EIC คาดเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง แต่โอกาสเกิด J-curve effect มีค่อนข้างน้อย

EIC คาด คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)  จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ แต่เริ่มเห็นความเสี่ยงการลดดอกเบี้ย หากเศรษฐกิจปีนี้โตต่ำกว่า 3% เนื่องจาก กนง. ยังประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวสูงขึ้นในปี 2563 และยังคงให้ความสำคัญต่อการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินอยู่

Image from Shutterstock

นอกจากนี้ EIC มองว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงของไทยที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคทำให้ กนง. มีข้อจำกัดในการลดดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต อย่างไรก็ตาม หากผลกระทบและความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าโลกเร่งตัวมากกว่าคาดในช่วงครึ่งหลังของปี จนทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2562 เติบโตน้อยกว่า 3% กนง. ก็อาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้งในช่วงปลายปีนี้

J-curve effect จะกลับมาหรือไม่

จากการศึกษาของ EIC เชื่อว่า J-curve effect (ภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้นจะอยู่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างมีนัยสำคัญ) ที่เกิดขึ้นในช่วงเมษายน 2560- พฤษภาคม 2561 น่าจะเกิดจาก 3 ปัจจัย

  1. ตลาดเริ่มคาดว่า กนง จะมีการลดดอกเบี้ย
  2. ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างมีนัย
  3. การลดลงของยอดคงค้างพันธบัตรพันธบัตรระยะสั้น

เมื่อเทียบกับภาวะปัจจุบัน EIC เชื่อว่าปัจจัยที่ 1 และ 2 ได้เริ่มเกิดขึ้นแล้ว แต่ปัจจัยที่ 3 ยังไม่เกิดขึ้น โดยล่าสุดในเดือนกรกฏาคมแม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะลดปริมาณพันธบัตรระยะสั้นลงแต่ไม่ทำให้ยอดคงค้างลดลงไปด้วย EIC จึงเชื่อว่ามีโอกาสน้อยที่จะเกิด J-curve effect ในระยะสั้น

Image from Shutterstock

แรงกดดันต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยเพิ่มขึ้น

EIC ปรับประมาณการอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้น อายุ 1 ปี มาอยู่ในกรอบ 1.65-1.75% ณ สิ้นปี 2562 (จากเดิม 1.7-1.8%)

เนื่องจากคาดว่า ผู้ร่วมตลาดบางส่วนน่าจะเริ่มคาดการณ์ว่าโอกาสการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีสูงขึ้น นอกจากนั้น ยังปรับลดประมาณการอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ลงมาอยู่ที่ 1.90-2.00% ณ สิ้นปี 2562 (จากเดิม 2.6% -2.8% ) โดยมีสาเหตุหลักจาก อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีโอกาสลดลงได้อีก จาก

  1. เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง
  2. การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่อาจลดลงได้อีก
  3. การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ซึ่ง EIC คาดว่าจะเกิดขึ้น 2 ครั้งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

คาดแรงกดดันของการแข็งค่าของเงินบาทมีอยู่ต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี

EIC ประเมินว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากการหดตัวของภาคส่งออกและการชะลอตัวของการท่องเที่ยว แต่การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังคงอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งจะยังทำให้สถานการณ์เป็น regional safe haven ของเงินบาทยังคงมีอยู่ต่อ กอปรกับสัญญาณการลดดอกเบี้ยนโยบายจาก Fed และธนาคารกลางอื่นๆ ในภูมิภาค จะทำให้เงินบาทยังต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านแข็งค่าอยู่ต่อไป EIC จึงปรับประมาณการเงินบาท ณ สิ้นปี 2019 แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 30-31 ต่อดอลลาร์สหรัฐ (จากเดิม 31-32)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา