ไทยขายการท่องเที่ยว แต่ไม่แก้ปัญหาเรื่องขายหน้า รวมปัญหาที่รัฐบาลยังแก้ไม่ได้

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีคนดังอย่าง Russel Crowe นักแสดงฮอลลีวูดโพสต์ภาพสายไฟสายเคเบิลที่รุงรังในกรุงเทพ แต่คนดังอย่าง Bill Gates ก็เคยโพสต์จนเป็นประเด็นระดับโลกมาแล้วเมื่อปี 2559 ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นภาพแปลกตาสำหรับชาวต่างชาติ (อาจยกเว้นอเมริกาไว้ประเทศหนึ่งที่ก็ยังเอาสายลงดินไม่หมดเช่นกัน) และอาจสร้างความอับอายให้เจ้าบ้านอย่างเรา ในฐานะประเทศที่ขายการ ท่องเที่ยว แต่ทัศนียภาพของเมืองกลับไม่สวยงามเท่าไหร่นัก

ปัญหานี้ก็ไม่ใช่ปัญหาเดียวที่นักท่องเที่ยวจะเจอในบ้านเรา และหลายๆ ปัญหาล้วนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่ว่าจะกี่รัฐบาลก็แก้ไม่ได้หรือไม่คิดจะแก้ บางปัญหาส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยว ไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์ แต่เป็นความเชื่อมั่นที่นักท่องเที่ยวจะเลือกมาเที่ยวไทยด้วยซ้ำไป แม้บ้านเราจะมีสิ่งที่เชิดหน้าชูตาด้านการท่องเที่ยวอย่าง อาหาร, วัฒนธรรมและสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติมากมายก็ตาม

คำถามคือต้องอีกกี่รัฐบาลปัญหาที่ทั้งกระทบความเชื่อมั่นและสร้างความอับอายให้กับประเทศในฐานะประเทศท่องเที่ยวเหล่านี้จะหมดไป?

ท่องเที่ยวไทย

สายไฟและสายเคเบิลรกรุงรัง

ภาพสายไฟฟ้าและสายเคเบิลห้อยพาดตามฟุตบาธ ริมถนนหรือสะพานลอย เป็นภาพที่เราพบเห็นได้ทั่วไป แต่อาจจะไม่ใช่เรื่องปกติสำหรับชาวต่างชาติมากนัก ทำให้เราอาจจะได้เห็นการโพสต์ภาพเหล่านี้จากชาวต่างชาติค่อนข้างบ่อย ที่ดังๆ ก็มี Bill Gates ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟต์ที่เคยโพสต์เรื่องนี้เมื่อปี 2559 และล่าสุดก็นักแสดงชาวนิวซีแลนด์ Russel Crowe

อย่างไรก็ตาม สายที่เป็นปัญหา ที่เราเห็นห้องระโยงระยาง และรกรุงรังตามฟุตบาธหรือสะพานลอย คือสายเคเบิลทีวี สายโทรศัพท์และสายอินเทอร์เน็ตของผู้ให้บริการโทรคมนาคมเป็นหลัก ส่วนสายไฟฟ้าแรงดันต่ำที่ลากผ่านในเมือง อาจส่งผลแค่ทัศนียภาพและความสวยงามมากกว่าเท่านั้น

ทั้งนี้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มีแผนเริ่มดำเนินการนำสายไฟฟ้าลงดินมาตั้งแต่ปี 2527 หรือกว่า 37 ปีที่แล้ว โดยแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของ กฟน. นี้ ครอบคลุมกรุงเทพ, นนทบุรีและสมุทรปราการ ระยะทางรวม 236.1 กม. มีกรอบระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่ปี 2527 – 2567 มีทั้งหมด 8 แผนย่อย  และข้อมูลล่าสุดเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม ดำเนินการแล้วเสร็จ 48.6 กม.

ท่องเที่ยวไทย
แต่ที่ผ่านมาเรายังเห็นสายเคเบิลห้อยระโยงระยางอยู่ เพราะ กฟน. ดำเนินงานแต่ส่วนของสายไฟฟ้าเท่านั้น และเรื่องการนำสายเคเบิลและสายไฟลงดินทั้งหมดนี้ก็เพิ่งเป็นรูปเป็นร่างเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมานี้เองที่ กฟน., กสทช., กทม., กรมตำรวจและผู้ให้บริการสายสื่อสารทั้งหมด เพิ่งลงนามใน MOU ร่วมกันนำสายเคเบิลและสายไฟฟ้าลงดิน โดยแผนระยะแรกครอบคลุมระยะทาง 127 กม. ซึ่ง กฟน. คาดว่าระยะเวลาจะอยู่ที่ราว 5 ปี

ถนนที่เราพอจะเห็นว่าไม่มีสายไฟฟ้าและสายเคเบิลแล้วก็มีโครงการสีลม, จิตรลดา, ปทุมวัน, พหลโยธิน, พญาไท, และสุขุมวิทบางส่วน

ท่องเที่ยวไทย
ภาพจาก PMDU

ปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์

กรณีที่โด่งดังไปทั่วโลกเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ของไทยคือการโพสต์ภาพของ Sung Kang หรือ Kang Sung-Ho นักแสดงชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลี ที่โด่งดังจากบท ฮาน ในภาพยนตร์ชุด Fast and Furious ซึ่งโพสต์ภาพแผ่นดีวีดี Fast and Furious 6 เถื่อนเมื่อปี 2556 ตามด้วย Bruno Mars นักร้องชาวอเมริกัน ที่โพสต์ภาพคู่กับแผ่นซีดีเถื่อนของตัวเองในกรุงเทพเมื่อปี 2557

แม้ระยะหลังเราอาจจะเห็นการตื่นตัวของกรมทรัพย์ทางปัญญา เรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์มากขึ้น แต่ภาพลักษณ์ของไทยในสายตานานาชาติ ยังคงมีปัญหาอยู่ รายงานการศึกษาการป้องกันและบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญหาของคณะกรรมาธิการยุโรปฉบับล่าสุด ก็ระบุว่าแม้รัฐบาลไทยจะให้คำมั่นเรื่องกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ยังคงไม่เห็นการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม กระบวนการจัดการการละเมิดลิขสิทธิ์ต่างๆ ยังขาดความโปร่งใส และขาดมาตรฐานธรรมาภิบาลที่ดี ขณะที่สินค้าปลอมบนโลกออนไลน์ก็ยังมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ข้ามฟากไปอเมริกา ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาโลก (Global Intellectual Property Center – GIPC) ของหอการค้าสหรัฐ ก็เพิ่งออกรายงานดัชนีทรัพย์สินทางปัญญาประหว่างประเทศ (International Intellectual Property Index – IIPI) ประจำปี 2564 ซึ่งมีการวัดคะแนนจาก 6 ประเภทการคุ้มครองคือ สิทธิบัตร, ลิขสิทธิ์, เครื่องหมายการค้า, สิทธิบัตรด้านการออกแบบ (design rights), ความลับทางการค้าและการเข้าสู่ตลาดของสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์

ปรากฎว่าไทยได้คะแนนรวมเพียง 35.56 จาก 100 คะแนน อันดับ 48 จาก 53 ประเทศที่มีการสำรวจ (จีนที่ขึ้นชื่อเรื่องสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ยังได้คะแนนจากดัชนีนี้ถึง 80.83) แม้จะดึขึ้นจากปีที่แล้วที่ได้ 33.96 คะแนนก็ตาม

ท่องเที่ยวไทย
ที่น่าสนใจคือกรุงเทพโพลล์เคยทำแบบสำรวจเมื่อปี 2559 พบว่า 53.7% ระบุว่าปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกัน  63% กลับระบุว่าเคยซื้อสินค้าลิขสิทธิ์เช่นกัน

ระบบขนส่งสาธารณะ ที่ควรสะดวกไม่ใช่ภาระ

หากใครเคยไปต่างประเทศคงคุ้นชินกับระบบขนส่งสาธารณะ ไม่ว่าจะรถเมล์ รถไฟฟ้า รถไฟ รถบัสหรือรถเคเบิลคาร์ ที่มีคุณภาพทั้งในแง่การบริการ การโยงใยเชื่อมถึงกันแม้จะข้ามเมือง และในแง่การสื่อสารบอกเส้นทางสำหรับชาวต่างชาติ ซึ่งเราในฐานะนักท่องเที่ยวที่ไปเยือน ก็เดินทางไปไหนมาไหนสะดวก

หันกลับมามองเมืองไทย ปัญหาหลักๆ ของระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะกรณีของรถเมล์ที่ควรจะเป็นระบบขนส่งพื้นฐานที่สุด แต่กลับปัญหาอาจจะที่สุดทั้งในแง่คุณภาพการให้บริการ รถเก่า รถซิ่ง รอนาน รถไม่พอ ป้ายรถเมล์ที่ไม่บอกเส้นทางและสายที่ชัดเจน 

จราจร

เมื่อระบบขนส่งที่ควรจะพื้นฐานที่สุด กลับไม่มีประสิทธิภาพที่สุด นักท่องเที่ยวหรือแม้แต่คนเมืองก็ต้องหนีและดิ้นรนยอมจ่ายแพงไปใช้บริการอย่างอื่น เช่น รถแท็กซี่หรือรถไฟฟ้า ซึ่งกรณีของรถไฟฟ้าที่เป็นระบบขนส่งสาธารณะหลัก ก็ไม่ได้มีการออกแบบและวางแผนให้เชื่อมโยงกับระบบขนส่งมวลชนรอง ทำให้ทางเลือกของนักท่องเที่ยวในการเดินทางในเมือง เหลือทางที่ง่ายที่สุดคือแท็กซี่หรือตุ๊กตุ๊ก ซึ่งก็ต้องเจอปัญหารถติดและ อีกปัญหาคือเสี่ยงถูกโขกราคาแพง


แท็กซี่โขกราคา หนีไม่พ้นปัญหามาเฟีย

ปัญหาแท็กซี่ไม่เปิดมิเตอร์และคิดราคาเหมา ล้วนเจอทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยว แต่โอกาสน่าจะเกิดกับนักท่องเที่ยวมากกว่า เพราะหาทางหนีทีไล่ในการเดินทางได้ยาก โดยเฉพาะจากสนามบินในต่างจังหวัด 

อย่างกรณีล่าสุดที่เจอในกลุ่ม Expats in Thailand บนเฟซบุ๊ก ชาวต่างชาติเล่าว่าถูกโขกราคาแท็กซี่จากสนามบินสมุยไปโรงแรมที่ 700 บาท ต่อรองลงมาก็เหลือถึง 400 ครั้นจะเรียก Grab คนขับก็ไม่กล้าขับมารับในสนามบิน

ท่องเที่ยวไทย

จริงอยู่ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากตัวคนขับแท็กซี่เอง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาครัฐเองก็ไม่สามารถจัดการปัญหานี้ได้อย่างจริงจัง แม้จะมีข่าวว่ากรมการขนส่งพยายามจัดการปัญหานี้อยู่หลายต่อหลายครั้ง ขณะที่ Post Today เคยรายงานแฉมาเฟียแท็กซี่สุวรรณภูมิเมื่อ 2557 ว่าเรื่องนี้มีผู้มีอำนาจและคนมีสีอยู่เบื้องหลัง ซึ่งถึงแม้ภาครัฐดูจะแก้ปัญหาแท็กซี่ที่สุวรรณภูมิได้แล้ว แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในพื้นที่สนามบินจังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ ก็คงมีเบื้องหลังที่คล้ายกัน

สรุป

ในมุมธุรกิจ การรักษาลูกค้า (retention) ก็สำคัญไม่แพ้การหาลูกค้าใหม่ (acquistion) เช่นกันในมุมการท่องเที่ยวที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก ก็ควรจะแก้ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อประสบการณ์การท่องเที่ยว อย่างเช่นการขนส่งหรือปัญหาแท็กซี่ ไม่รวมการจัดการสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ให้สะดวก สะอาดและปลอดภัย ที่อาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวเลือกที่จะไม่กลับมาอีกก็ได้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา