในกรุงเทพฯ ถือเป็นการลงทุนครั้งสำคัญครั้งที่สองของเอมิเรตส์ในประเทศไทยภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน ต่อจากการลงทุนมูลค่า 175 ล้านบาท (5 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในการขยายเลานจ์ที่สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเลานจ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของสายการบินนอกเหนือจากศูนย์กลางการบินที่ดูไบ การลงทุนครั้งนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ครั้งใหม่ระหว่างเอมิเรตส์ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
อัดนัน กาซิม รองประธานบริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินเอมิเรตส์ กล่าวว่า เอมิเรตส์ เวิลด์ สโตร์ ในกรุงเทพ เป็นอีกก้าวสำคัญในการเข้าใกล้ลูกค้าของเราในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น กรุงเทพยังคงเป็นหนึ่งในประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่แข็งแกร่งที่สุดของบริษัท และคอนเซ็ปต์สโตร์ใหม่นี้มอบประสบการณ์การค้าปลีกที่ยกระดับและเป็นส่วนตัว ทั้งมอบโอกาสให้ลูกค้าได้สัมผัสผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีที่สุด รวมถึงพื้นที่สำหรับการวางแผนการเดินทางกับเอมิเรตส์
เอมิเรตส์ เวิลด์ สโตร์ แห่งใหม่นี้ นำเสนอความหรูหราอันเป็นเอกลักษณ์ ตั้งอยู่ที่ศูนย์การค้าเกษร ซึ่งเป็นทำเลที่มีศักยภาพและสภาพแวดล้อมที่โดดเด่น ภายในสโตร์มีการจำลอง เอมิเรตส์ A380 ออนบอร์ด เลานจ์ (Emirates A380 Onboard Lounge) เพื่อให้ผู้เยี่ยมชมได้สัมผัสประสบการณ์ความสง่างามของการเดินทางบนเครื่องบินรุ่นเรือธงของเอมิเรตส์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ชั้นประหยัดพรีเมียม (Premium Economy) ซึ่งจะเริ่มให้บริการบนเที่ยวบิน EK372/373 ระหว่างดูไบและกรุงเทพ ในเดือนกรกฎาคมนี้
ขยายสาขาออกไปทั่วโลก
ด้วยพื้นที่ 254 ตารางเมตร การออกแบบสโตร์เป็นแบบเปิดโล่งในสไตล์เลานจ์ สะท้อนถึงการออกแบบภายในเครื่องบินของเอมิเรตส์ที่เน้นความโปร่งสบายและแสงสว่าง ที่เคาน์เตอร์บริการลูกค้า ผู้เชี่ยวชาญของเอมิเรตส์พร้อมให้คำปรึกษาและบริการส่วนบุคคลสำหรับการจองเที่ยวบิน การออกบัตรโดยสาร และข้อมูลการเดินทางทั่วไป รวมถึงประสบการณ์ที่ปรับให้เหมาะสมกับเครือข่ายทั่วโลกของสายการบิน นอกจากนี้ภายในสโตร์ยังมีตู้คีออสแบบอินเทอร์แอคทีฟ จอแสดงผลสำหรับตรวจสอบสถานะเที่ยวบิน
เอมิเรตส์ เวิลด์ สโตร์ ในกรุงเทพฯ เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การขยายธุรกิจค้าปลีกของเอมิเรตส์ ซึ่งต่อยอดจากความสำเร็จของการเปิดตัวในฮ่องกง มะนิลา สิงคโปร์ และเมืองอื่น ๆ โดยเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่สำหรับนวัตกรรมการค้าปลีกด้านการเดินทางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยแผนการลงทุนมูลค่า 27 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงสามปีข้างหน้า สายการบินจะเปิดตัว เอมิเรตส์ เวิลด์ สโตร์ เพิ่มเติมในเมืองสำคัญ ๆ ทั่วโลก เพื่อนำประสบการณ์ลูกค้าที่ยกระดับมาใกล้ชิดกับนักเดินทางทุกแห่ง
ก่อนหน้าประเทศไทย เอมิเรตส์ ได้เปิด เอมิเรตส์ เวิลด์ สโตร์ ในสิงคโปร์ตั้งอยู่ในทำเลใจกลางเมืองที่ Odeon 333 ตรงข้ามกับโรงแรม Raffles Hotel โดยนำเสนอการวางแผนการเดินทางและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญแก่ลูกค้า โดยมีที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญคอยให้บริการ นอกจากนี้ ภายในสโตร์ยังมีจอแสดงผลแบบอินเทอร์แอคทีฟที่ให้ผู้เยี่ยมชมได้สัมผัสประสบการณ์บนเครื่องบินที่ได้รับรางวัลของสายการบินโดยตรง รวมถึงการจำลอง First Class Suite ซึ่งมีเฉพาะที่สิงคโปร์เท่านั้น
“สิงคโปร์เป็นรากฐานสำคัญของการดำเนินงานของเอมิเรตส์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาโดยตลอด และในปี 2567 เพียงปีเดียว เราได้ขนส่งผู้โดยสารมากกว่า 800,000 คนระหว่างสิงคโปร์ และดูไบ เราหวังว่าจะได้ต้อนรับลูกค้าสู่บ้านหลังใหม่แห่งนี้ และเติบโตอย่างต่อเนื่องในสิงคโปร์ในอีกหลายปีข้างหน้า” อัดนัน กาซิม กล่าว พร้อมย้ำว่า จากการศึกษาพฤติกรรม ลูกค้ายังชื่นชอบประสบการณ์การพบปะกับคนจริง ๆ เพื่อซื้อตั๋ว และใช้บริการต่าง ๆ ของสายการบินมากกว่าแบบดิจิทัล
ทั้งหมดนี้คือเหตุผลของการเปิดหน้าร้านของเอมิเรตส์ ที่มีเรื่องงานให้บริการโดยคนจริง ๆ และลูกค้าสามารถมาทดลองสัมผัสบริการต่าง ๆ เหมือนกับบนเครื่องบินก่อนตัดสินใจซื้อตั๋ว และอย่างที่แจ้งไปข้างต้น การเปิดสาขาตามศูนย์การค้า หรือสถานที่สำคัญของสายการบินไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในอดีตมีเอเจนซี่ท่องเที่ยวเปิดรับจองตั๋วตามศูนย์การค้า หรืออาคารสำนักงานต่าง ๆ อยู่แล้ว แต่ที่ใหม่คือ การที่สายการบินมาทำสิ่งนี้ด้วยตัวเอง เพื่อสร้างแบรนด์ และสร้างภาพจำให้ใกล้ชิดกับลูกค้ายิ่งขึ้น
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา