EIC SCB: โควิดทำเศรษฐกิจแย่ นักท่องเที่ยวลด ค้าปลีกเจ็บหนัก 5 แสนล้าน

EIC SCB ปล่อยรายงาน “ส่องธุรกิจค้าปลีก.. รับมืออย่างไรจาก Covid-19” โดยระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตและการใช้จ่ายของผู้บริโภคเปลี่ยนไปตามสถานการณ์การแพร่ระบาดในแต่ละระยะแตกต่างกัน

โดยรายงานการศึกษาจาก Nielsen พบว่าผู้บริโภคมีการตอบสนองต่อโรคระบาดเปลี่ยนแปลงตามระดับความรุนแรง

  • เริ่มระบาดในวงจำกัด คนซื้อสินค้าป้องกันสุขภาพ
  • แพร่ระบาดภายในประเทศ คนต้องการซื้อสินค้าจำเป็นสำหรับป้องกันตัวเองมากขึ้น พอเริ่มระบาดจนมีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้น เสียชีวิตมากขึ้น คนเริ่มกักตุนสินค้าจำเป็น ซื้อสินค้ามากเกินปกติ
  • ช่วงที่แพร่ระบาดในประเทศเป็นวงกว้าง เริ่มใช้มาตรการฉุกเฉิน ปิดเมือง กักกันการเดินทาง คนซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น สินค้าบางชนิดขาดแคลน
  • ช่วงที่สถานการณ์แพร่ระบาดคลี่คลาย จนกลับสู่ภาวะปกติ ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ระวังสุขภาพมากขึ้น หันมาซื้อสินค้าทางออนไลน์มากขึ้น
ภาพจาก EIC SCB

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคจากสถานการณ์โรคระบาดย่อมจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการใช้จ่ายสินค้าและบริการแต่ละประเภทในระดับที่แตกต่างกัน ผู้บริโภคจะมีพฤติกรรม panic buy ในสินค้าจำเป็นบางหมวด ขณะที่สินค้าไม่จำเป็นปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง

ผู้บริโภคเลี่ยงทำกิจกรรมนอกบ้าน หันมาซื้อสินค้าออนไลน์และทำกิจกรรมเพื่อความบันเทิงต่างๆ ในบ้านมากขึ้น พฤติกรรมของผู้บริโภคในเอเชีย 6 ประเทศรวมทั้งไทยพบว่า

  • 30% ของผู้บริโภคที่ตอบแบบสำรวจมีความกังวลว่าสินค้าจำเป็นอาจมีไม่เพียงพอและมีความต้องการสินค้าบางประเภทเพิ่มขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์สุขอนามัยส่วนบุคคล ผลิตภัณฑ์สุขภาพและอาหารเสริม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้าน
  • 30% ซื้อออนไลน์และการใช้บริการส่งอาหารเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน ลดการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยลง ราว 50% ทำกิจกรรมหรือทานอาหารนอกบ้านลดลง ลดการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สินค้าฟุ่มเฟือย

ระดับความรุนแรงที่มีผลกระทบต่อสินค้าแต่ละประเภท

  1. คนต้องการสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น มาจากความตระหนก
  2. สินค้าที่ผู้บริโภคซื้อกักตุนในช่วงวิกฤต คืออุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรค อุปกรณ์ทำความสะอาด
  3. สินค้าไม่จำเป็น อาทิ เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ มีความต้องการลดลงอย่างรุนแรง
ภาพจาก EIC SCB

ธุรกิจค้าปลีกโดยรวมได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก แต่บางส่วนที่ยังเติบโตได้ในช่วงวิกฤติคือ ร้านสะดวกซื้อและ e-commerce โดยร้านค้าปลีกขนาดใหญ่มีแนวโน้มจะได้รับัผลกระทบอย่างมากจากการที่ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการเดินทางไปพื้นที่ที่มีคนจำนวนมาก หันมาร้านค้าปลีกขนาดเล็ก และซื้อสินค้าทางออนไลน์แทน

ผลกระทบจากโควิด-19 จะส่งผลต่อธุรกิจค้าปลีกของไทย 3 ช่องทางหลัก คือ การท่องเที่ยวหดตัวอย่างรุนแรง ความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศที่ลดลง และ Supply disruption จากการที่สต็อกสินค้าที่อาจขาดแคลนหากพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากกลุ่มประเทศที่ปิดเมือง แม้สินค้าบางชนิดที่ผลิตในประเทศยังเพียงพออยู่ แต่อาจมีความเสี่ยงล่าช้าจากการกระจายสินค้าได้

ภาพจาก EIC SCB

ภาคการท่องเที่ยวเป็นช่องทางหลักที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยตรงและรุนแรงส่งผลต่อร้านค้าปลีกที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยว เนื่องจาก 4-5 ปีที่ผ่านมา ภาวการณ์บริโภคในประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากกำลังซื้อที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการค้าปลีกหันมาพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะชาวจีนเกือบ 30% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด 5 ปีที่ผ่านมาการชอปปิงของนักท่องเที่ยวโตราว 2% หรือประมาณ 12,000 บาทต่อทริป

การชะลอตัวของนักท่องเที่ยวจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกค่อนข้างมาก

ภาพจาก EIC SCB

EIC ประเมินเบื้องต้นว่า หากนักท่องเที่ยวปี 2020 ปรับลดลง 67% จาก 39.8 ล้านคนในปี 2019 มาอยู่ที่ 13.1 ล้านคน คาดว่าจะส่งผลให้รายได้ของธุรกิจค้าปลีกที่มาจากภาคการท่องเที่ยวหายไปราว 2.7 แสนล้านบาท (หากสถานการณ์ติดเชื้อคลี่คลายในไตรมาส 3 นักท่องเที่ยวฟื้นตัวไตรมาส 4) แต่เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวลง คาดว่า จะส่งผลให้การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวลดลงจากค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีจาก 12,000 บาท เหลือ 10,000 บาท ต่อทริป

สถานการณ์โควิด-19 รุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการบริโภคในประเทศทั้งจากความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง คาดว่าส่งผลให้มูลค่าตลาดค้าปลีกในปี 2020 หดตัวลงราว -14% ขณะที่หนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง และยังถูกซ้ำเติมด้วยผลกระทบจากโควิด-19 ที่ส่งผลต่อเนื่องมายังธุรกิจค้าปลีกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง

กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากคือ

  • ร้านค้าปลีก non-groccery
  • ห้างสรรพสินค้า
  • ร้านเสื้อผ้า
  • ร้านสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
  • ร้านสินค้าความงาม

รายได้ค้าปลีกหดตัวลงอย่างมาก แม้จะมีชดเชยด้วยยอดขายออนไลน์ แต่ก็มีสินค้าออนไลน์เพียง 2-3% ของมูลค่าตลาดค้าปลีก หากรวมการใช้จ่ายที่ชะลอตัวลงขอผู้บริโภคกับนักท่องเที่ยวที่หายไป คาดว่าตลาดค้าปลีกจะหดตัวลง -14% ราว 5 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ Supply Disruption จากการที่สต็อกสินค้าอาจขาดแคลนหากพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศที่มีการปิดเมือง การปิดเมืองของจีนที่ผ่านมา คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสต็อกสินค้าของร้านค้าปลีกในไทย อาทิ ร้านขายสินค้าแฟชั่น เนื่องจากไทยนำเข้าสินค้าและรองเท้าจากจีนมากเป็นอันดับ 1 อาจส่งผลให้สินค้าจากจีนมีความล่าช้า

นอกจากนี้ สถานการณ์โควิด-19 ที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น อาจส่งผลให้มีจำนวนธุรกิจที่ประสบปัญหาทางการเงินจนต้องปิดกิจการเพิ่มขึ้นได้ เพราะภาระต้นทุนที่มาจากการเก็บสต็อกสินค้า ค่าเช่าพื้นที่ ค่าจ้างพนักงาน ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เริ่มเห็นสัญญาณมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากผลกระทบของกำลังซื้อที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ช่วงสัปดาห์ที่ 1-9 ของปี 2020 มีจำนวนบริษัทปิดกิจการเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1,717 บริษัท เทียบกับปีก่อนหน้าอยู่ที่ 1,445 บริษัท

ภาพจาก EIC SCB

กลยุทธ์ที่สำคัญในการรับมือโควิด-19

  • เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าและโลจิสติกส์ เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน จัดหาสินค้าให้เพียงพอ ผลสำรวจจาก Nielsen พบว่า ปัญหาสินค้าคงคลังไม่เพียงพอและบริหารจัดการ supply chain เป็นปัญหาหลักของผู้ประกอบการค้าปลีก
ภาพจาก EIC SCB
ภาพจาก EIC SCB
  • เน้นการขายออนไลน์และเพิ่ม customer engagement ผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ผู้ที่ยังไม่เคยขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ต้องเริ่มหาลู่ทาง ผู้ที่ขายอยู่แล้ว ต้องเตรียมรับมือการเพิ่ขึ้นของยอดขาย จากตัวอย่างจีนพบว่า 80% ผู้บริโภคจีนหันมาซื้อสินค้า grocery ผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น JD.Com พบว่า ยอดขายหลังโควิด-19 ระบาด ตัวเลขยอดขายก้าวกระโดดราว 215% YoY
  • ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้บริโภคและพนักงานเป็นอันดับแรก เช่น เน้น contactless delivery ให้พนักงานยืนห่างจากลูกค้า และนำสินค้าวางไว้ให้ลูกค้ามาหยิบเอง เป็นต้น
  • เตรียมความพร้อมสำหรับการให้บริการหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย ผู้ประกอบการควรเตรียมความพร้อมทั้งในส่วนบริหารสต็อคสินค้าและ supply chain เพื่อตอบสนองความต้องการที่จะกลับมาฟื้นตัวหลังวิกฤติ

ที่มา – EIC SCB

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
สนใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทูต การเมือง ประชาธิปไตย เสรีภาพ ความยุติธรรมและความเท่าเทียม ชอบอ่าน ชอบเขียน ชอบสืบค้นข้อมูล ชอบทำคอนเทนต์