ทำไม เจ้าพ่อรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง Elon Musk ถึงเป็นผู้ชนะที่แท้จริงในสงครามการค้า

Elon Musk มหาเศรษฐีเบอร์ 1 ของโลก เจ้าของบริษัทรถยนต์ไฟฟ้า Tesla คือผู้ชนะอย่างแท้จริงในสงครามการค้าระหว่างสองยักษ์ทางเศรษฐกิจอย่างจีนและสหรัฐฯ 

Tesla Elon Musk

สหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีที่สูงกับจีน แต่ก็ยังไม่สามารถลดการขาดดุลการค้าได้ ซ้ำร้ายยังมีการลงทุนไหลไปจีนเพิ่มขึ้นจนแตะระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์อยู่ดี 

จีน ก็กำลังเผชิญกับกำแพงทางการค้าอันสูงลิบ ทำให้จีนต้องลงทุนเพิ่มขึ้นมหาศาลเพื่อดึงดูดบริษัทที่มีเทคโนโลยีระดับสูงให้เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นในประเทศจีน

Elon Musk ที่มีบริษัทรถยนต์ไฟฟ้า Tesla เบอร์ 1 ของโลก จึงได้รับอานิสงค์จากสงครามการค้าไป

จีนต้องการให้ Elon Musk เข้ามาลงทุน ยกระดับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในจีน

จีนให้ความสนใจกับการพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีระดับสูงมาตั้งแต่ครึ่งหลังของทศวรรษ 2010 และปรับแผนเศรษฐกิจมหภาคเพื่อเพิ่มการพัฒนาทางเทคโนโลยีอยู่เสมอ โดยสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ รถยนต์ไฟฟ้าและระบบขับเคลื่อนแบบไร้คนขับคือภาพอนาคตของอุตสาหกรรม ส่วนรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยการเผาไหม้คืออดีต

ในด้านหนึ่ง จีนต้องการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงและมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเพื่อยกระดับความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ส่วนในอีกด้านหนึ่ง จีนทราบดีว่าตนตามหลังประเทศอื่นไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เยอรมนี หรือสหรัฐฯ อยู่ไกล ในอุตสาหกรรมรถยนต์แบบดั้งเดิม 

Elon Musk ซึ่งดูจะเป็นเบอร์ 1 ในอุตสาหกรรมรถยนต์แบบใหม่ เป็นที่ต้องตาต้องใจของจีน เพราะหากเขาเข้ามาลงทุนในจีน นอกจากการสร้างโรงงานซึ่งสร้างเม็ดเงินและการจ้างงานให้กับจีนอย่างมหาศาลแล้ว เขายังเข้ามาทำการวิจัยและพัฒนาในประเทศจีน นั่นทำให้จีนสามารถยกระดับเทคโนโลยีที่ทันสมัยในอุตสาหกรรมยานยนต์ แถมยังช่วยพัฒนาห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้มหาศาล

Tesla Elon Musk

เช่น กรณีของ Contemporary Amperex Technology บริษัทแบตเตอรี่สัญชาติจีนที่เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ให้กับ Tesla ก็มีระดับเทคโนโลยีที่สูงขึ้น มูลค่าหุ้นเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า ในปี 2020 จนมีมูลค่าบริษัทกว่า 1.4 แสนล้านดอลลาร์ และนี่คือภาพที่จะเกิดขึ้นทั้งห่วงโซ่การผลิต

Scott Kennedy ที่ปรึกษาอวุโสของ Center for Strategic & International Studies ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจีนกล่าวว่า ความคาดหวังของจีนในการให้ Tesla เข้ามายกระดับอุตสาหกรรม คล้ายกับตอนที่ Apple เข้ามาผลิต iPhone ในจีน ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมข้างเคียงเติบโต จนเพียงพอที่บริษัทท้องถิ่น เช่น Huawei, Oppo, Vivo และ Xiaomi สามารถลืมตาอ้าปากมาแข่งขันกับ Apple เองได้

Huawei หัวเว่ย Canada Office
ภาพจาก Shutterstock

Elon Musk คือนายทุนต่างชาติคนโปรดของจีน 

ย้อนกลับไปในปี 2018 หลังสงครามการค้าได้เริ่มต้นขึ้นจนทำให้การค้าระหว่างประเทศปั่นป่วน

3 ใน 4 ของบริษัทที่เป็นสมาชิกของหอการค้าอเมริกันในจีน รู้สึกว่าจีนต้อนรับการลงทุนของบริษัทอเมริกันน้อยลง และไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมเท่ากับบริษัทท้องถิ่นเหมือนอย่างเคย

นั่นเป็นหนังคนละม้วนกับกรณีของ Elon Musk แม้กำแพงภาษีจะสูงขึ้น แต่ Elon Musk ก็ยังเป็นนายทุนต่างชาติคนโปรดของจีน กำแพงภาษีไม่ใช่สิ่งที่ขวางกั้นความสัมพันธ์หวานชื่นของ Elon Musk กับจีนได้

เพราะเมื่อสหรัฐฯ ตั้งกำแพงทางการค้าไว้สูง จีนจึงต้องมอบสิทธิพิเศษมหาศาลเพื่อดึงดูดให้ Tesla มาลงทุนในจีน

โรงงาน Tesla ในจีนได้รับการสนับสนุนจากทางการในช่วงโควิดมหาศาล

หลังจากโควิดได้เริ่มต้นแพร่ระบาดในจีนจนทำให้กิจกรรมต่างๆ จนหยุดชะงัก ล่าสุด รัฐบาลจีนประกาศให้เริ่มกลับมาทำกิจกรรมต่างๆ ได้ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2020 หลังจากเริ่มจัดการกับการระบาดได้ดีขึ้น

โรงงานของ Tesla กลับมาทำการผลิตได้ในในอัตรา 1,000 คัน/สัปดาห์ ตั้งแต่สัปดาห์แรก และสามารถแตะระดับ 3,000 คัน/สัปดาห์ ซึ่งเป็นอัตราที่เร็วกว่าช่วงก่อนการระบาดได้ในเดือนต่อมา ในขณะที่โรงงานรถยนต์อื่นๆ เช่น Toyota และ Volkswagen ยังไม่สามารถกลับมาทำการผลิตเต็มรูปแบบด้วยซ้ำ

ข้อมูลจาก Bloomberg Businessweek ชี้ว่า โรงงาน Giga Shanghai ในเซี่ยงไฮ้ของ Tesla ได้รับการสนับสนุนจากทางการจีนอย่างเต็มกำลัง

  • มีแรงงานนับพันกลับมาทำงานตั้งแต่วันแรกๆ หลังล็อคดาวน์
  • มีรถรับส่งของทางการที่คอยรับส่งไปกลับระหว่างโรงงานและหอพักที่ทางการคอยดูแลความปลอดภัย ไม่ให้พนักงานคลุกคลีกับชุมชนข้างเคียงเพื่อป้องกันโควิด
  • มีข้าวของที่ทางการเข้ามาช่วยควบคุมอย่างข้มงวดให้มีใช้อย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากาก N-95 หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ

ความสัมพันธ์ของทั้งสองดีมาตั้งแต่ปี 2018 

ที่จริงแล้ว ก่อนวิกฤติการระบาด ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและ Tesla อยู่ในระดับดีมาก เดิมทีแล้วในอุตสาหกรรมรถยนต์ บริษัทต่างชาติที่จะเข้ามาเปิดบริษัทในจีนจะต้องร่วมทุนกับบริษัทในจีนคนละครึ่ง และมีข้อบังคับให้แบ่งปันเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญระหว่างกัน

ทว่า ในปี 2018 หลังจาก Tesla มีโปรเจกต์ที่จะสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดยักษ์นอกสหรัฐฯ และได้หมายตาทำเลในเซี่ยงไฮ้เอาไว้ รัฐบาลจีนได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ และให้คำมั่นสัญญาในเดือน เมษายน ปี 2018 ว่าจะยกเลิกกฎเกณฑ์ดังกล่าวภายในปี 2022 และมีข้อยกเว้นพิเศษให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าโดยการยกเลิกกฎเกณฑ์ดังกล่าวให้ทันที

3 เดือนต่อมา Tesla จึงเซ็นข้อตกลงสร้างโรงงานที่มีกำลังผลิตรถยนต์ได้ 500,000 คัน/ปี โดยใช้ชื่อว่า Giga Shanghai และในช่วงต้นปี 2019 ธนาคารต่างๆ ที่กำกับดูแลโดยรัฐบาลยื่นข้อเสนอให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อสร้างโรงงาน คิดเป็นมูลค่ากว่า 521 ล้านดอลลาร์ 

เท่านั้นไม่พอ ในเดือนสิงหาคม 2019 รัฐบาลจีนยังประกาศงดเว้นภาษีการขาย 10% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ไม่ว่าจะเป็นรถที่ผลิตในจีนหรือเป็นรถนำเข้าก็ตาม

ยังมีข่าวลือว่า บริษัทโรงงาน Tesla ในจีนมีช่องทางติดต่อ Xi Jinping ประธานาธิบดีจีนได้โดยตรงอีกด้วย 

ทั้งหมดนี้ทำให้ Elon Musk มีสิทธิพิเศษมหาศาลในการเข้าถึงตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญที่สุดนอกจากสหรัฐฯ ในปี 2020 Tesla มีรายได้จากจีนคิดเป็น 1 ใน 5 ของรายได้ทั้งหมด

รายได้ของ Tesla ปี 2020 เพิ่มขึ้นจากปี 2019 เกือบ 3 เท่าตัว นี่แปลว่าการลงทุนในจีนเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผลักดันให้ Elon Musk กลายเป็นมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกในปีที่ผ่านมา

กำแพงการค้าที่สูงใหญ่ของสหรัฐฯ กดดันให้จีนต้องทุ่มเงินมากขึ้นเพื่อดึงดูดบริษัทระดับต้นๆ จากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุน และ Elon Musk ก็เป็นผู้ที่สามารถเข้ามากอบโกยผลประโยชน์จากความขัดแย้งครั้งนี้ไป

อนาคตที่ยังไม่แน่นอน

แม้จะความสัมพันธ์ของ Tesla และจีนยังหวานชื่น แต่ต้องไม่ลืมว่าจีนยังคงเป็นประเทศอำนาจนิยมที่มีบทบาทสูงในระบบเศรษฐกิจ ว่ากันว่าบริษัทที่จะลงทุนจนประสบความสำเร็จในจีนจะต้องได้รับความสนับสนุนจากทางการ 

และในวันนี้ Tesla ยังไปได้สวยในจีนเพราะ Tesla อยู่ในอุตสาหกรรมที่จีนต้องการพัฒนา และทางการจีนยังคงยอมรับใน Tesla อยู่ น่าสนใจว่าหากบริษัทต่างๆ ในจีนเริ่มเติบโตจากการเข้ามายกระดับห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าโดย Tesla จนสามารถแข่งขันได้แล้ว แล้ว Tesla จะมีอนาคตอย่างไรต่อไป 

ที่มา – Bloomberg (1) (2)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน