สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมในประเทศ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ไม่ใช่แค่คนที่ทำงานในภาคการท่องเที่ยวต้องตกงาน แต่ช้างก็กำลังตกงานเช่นเดียวกัน
ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวคิดเป็น 20% ของ GDP ทั้งหมด และแรงงานกว่า 16% ทำงานอยู่ในภาคการท่องเที่ยว ในสถานการณ์ปกติมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยกว่า 40 ล้านคนต่อปี ในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน 25% หรือกว่า 10 ล้านคน
เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศจีน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศลดลงกว่า 44% เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ของปีที่ผ่านมา แม้จะเข้าสู่เดือนมีนาคมแล้ว แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้นแต่อย่างใด
จำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงอย่างต่อเนื่องส่งผลต่อยอดเข้าชมปางช้างทั่วประเทศ ทำให้ช้างกว่า 1,000 ตัว ไม่มีงานทำ และมีความเป็นอยู่ในอนาคตที่ไม่แน่นอน เพราะค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงช้าง 1 ตัว อยู่ที่ประมาณ 1,300 บาทต่อวัน มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่คนไทยได้รับในแต่ละวันถึง 3 เท่า
ธีรภัทร ตรังปราการ นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย มีความกังวลกับสถานการณ์ดังกล่าว หากภาครัฐบาลไม่เข้ามาจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น ช้างพวกนี้อาจต้องกลับเข้าสู่การทำงานผิดกฎหมาย คือการพาช้างไปเดินขอทานตามถนน เพื่อขอเงินซื้ออาหารให้ช้างกิน หรือใช้ช้างเพื่อขนไม้ผิดกฎหมาย ซึ่งจะเป็นอันตรายกับสวัสดิภาพของช้างเอง สร้างความกังวลว่าจะเป็นการพาช้างกลับไปสู่วังวนของปัญหาเก่าๆ ที่เคยแก้ไขได้แล้วในอดีต
บพิตร ชัยเลิศ ผู้บริหารของปางช้างแม่แตง หนึ่งในปางช้างที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ เล่าว่า ขณะนี้ปางช้างแม่แตงยังเปิดทำการอยู่ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงกว่า 90% จากที่เคยมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากกว่า 1 พันคนต่อวัน ทำให้ปางช้างต้องลดชั่วโมงการทำงานของพนักงานลง เพื่อแก้ปัญหา ส่วนปางช้างอื่นๆ ในภาคเหนืออีกกว่า 85 แห่ง ได้ปิดให้บริการชั่วคราวแล้วเพราะไม่มีนักท่องเที่ยว
การแก้ปัญหาช้างตกงานเป็นเรื่องยาก เพราะช้างเป็นสิ่งมีชีวิต ไม่ใช่สิ่งของ จากสถิติในประเทศไทยมีช้างเลี้ยงกว่า 3,800 ตัว และช้างป่าอีกกว่า 3,000 ตัว การปล่อยช้างเลี้ยงเข้าสู่ป่าเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย และช้างเลี้ยงไม่สามารถหาอาหารในป่าได้เอง เพราะเคยชินกับการให้อาหารของควาญช้างไปแล้ว ประกอบกับปริมาณอาหารในป่าไม่เพียงพอที่จะรองรับช้างทั้งหมดพร้อมๆ กันได้
ไม่ใช่ปางช้างเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่เจ้าของช้างให้เช่าก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เจ้าของช้างรายหนึ่งเล่าว่า เขาต้องไปรับช้างกลับมาจากปางช้างเป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปี โดยยังไม่รู้กำหนดว่าปางช้างจะรับช้างกลับไปอีกครั้งเมื่อไหร่
ที่มา – Straits times
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา