อัตราการเกิดที่ลดลง จำนวนคนโสดที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการหย่าร้างจำนวนมาก ส่งผลให้ญี่ปุ่นมีจำนวนผู้สูงวัยมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ
ภาครัฐประเมินว่าผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 8.42 ล้านคนภายในปี 2035 หรือประมาณ 1.3 เท่าของจำนวนในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้อาจนำไปสู่การเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวภายในบ้านโดยไม่มีใครช่วยเหลือได้ทัน ต้นตอของปัญหานี้เกิดจากอะไร และผู้คนในสังคมทั้งภาครัฐภาคเอกชนจะร่วมกันป้องกันแก้ไขอย่างไรได้บ้าง ตามไปหาคำตอบกัน
สาเหตุหลักของการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว
จากข้อมูลของสำนักงานคณะรัฐมนตรีระบุว่าผู้สูงวัยที่เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวมักจะมีความถี่ของการสนทนาในชีวิตประจำวันต่ำมาก เช่น จะคุยโทรศัพท์กับญาติน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง บางคนถึงขั้นไม่ได้คุยกับใครเลยทั้งวันนานกว่าครึ่งปี
โดยจากผลสำรวจพบว่าผู้ชายสูงวัยมีโอกาสเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวมากกว่าผู้หญิงสูงวัย เพราะหากเปรียบเทียบกันแล้วผู้หญิงจะมีแนวโน้มสานสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านบ่อยกว่า
สรุปง่าย ๆ ว่าสาเหตุหลักของการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวมาจากการที่ผู้สูงวัยห่างเหินจากญาติพี่น้อง ขาดการปฏิสัมพันธ์กับคนในชุมชน และแยกตัวจากสังคม ทางจังหวัดต่าง ๆ จึงพยายามหาทางโน้มน้าวให้คนสูงวัยอยากออกมาทำกิจกรรมอาสาร่วมกับคนในชุมชนมากขึ้น เพราะนอกจากจะได้เพื่อนใหม่ ผู้สูงวัยจะรู้สึกว่ายังมีจุดมุ่งหมายบางอย่างให้ยึดเหนี่ยว
ข้อสังเกต ก่อนเกิดเหตุเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว
- มีหนังสือพิมพ์และจดหมายกองพะเนินอยู่ในตู้จดหมาย
- บานประตูหน้าต่างหรือม่านถูกเปิดทิ้งไว้หลายวัน
- เสื้อผ้าตัวเดิม ๆ ถูกตากไว้โดยไม่มีใครออกมาเก็บ
- คนแถวบ้านไม่เห็นผู้สูงวัยคนนั้นหลายวันติดต่อกัน
ถ้าใครพบเห็นสัญญานเหล่านี้สามารถติดต่อสายด่วนประจำเมืองต่าง ๆ เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจตราได้
ภาคเอกชนมีส่วนช่วยป้องกันปัญหานี้อย่างไรบ้าง ?
บริษัทเอกชนร่วมใจกันคิดค้นบริการต่าง ๆ เพื่อสอดส่องดูแลผู้สูงวัยอย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น
- บริการยืนยันความปลอดภัยโดยพนักงานไปรษณีย์และพนักงานส่งของ เพราะถ้าพัสดุถูกวางกองไว้อาจแปลว่าไม่มีใครออกมารับของเลย
- บริการตรวจสอบมาตรวัดน้ำ ระดับศักย์ไฟฟ้า และแจ้งเตือนทันทีหากมีการเปลี่ยนแปลงปริมาณการใช้งาน เช่น ถ้าปริมาณการใช้น้ำไฟลดลงไปมาก อาจเกิดเหตุบางอย่างที่ทำให้ผู้สูงวัยในบ้านไม่ได้ใช้ชีวิตตามปกติ
- บริการเซนเซอร์มัลติฟังก์ชันที่ตรวจจับสิ่งผิดปกติในชีวิตประจำวัน เช่น การเคลื่อนไหวบนเตียงนอนและในห้องน้ำ อย่างถ้าผู้สูงวัยลื่นล้ม เซนเซอร์ก็จะส่งสัญญานขอความช่วยเหลือทันที
- บริการติดตั้งปุ่มฉุกเฉิน เพื่อให้ญาติรีบกลับบ้านในกรณีฉุกเฉิน โดยไม่ปล่อยให้ผู้สูงวัยสลบไปจากอุบัติเหตุใด ๆ โดยช่วยเหลือไม่ทัน
แม้บริการเหล่านี้จะช่วยป้องกันการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในกรณีฉุกเฉิน แต่น่าเสียดายที่ไม่สามารถเติมเต็มความเหงาของผู้สูงวัยได้ดีเท่าที่ควร
บ้านพักคนชราจึงเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยให้ความเหงาเบาบางลงได้ เพราะมีกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจทั้งในและนอกสถานที่ อีกทั้งยังมีทีมแพทย์พยาบาลเข้ามาช่วยเหลือได้ทันท่วงทีหากมีสถานการณ์ฉุกเฉิน
ธุรกิจจัดการศพยุคใหม่ อำนวยความสะดวกโดยใช้เทคโนโลยี
นอกจากบริการต่าง ๆ ที่เล่าไป ไม่กี่ปีมานี้บริษัทที่ญี่ปุ่นยังร่วมกันพัฒนาธุรกิจจัดการศพ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้คนยุคใหม่
ตัวอย่างเช่น
- บริษัท Technical Brain ที่พัฒนาสุสาน ‘Wind Spirit’ หรือสุสานในโลก Metaverse ที่ผู้เข้าร่วมงานสามารถสวมบทบาทเป็นอวตารเพื่อเยี่ยมชมหลุมฝังศพและเข้าร่วมพิธีรำลึกถึงผู้วายชนม์ ญาติจึงไม่จำเป็นต้องซื้อสุสานราคาแพง ประหยัดค่าบำรุงรักษา และเยี่ยมชมหลุมฝังศพได้ทุกที่ทุกเวลา โดยไม่จำเป็นต้องสวมชุดไว้ทุกข์ หรือรีบเร่งเดินทางมาจากที่ไกล ๆ
- บริษัท Life Ending Technologies ที่ช่วยให้ญาติประหยัดค่าจัดโต๊ะหมู่บูชา ดอกไม้ และเครื่องเซ่นไหว้โดยใช้โปรเจกเตอร์สูง 3 เมตร กว้าง 5 เมตร ฉายภาพแท่นบูชาหรือภาพสถานที่ที่ผู้ตายให้ความสำคัญอยู่บนผนังแทน
- ธุรกิจ Space Funeral Sorae ที่จัดการเถ้าถ่านจากการเผาศพอย่างไฮเทค ใช้วิธีลดมลภาวะโดยนำเถ้าถ่านจากการเผาศพไปบรรจุไว้ในแคปซูลชนิดพิเศษและปล่อยสู่อวกาศ เพื่อให้แคปซูลโคจรรอบโลกในระยะเวลาสามเดือนถึงหลายปี เมื่อถึงจุดหนึ่งแคปซูลจะลอยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ กลายเป็นดาวตกและเผาไหม้ โดยไม่สร้างขยะอวกาศใด ๆ ระหว่างนั้นผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบตำแหน่งของแคปซูลได้ด้วยแอปพลิเคชันใน iOS และ Android
- ธุรกิจ MeMentomori ที่ปลูกดอกไม้ด้วยขี้เถ้าจากการเผาศพ ในขี้เถ้าจะมีแคลเซียมฟอสเฟตที่ช่วยให้ดอกไม้เติบโต ทาง MeMentomori จึงนำมาใช้ปลูกดอกไม้ แล้วนำไปแปรรูปเป็นเครื่องประดับต่าง ๆ ในภายหลัง โดยลูกค้าสามารถเลือกเมล็ดพันธุ์ด้วยตัวเอง รวมถึงจะได้รับไดอารี่เพื่อติดตามการเจริญเติบโตของดอกไม้อย่างต่อเนื่อง
遺灰を養分に育てた花をアクセサリーとかフラワーアートにしてくれるビジネスがあるって知ってそういうホモにときめいたからください…
恋人を思い出の花にしていつまでも一緒にいる切ない系ホモください…https://t.co/4ww632c8p6 pic.twitter.com/waSmxPG9PC— 燐斗☔️梅木めう (@__Rinto__) October 19, 2016
- นวัตกรรมการจัดการศพด้วยของเหลว เรียกว่า ‘อัลคาไลน์ไฮโดรไลซิส’ เป็นการเร่งกระบวนการเน่าเสียด้วยความร้อน ความดัน และสารที่เป็นด่าง โดยศพจะถูกวางไว้ในภาชนะเหล็กที่มีน้ำประมาณ 300 ลิตร ความร้อนประมาณ 150 องศาเซลเซียส หลังจากผ่านไป 1 ถึง 2 ชั่วโมง ศพส่วนใหญ่จะเปลี่ยนสภาพเป็นของเหลว ข้อดีของวิธีนี้คือประหยัดพลังงานและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผา
การที่ผู้สูงวัยเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับหลายฝ่ายในสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งคนในครอบครัว
ทุกฝ่ายจึงควรให้ความร่วมมือกัน เพื่อสอดส่องดูแลผู้สูงวัยทั่วประเทศได้อย่างทั่วถึง
ขอบคุณข้อมูลจาก cocofump, forbesjapan, prtimes, memories
อ่านเพิ่มเติม
- เจาะลึกธุรกิจผลิตตุ๊กตายางสไตล์ญี่ปุ่น ยืดหยุ่น เหมือนจริงเขาทำกันอย่างนี้
- เจาะลึกที่มาชุดนักเรียนในเอเชีย: ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ เรียนได้แต่ก็พร้อมรบด้วย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา