ระยะนี้เราได้ยินวิกฤตในหลายประเทศ ซึ่งผลที่เห็นชัดคือค่าเงินอ่อนค่าลงอย่างชัดเจน อย่างตุรกีที่ค่าเงิน Lira เมื่อเทียบกับต้นปีก็อ่อนค่าลงกว่า 40% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ด้านอาร์เจนตินา อินเดีย อินโดนีเซีย รัสเซีย ค่าเงินก็อ่อนค่าเช่นกัน แล้ววไทยเราล่ะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ไหม
ทั่วโลกจับตาสถานการณ์อาร์เจนตินา-ตุรกี ฉุดเศรษฐกิจโลก
จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย บอกว่า ประเทศ Emerging Markets (กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่) หรือ EM ที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ ประเทศที่ใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงกว่าปกติ อย่างอาร์เจนตินา 60% และตุรกี ที่อยู่ระดับ 17.75%
“เมื่ออัตราดอกเบี้ยสูง ก็ทำให้คนเลือกที่จะออมเงินมากกว่าที่จะเอาเงินไปลงทุน ทำให้เงินที่หมุนเวียนในเศรษฐกิจมีน้อยลง เรียกว่าส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ”
ด้าน อาร์เจนตินา หลักๆ มีปัญหา 2 ส่วน ได้แก่ 1. กลุ่มประเทศอย่างลาตินอเมริกา มักจะมีการผลิตในประเทศเหมือนๆ กันทำให้เขาต้องนำเข้าอาหารอื่นๆ เข้ามาบริโภคค่อนข้างสูง และ 2. เงินลงทุนในธุรกิจส่วนใหญ่ เป็นเงินตราต่างประเทศ (สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ) ทำให้บางครั้งธนาคารกลางของเขามีเงินสกุลดอลลาร์ไม่พอกับความต้องการ ซึ่งทั้งสองปัญหานี้ส่งผลให้ค่าเงินเขายังมีแนวโน้มอ่อนค่าลง
ขณะเดียวกันทางธนาคารกลางของเขาล่าสุดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 60% จาก 45% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 31% และอัตราการว่างงานอยู่ที่ 9.1% (ณ ไตรมาส 1/2561) โดยหลายฝ่ายมองว่าอีก 1-2 ไตรมาสจากตอนนี้เราจะเห็นตัวเลขพุ่งขึ้นไปเกิน 20% เพราะเศรษฐกิจเขาจะแย่ลงกว่านี้
ด้าน ตุรกี อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 17.75% ส่วนอัตราเงินเฟ้อ 15.9% (ณ เดือน 7) อัตราการว่างงาน 9.7% (ณ เดือน 5) ซึ่งเป็นภาพเดียวกับอาร์เจนตินาว่าหลังจากนี้ 1-2 ไตรมาส น่าจะเพิ่มขึ้นเกิน 20% กว่า
โดย 2 ประเทศนี้ในระยะสั้นจะไ่ส่งผลกระทบต่อไทย แต่ระยะต่อไปเราต้องจับตามองภายใน 3-6 เดือนถัดจากนี้ ที่เราคาดการณ์ว่า จีดีพีของทั้ง 2 ประเทศนี้อาจจะติดลบ และส่งผลกระทบให้จิดีพีโลกอาจจะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 3.7-3.8% จากปัจจุบันที่ IMF คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 3.9% ทั้งปีนี้และปีหน้า
หมายเหตุ ตัวเลขเศรษฐกิจของแต่ละประเทศจะออกมาในช่วงเวลาที่ต่างกัน
ระยะสั้นเศรษฐกิจ อินโดฯ-รัสเซีย-จีนไม่กระทบไทย
ขณะเดียวกันประเทศในเอเชียที่ค่าเงินเขาอ่อนค่ายังมีหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย รัสเซีย และคู่ค้าหลักของไทยอย่างจีน แต่ธนาคารกรุงไทยเรามองว่าในระยะสั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยถ้ามีผลกระทบจะไม่เยอะมาก
อย่าง รัสเซีย อัตราเงินเฟ้อ 2.5% อัตราว่างงาน 4.7% ซึ่งพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศนี้แข็งแกร่ง แต่มีปัจจัยเสี่ยงเรื่องการเมืองที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร แะส่งผลกระทบขนาดไหน เลยทำให้ไทยเราต้องจับตามองเรื่องนี้
ในขณะที่ อินโดนีเซีย แม้ว่าค่าเงินเขาจะอ่อนค่าลง แต่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ระดับต่ำที่ 3.2% และมีแนวโน้มที่ดีว่าอัตราการว่างงานที่ 7.3% อาจจะปรับลดลงในอนาคตได้อีก เพราะเศรษฐกิจยังมีการขยายตัวในระดับสูง
อย่างไรก็ตามทั้ง 2 ประเทศนี้เป็นผู้ส่งออกน้ำมัน ดังนั้นเทรนด์ราคาน้ำมันที่เป็นขาขึ้น (70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล) ก็ทำให้เศรษฐกิจทั้ง 2 ประเทศนี้ยังเติบโตได้
“ถ้าถามว่าไทยเราอาจจะได้รับผลกระทบจาก Emerging Markets หลักๆ จะมาจากจีนที่เป็นคู่ค้าหลักของเรา และถ้าประเทศใกล้ๆ เราคือ อินโดนีเซีย ที่ค่าเงินเขาอ่อนค่าลง”
อย่างไรก็ตามทางออกของประเทศไทย เรายังมองว่ามาจากการลงทุนภาคเอกชน และการกระตุ้นบริโภคในประเทศ ในทุกเซคเตอร์
วิกฤตจากประเทศอื่นใน Emerging Markets กระทบไทยได้ไง ?
ดังนั้นจากปัญหาของ Emerging Markets ทั่วโลก จะส่งผลกระทบต่อไทยใน 2 ปัจจัย ได้แก่ 1. ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะกระทบแค่ระยะสั้น และไม่มาก แต่ระยะยาวต้องจับตามองปัจจัยทางการเมืองและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของ EM ทั่วโลก
ส่วนที่ 2. ผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุน เห็นได้จากเงินลงทุนต่างชาติที่ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยกว่า 201,000 ล้านบาท ตั้งแต่เดือนม.ค.2561 ที่ผ่านมา สาเหตุก็เพราะนักลงทุนต่างชาติเขามองประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศ EM ดังนั้นเวลาเขานำเงินมาลงทุนเขาจะกระจายการลงทุนในหลายประเทศกลุ่มเดียวกัน พอเวลาเขากังวลเรื่องความเสี่ยงก็ดึงเงินลงทุนออกจากประเทศกลุ่มนี้ทั้งหมด
“ไทยเราต้องทนให้ได้ แต่ถ้าถามว่าต่างชาติเขาจะกลับมาซื้อหุ้นไทยเมื่อไร ต้องรอดูเทรนด์การเมืองทั้งโลกกลับมาดีขึ้น ซึ่งเรื่องนี้คาดเดายาก ถ้าระยะใกล้ๆ นี้นักลงทุนจับตามองการเลือกตั้ง Mid Term ของสหรัฐฯ ว่าโดนัลด์ ทรัมป์ จะได้อยู่ต่อไหม ถ้าได้อยู่ต่อ คนอาจจะลดความกังวลในโลกได้ และกลับมาลงทุนในไทย”
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา