ว่าด้วยเรื่องพลังงานไฟฟ้า ไทยเผชิญต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงขึ้น คาดปี 66 ปรับเพิ่มอีก 16% จากปัจจุบัน!

  • ไทยจะยังคงเผชิญแนวโน้มค่าไฟที่มีทิศทางขาขึ้นต่อเนื่องในปีหน้า จากต้นทุนเชื้อเพลิงที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบกับการทยอยลดภาระอุดหนุนค่าไฟของภาครัฐ และเงินบาทที่ผันผวนในทางอ่อนค่า
  • ในระยะเฉพาะหน้า ผู้ประกอบการอาจจำเป็นต้องรณรงค์ประหยัดไฟอย่างจริงจัง ขณะที่ในระยะกลาง ผู้ประกอบการที่มีความพร้อม อาจพิจารณาปรับใช้แหล่งพลังงานทางเลือกอื่นซึ่งมีต้นทุนค่าไฟที่ต่ำกว่า โดยเฉพาะโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งสามารถตอบโจทย์ได้ทั้งด้านต้นทุนค่าไฟและกระแสรักษ์โลก
  • ผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ได้ก่อให้เกิดวิกฤตพลังงานกระจายตัวไปในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศในยุโรปที่กำลังเผชิญกับความเสี่ยงทั้งด้านอุปทานที่ขาดแคลนและราคาที่เพิ่มสูงขึ้นของก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลัก
ภาพจาก Shutterstock

ผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อได้ก่อให้เกิดวิกฤตพลังงานกระจายตัวไปในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศในยุโรปที่กำลังเผชิญกับความเสี่ยงทั้งด้านอุปทานที่ขาดแคลนและราคาที่เพิ่มสูงขึ้นของก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลัก โดยล่าสุดสถานการณ์มีความน่ากังวลมากขึ้น หลังการรั่วไหลของท่อส่งก๊าซหลักที่ลำเลียงก๊าซจากรัสเซียไปยุโรป ขณะที่กำลังเข้าใกล้ฤดูหนาวของทางซีกโลกเหนือซึ่งจะมีความต้องการใช้พลังงานสูงขึ้น ทำให้ยุโรปน่าจะยิ่งได้รับแรงกดดันจากวิกฤตพลังงานมากขึ้นในระยะข้างหน้า

ภาพจาก Shutterstock

สำหรับประเทศไทย แม้จะมีการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นแหล่งเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า โดยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 64 ของแหล่งเชื้อเพลิงทั้งหมด ในขณะที่ความต้องการไฟฟ้ามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทว่าความเสี่ยงต่อการขาดแคลนไฟฟ้าในไทยน่าจะมีจำกัด เพราะได้มีการวางแผนจัดหาก๊าซธรรมชาติในลักษณะสัญญาระยะยาวไว้ก่อนแล้ว รวมไปถึงอุปทานที่น่าจะทยอยเพิ่มขึ้นจากการเร่งเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยหลังการเปลี่ยนผ่านสัมปทาน และการวางแผนใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาทดแทนก๊าซธรรมชาติในโรงผลิตไฟฟ้าที่เครื่องจักรรองรับได้ ทำให้หากไม่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น เช่น ภัยธรรมชาติที่กระทบต่อการขนส่งก๊าซ เป็นต้น ความเสี่ยงต่อการขาดแคลนเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าน่าจะมีจำกัด

อย่างไรก็ดี ไทยก็น่าจะยังคงเผชิญแนวโน้มค่าไฟที่มีทิศทางขาขึ้น จากต้นทุนเชื้อเพลิงที่ยังคงอยู่ในระดับสูงแม้ราคาจะมีแนวโน้มย่อตัวลงบ้างในช่วงปีหน้า ประกอบกับการทยอยลดภาระอุดหนุนค่าไฟของภาครัฐ และเงินบาทที่ผันผวนในทางอ่อนค่า ทำให้ค่าไฟฟ้าในปีหน้าน่าจะยังคงมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ค่าไฟเฉลี่ยในปี 2566 น่าจะเพิ่มขึ้นแตะราว 4.85 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 16 จากค่าไฟเฉลี่ยทั้งปี 2565 ที่อยู่ราว 4.18 บาทต่อหน่วย

ค่าไฟฟ้าของไทยที่มีทิศทางขาขึ้น ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพและกำลังซื้อของผู้บริโภค แต่ยังสร้างแรงกดดันต่อต้นทุนของภาคธุรกิจ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ทุก 1% ของค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ต้นทุนธุรกิจเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 0.024% ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องเผชิญแรงกดดันด้านต้นทุนส่วนเพิ่มเฉพาะที่เกิดจากค่าไฟราว 0.8% จากค่าไฟขาขึ้นในช่วงปี 2565-66

ภายใต้ทิศทางขาขึ้นของค่าไฟ แนวทางปรับตัวโดยการปรับขึ้นราคาสินค้าหรือบริการอาจกระทำได้จำกัดในช่วงที่เศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่งจะเริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องใช้แนวทางปรับตัวอื่นประกอบเพื่อบริหารจัดการต้นทุนค่าไฟฟ้า

โดยแนวทางเฉพาะหน้า ผู้ประกอบการธุรกิจอาจจำเป็นต้องรณรงค์การประหยัดไฟอย่างจริงจัง ขณะที่ในระยะกลาง ผู้ประกอบการที่มีความพร้อม อาจพิจารณาปรับใช้แหล่งพลังงานทางเลือกอื่นซึ่งมีต้นทุนค่าไฟที่ต่ำกว่า โดยเฉพาะโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนผลิตไฟในระยะกลางถึงยาว ยังช่วยตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม (ESG) ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ สอดรับไปกับกติกาของนานาประเทศที่ต่างต้องการผลักดันให้กระบวนการผลิตสินค้าและบริการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป สหรัฐฯ และทางการไทยก็อยู่ระหว่างพิจารณาการวัดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในบางธุรกิจนำร่อง เป็นต้น ทำให้ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องคำนึงถึง carbon footprint ของการประกอบธุรกิจที่มาจากการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกมากขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ดี สุดท้ายแล้วก่อนจะตัดสินใจเลือกแนวทางการปรับตัว ผู้ประกอบการแต่ละรายยังคงต้องชั่งน้ำหนักความคุ้มค่าในประเด็นต่างๆ อย่างรอบคอบ เพราะสถานการณ์แวดล้อมและแนวโน้มค่าไฟอาจเปลี่ยนแปลงได้ ขณะที่ไปข้างหน้าอัตราดอกเบี้ยก็มีแนวโน้มเป็นทิศทางขาขึ้นซึ่งอาจมีผลต่อการตัดสินใจเลือกลงทุนของผู้ประกอบการเช่นกัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา