EIC: เศรษฐกิจไทยหดตัวหนักขึ้น -7.3% อาจฟื้นฟูเหมือนช่วงก่อนโควิดได้ในปี 2022

EIC ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2020 หดตัว -7.3% จากเดิม -5.6% ครึ่งหลังของปีต่อจากนี้ น่าจะมีลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไปในลักษณะ U-Shaped recovery

ไตรมาส 2 นี้ เศรษฐกิจหลักหลายประเทศมีการหดตัวมากกว่าคาด สะท้อนจากการปิดเมืองที่เข้มงวดกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในวงกว้างและรุนแรง ช่วงครึ่งหลังของปี คาดว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค และการใช้มาตรการทางการเงินและการคลังของรัฐบาลทั่วโลกเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ

การฟื้นตัวจะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป อุปสงค์ภายในประเทศยังอ่อนแอ การใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังถูกกระทบจากอัตราว่างงานสูง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำ การลงทุนภาคเอกชนจะถูกกดันจากยอดขายที่ซบเซา งบดุลที่เปราะบางมากขึ้น และความไม่แน่นอนที่อยู่ในระดับสูง อาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการิดนัดชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่สูงขึ้นในหลายประเทศในระยะต่อไป

EIC ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2020 หดตัวมากกว่าที่คาดจาก -5.6% เป็น -7.3% ผลกระทบจาก COVID-19 โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนภาคเอกชน 

EIC ปรับลดคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2020 จากเดิม 13.1 ล้านคน เหลือเพียง 9.8 ล้านคน (-75.3% YOY) ตามนโยบายปิดการเดินทางเข้าออกไทยที่ยาวนานขึ้น (สิ้นสุดมิถุนายน) แนวทางการเปิดการเดินทางระหว่างประเทศต่างๆ มีแนวโน้มค่อยเป็นค่อยไป เศรษฐกิจโลกหดตัวมากกว่าคาด จะกระทบต่อรายได้ของนักท่องเที่ยว ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัวสูงขึ้นที่ -10.4% ใกล้เคียงกับที่คาดไว้จากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยและมาตรการปิดเมืองของหลายประเทศทั่วโลกที่ก่อให้เกิดปัญหา supply chain disruption

การบริโภคภาคเอกชนหดตัวรุนแรง โดยเฉพาะช่วงที่มีมาตรการปิดเมือง สะท้อนจากดัชนีการบริโภค (PCI) ในเดือนเมษายนที่ตัวไปกว่า -15.1% YOY ภายหลังผ่อนคลายการปิดเมือง เครื่องชี้เร็วสะท้อนว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการเดินทางในประเทศเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว แต่ยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนวิกฤติพอสมควร

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป การฟื้นตัวภาคธุรกิจต่างๆ มีความเร็วแตกต่างกัน

EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในลักษณะ U shape โดย GDP จะกลับสู่ระดับของปี 2019 เป็นระดับเดิมก่อน COVID-19 ได้ในปี 2022 เป็นผลจากแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว มีความเปราะบางทางการเงินสูงขึ้นของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SME ตั้งแต่ก่อนเกิด COVID-19 รวมทั้งผลกระทบจาก COVID-19 ต่อหลายภาคธุรกิจที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย

ปัจจัยสำคัญที่กำหนดระยะเวลาการฟื้นตัว

  • สภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อ คาดว่า GDP ไทยจะกลับมาช่วงปี 2022 ขณะที่กำลังซื้อจากต่างประเทศจะขึ้นอยู่กับการควบคุมโรค การกระตุ้นเศรษฐกิจ และโครงสร้างเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ
  • การพึ่งพาการรวมกลุ่มของคน หากวัคซีนยังไม่ถูกค้นพบ ยอดขายของธุรกิจที่พึ่งพาการรวมกลุ่มโดยเฉพาะการท่องเที่ยวจะยังคงได้รับผลจากการเว้นระยะห่างและกฎเกณฑ์ต่างๆ
  • การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เช่น การเปลี่ยนพฤติกรรมของภาคธุรกิจและผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและห่วงโซ่อุปทาน เป็นต้น

การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติจะเป็นไปอย่างช้าๆ จากความกังวลของนักท่องเที่ยวตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ข้อจำกัดด้านมาตรการควบคุมโรค จะทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร นันทนาการ และการขนส่ง ได้รับผลกระทบมาก ฟื้นตัวช้า

ขณะที่ธุรกิจรถยนต์ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย เผชิญกับการหดตัวของอุปสงค์จากต่างประเทศ จะถูกซ้ำเติมจากการลดลงของยอดขายในประเทศด้วย ตามการจ้างงานและรายได้ของภาคครัวเรือนที่ลดลง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ การระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ส่งผลให้ฟื้นตัวช้าเช่นกัน ด้านการใช้จ่ายหมวดสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร เครื่องดื่ม บริการทางการแพทย์ การสื่อสาร ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนเสริมจากมาตรการโอนเงินช่วยเหลือและมาตรการพักหนี้ของภาครัฐจะฟื้นตัวได้เร็วกว่า

ด้านนโยบายการเงิน คาดว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ย 0.5% ตลอดทั้งปี และพร้อมใช้เครื่องมือต่างๆ รวมถึงมาตรการ Unconventional เพิ่มเติมหากจำเป็น หากแนวโน้มเศรษฐกิจปรับแย่ลงกว่าคาดมาก ธปท. อาจลดดอกเบี้ยนโยบายได้เพิ่มเติม ในส่วนของค่าเงินบาท คาดอัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2020 จะอยู่ในช่วง 31.5-32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นทิศทางอ่อนค่า เนื่องจากไทยเกินดุลบัญญชีเดินสะพัดลดลงมาก

ความเสี่ยงในระยะข้างหน้า โอกาสกลับมาระบาดอย่างรุนแรงของ COVID-19 อาจทำให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศทั่วโลกหยุดชะงักอีกครั้ง สงครามการค้าโลก อาจรุนแรงขึ้นและกระทบการค้าระหว่างประเทศ ความเสี่ยงด้านเครดิตที่อาจเพิ่มขึ้นทั้งในระดับประเทศและระดับธุรกิจที่มีภาระหนี้ต่อรายได้สูงขึ้นมาก ความเชื่อมั่นนักลงุทน นำไปสู่ความผันผวนของตลาดการเงินโลกได้

ความเสี่ยงในประเทศด้านความเปราะบางทางการเงินของทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจไทยที่อาจทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นได้ อาจส่งผลต่อเสถียรภาพภาคการเงิน รวมถึงความสามารถในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโดยรวมในระยะต่อไปได้

ที่มา – SCB EIC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
สนใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทูต การเมือง ประชาธิปไตย เสรีภาพ ความยุติธรรมและความเท่าเทียม ชอบอ่าน ชอบเขียน ชอบสืบค้นข้อมูล ชอบทำคอนเทนต์