มุมมองเอเยนซี่: ทำถูกแล้วที่เศรษฐีซื้อช่องดิจิทัล เพราะแข่งหนัก มีแค่ 10 ช่องยังเหนื่อย

ช่วงนี้กลุ่มเศรษฐีหันมาช้อปปิ้งช่องทีวีดิจิทัลเป็นว่าเล่น ล่าสุดก็กลุ่ม ไทยเบฟฯ ของตระกูลสิริวัฒนภักดี ที่ซื้อช่อง GMM25 ไป แล้วเหตุการณ์นี้จะมีอีกหรือไม่ ลองมาฟังมุมมองจาก Media Intelligence มีเดียเอเยนซี่ไทยกัน

ภาพจาก Flickr ของ Roland Tanglao

ถูกต้องแล้วที่เศรษฐีเข้ามาซื้อทีวีดิจิทัล

หลายคนคงมองว่าการเข้ามาซื้อกิจการช่องทีวีดิจิทัลของกลุ่มเศรษฐีทุนใหญ่ในประเทศไทยอาจเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะบางรายก็มีช่องทีวีดิจิทัลของตัวเองอยู่แล้ว แต่ทำไมถึงเข้ามาซื้อเพิ่ม หรือไม่ก็ตัวเองมีธุรกิจใหญ่โต การเข้ามาซื้อสื่อจะทำให้ตัวสินค้ามีแต้มต่อในการเข้าถึงผู้บริโภคมากกว่าคู่แข่งหรือเปล่า

ภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI กลับมองว่า ในแง่การลงทุนถือว่าคุ้มค่า เพราะกลุ่มทุนเหล่านี้สามารถซื้อกิจการช่องทีวีดิจิทัลได้ในราคาที่ค่อนข้างดี และยังเห็นโอกาสการใช้สื่อทีวีดิจิทัลในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด

“ในมุมนักลงทุน ผมมองว่ากลุ่มเศรษฐีคงเข้ามาหากำไร เพราะซื้อมาได้ราคาค่อนข้างดี แต่กลุ่มทุนเหล่านี้จ่ายเงินลงทุนอย่างเดียว ไม่ได้เข้าไปบริหาร โดยปล่อยให้กลุ่มผู้บริหารเดิมที่เชี่ยวชาญในตัวธุรกิจมากกว่ามาดูแลเหมือนเดิม นอกจากนี้ยิ่งกลุ่มเศรษฐีมีสินค้า และบริการในมืออยุ่มาก การอยากได้สื่อไว้ในมือก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก”

ซื้อโฆษณาอยู่แล้ว ก็ซื้อช่องเลยแล้วกัน

ขณะเดียวกันกลุ่มเศรษฐีประเทศไทย เช่นไทยเบฟฯ ก็มีการซื้อโฆษณากับทางช่อง GMM25 เพื่อปั้นสินค้าทั้งเครื่องดื่ม Est และโออิชิ ให้เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น เพราะทางช่องนั้นทำตลาดกับผู้ชมกลุ่มนี้ได้ดี ทำให้การลงทุนซื้อช่อง เพื่อพัฒนามุมธุรกิจใหม่ๆ เช่นจัดกิจกรรมการตลาด หรือสร้างรายการสนับสนุน น่าจะคุ้มกว่าแค่ซื้อโฆษณาอย่างเดียว

และเมื่อภาพรวมเม็ดเงินโฆษณาในประเทศไทยยังไม่ค่อยดีนัก และตัวทีวีดิจิทัลก็แข่งกันสูง จึงมองว่าในช่วงปลายปี จนถึงปีหน้าจะเกิดเหตุการณ์ทุนใหญ่ซื้อกิจการทีวีดิจิทัลเพิ่ม โดยเฉพาะช่องข่าว กับช่องครอบครัวและเด็ก เพราะกลุ่มนี้อ่อนแอมากในแง่ผู้ชม และรายได้ แต่ด้วยช่องเหล่านี้เจ้าของเดิมก็มีสายป่านยาวอยู่ จึงต้องรอเวลาที่เหมาะสม

10 ช่องก็ยังเหนื่อย ถ้าทุกคนยังไม่ปรับตัว

แม้กสทช. จะเริ่มแบะท่าให้คืนช่องทีวีดิจิทัลแล้ว และทาง MI คาดว่าทั้งตลาดจะเหลือราว 15 ช่องที่ให้บริการได้ แต่เมื่อสถานการณ์ทีวีดิจิทัลยังเหมือนเดิม รวมถึงผู้บริโภคก็มีช่องทางเสพสื่อที่หลากหลายโดยเฉพาะออนไลน์ ทำให้ถึงจะลดลงมาเหลือแค่ 10 ช่อง ผู้เล่นในตลาดนี้ก็ยังเหนื่อยในการแย่งเม็ดเงินโฆษณาจากฝั่งออนไลน์

สรุป

ด้วยตัวช่องที่มีเนื้อหาซ้อนกันระหว่างช่องครอบครัว และเด็ก และช่องข่าว กับช่องวาไรตี้ SD กับ HD ซึ่งฝ่ายหลังนั้นมีฐานผู้ชมที่มากกว่า ทำให้แบรนด์ก็เลือกลงช่องทางนี้เยอะ ทำให้ช่องครอบครัว และเด็ก กับช่องข่าว อาจได้เม็ดเงินไม่ถึง 10% ของเม็ดเงินทีวีดิจิทัลทั้งหมดก็ได้ ดังนั้นคงไม่แปลกที่ช่องเหล่านี้ต้องคืนช่อง หรือมีคนมาซื้อกิจการต่อ

สำหรับเม็ดเงินโฆษณาปีนี้ Media Intelligence มองว่าจะติดลบ 13% จากปีก่อน เพราะไม่มีปัจจัยบวกใดๆ รวมถึงช่วงครึ่งหลังของเดือนต.ค. แบรนด์ต่างๆ ก็หยุดซื้อสื่อ และจะกลับมาซื้ออีกทีช่วงต้นเดือนพ.ย. ดังนั้นคนในวงการสื่อคงต้องรอปีหน้ากว่าทุกอย่างจะกลับมาปกติ และเม็ดเงินโฆษณาก็อาจกลับมามีมูลค่าเทียบเท่าปี 2559 เท่านั้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา