EIC ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 64 โต 2.2% ท่องเที่ยวไม่ฟื้น ผู้ประกอบการ-แรงงานทรุดต่อ

เศรษฐกิจไทยปี 64 ยังน่าห่วง โควิดลากยาวกว่าที่คิด ล่าสุด EIC ปรับลดตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจเหลือแค่ 2.2% ชี้มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า นักท่องเที่ยวน้อย ส่งออกชะลอตัว ซ้ำเติมแผลเป็นทางเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการ-แรงงานกระทบต่อ เสี่ยงหนี้ผิดนัดชำระเพิ่มกระทบเสถียรภาพทางการเงิน

EIC Bangkok People COVID-19 Silent
ภาพจาก Shutterstock

EIC ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 2564 เหลือ 2.2% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 3.8% เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศยังคงมีการระบาดอย่างต่อเนื่องและเกิดความล่าช้าในการกระจายการเข้าถึงวัคซีคทำให้การเกิดภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ช้ากว่าที่คาด

การระบาดระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศส่งกระทบโดยตรงต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ดังนี้

  1. จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางมาได้น้อยลงกว่าที่คาดการณ์

แม้หลายประเทศในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วได้มีการเริ่มทยอยฉีดวัคซีนและคาดว่าจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่หรือ Herd Immunity ได้ในช่วงไตรมาส 2-3 ของปี 64 แต่เนื่องจากไทยมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวจากประเทศกลุ่มนี้เพียง 20% และการเดินทางมาไทยที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่อาจทำให้นักท่องเที่ยวต้องกักตัวหลังกลับประเทศส่งผลให้ปริมาณนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีจำนวนน้อย

ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวสำคัญของไทยคาดว่าจะสามารถสร้างภาวะภูมิคุ้มกันหมู่และสามารถเริ่มเดินทางท่องเที่ยวได้อีกครั้งในช่วงไตรมาส 4/2564 เป็นต้นไปทำให้ EIC ปรับลดประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ 8.5 ล้านคนเหลือเพียง 3.7 ล้านคนเท่านั้น

สำหรับประเทศไทย EIC คาดการณ์ว่าจะสามารถทยอยฉีดวัคซีนเป็นวงกว้างได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และจะสามารถสร้างภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในไตรมาส 1/2565 ไทยจึงจะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและสร้างความเชื่อมั่นในการท่องเที่ยวได้อีกครั้ง

Thailand Export ส่งออก ท่าเรือ ไทย EIC
ภาพจาก Shutterstock

2. เงินบาทแข็ง เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า ส่งออกชะลอตัว

การระบาดระลอกใหม่และการพัฒนาสายพันธุ์ของโควิด-19 ทำให้หลายประเทศต้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดเข้มงวดและปิดเมืองอีกครั้งทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงโดยเฉพาะการฟื้นตัวในภาคบริการ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องการกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศต่างๆ การแข็งค่าของเงินบาท และการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ EIC จึงปรับคาดการณ์การส่งออกไทยขยายตัวอยู่ที่ 4% จากที่เคยคาดไว้ที่ 4.7%

3. เศรษฐกิจไทยซบเซา ธุรกิจไทยปิดตัวเพิ่มขึ้น จ้างงานลดลง ส่งผลต่อหนี้ครัวเรือน

การระบาดระลอกใหม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเดินทาง ประชาชนมีความกังวลต่อการใช้ชีวิตในที่สาธารณะและหันกลับมาพึ่งพา online platform อีกครั้ง ส่งผลให้การบริโภคในกลุ่มธุรกิจบริการ เช่น การขนส่ง รถยนต์ โรงแรม ร้านอาหาร และสินค้าบริโภคอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซหรือบริการเดลิเวอรี่ปรับตัวลดลงและคาดว่าจะลดลงประมาณ 1.8 แสนล้านบาทหรือประมาณ 1.2% ของ GDP

การควบคุมการระบาดระลอกใหม่นี้ EIC คาดว่าจะใช้ระยะเวลาอย่างน้อยสองเดือนซึ่งอาจส่งผลให้ธุรกิจในไทยมีการปิดตัวเพิ่มมากขึ้นทั้งแบบชั่วคราวและถาวรโดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารที่ส่วนใหญ่มีสภาพคล่องไม่ถึง 2 เดือน ส่งผลต่อไปสู่การจ้างงานที่ลดลงซึ่งข้อมูลจาก JobsDB.com พบว่าในช่วงครึ่งแรกของเดือนมกราคม 64 ภาพรวมการจ้างงานลดลง 2.7% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 63

ผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ส่งผลฉุดรั้งเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวของไทยให้กลับเข้าสู่ภาวะซบเซาอีกครั้งและยังนำไปสู่ปัญหาภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นทั้งในภาคธุรกิจและครัวเรือนซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศหากมีการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น

อ่านเพิ่มเติม:

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา