EIC ส่งออกไทยไม่มีสัญญาณฟื้นตัว COVID-19 ทำแนวโน้มส่งออกต่ำกว่า -5.8%

ส่งออกไทยเดือนกุมภาพันธ์ ไม่มีสัญญาณฟื้นตัว มูลค่าส่งออก ไม่รวมการส่งออกทองคำและอาวุธ ขยายตัวเพียง 0.1% YOY ผลกระทบจาก COVID-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจหลายประเทศหดตัวทั่วโลก

มูลค่าการส่งออกไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2020 หดตัวอยู่ที่ -4.5% หากหักการส่งออกทองคำซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่สะท้อนภาวะการค้าที่แท้จริง และหักการส่งกลับอาวุธที่นำมาเพื่อซ้อมรบของเดือน ก.พ. ปี 2019 ซึ่งไม่สะท้อนภาวะการค้าเช่นกัน จะทำให้มูลค่าการส่งออกขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.1% YOY สะท้อนว่า การส่งออกไม่มีสัญญาณฟื้นตัว

Thailand Shipping Export Container
ภาพจาก Shutterstock
  • สินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัวดี ได้แก่ ทองคำ, ผลิตภัณฑ์ยาง, คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ
  • การส่งออกทองขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ 178.4% YOY ได้รับแรงหนุนจากราคาที่สูงขึ้น ซึ่งมีตลาดส่งออกหลักคือสวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้
  • สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (6.5% YOY) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ 28.9% YOY ผลิตภัณฑ์ยาง 11.9% YOY ยางพารา 6.2% YOY และไก่สดแช่แข็งและแปรรูป 4.7% YOY
  • มูลค่าการส่งออกของหลายสินค้าสำคัญมีการหดตัว เช่น เม็ดพลาสติก -20.9% YOY เคมีภัณฑ์ -11.9% YOY เหล็กและผลิตภัณฑ์ -10.6% YOY รถยนต์และส่วนประกอบ -4.7% YOY ข้าว -26.6% YOY เครื่องใช้ไฟฟ้า -2.8% YOY ตามอุปสงค์ตลาดโลกที่ซบเซา การส่งออกอาวุธหดตัวสูงถึง -99.7% YOY 

ด้านการส่งออกรายตลาด พบว่ามีหลายตลาดสำคัญพลิกกลับมาหดตัว โดยเฉพาะประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง และเกาหลีใต้

  • การส่งออกไปจีนกลับมาหดตัวที่ 2.0%YOY จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวสูงถึง 5.2%YOY โดยสินค้าสำคัญ ที่หดตัวคือ เม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์
  • การส่งออกไปญี่ปุ่นหดตัวสูงที่ 11.1%YOY โดยสินค้าที่หดตัวได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ
  • การส่งออกไปประเทศอื่นที่มีผู้ติดเชื้อสูงในเดือน ก.พ. มีการหดตัวเช่นกัน ได้แก่ ฮ่องกง (-3.0%YOY) เกาหลีใต้ (-1.5%YOY)
  • การส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัวถึง 18.3%YOY (หักการส่งกลับอาวุธเดือน ก.พ. ปีก่อน) โดยการขยายตัวมา จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ และผลิตภัณฑ์ยาง
  • การส่งออกไป CLMV พลิกกลับมาขยายตัวที่ 5.8%YOY จากเดือนก่อนที่หดตัว 0.7%YOY โดยสินค้าสำคัญ ขยายตัวคือ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องปรับอากาศ และเครื่องจักรกล
  • การส่งออกไป EU15 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ 1.7%YOY สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ

ในส่วนของมูลค่าการนำเข้าหดตัวชะลอลงที่ -4.3%YOY โดยหดตัวในทุกกลุ่มสินค้า ได้แก่ สินค้าเชื้อเพลิง (-12.1%YOY) ที่พลิกกลับมาหดตัวจากการที่ขยายตัวในเดือนก่อนหน้า ตามราคาน้ำมันที่ลดลง ด้านการนำเข้าสินค้าทุน และวัตถุดิบก็หดตัวเช่นกันที่ -9.0%YOY และ -5.5%YOY ตามลำดับ สะท้อนแนวโน้มการส่งออกที่ซบเซาในระยะข้างหน้า ขณะที่การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคก็หดตัวเช่นกันที่ -6.8%YOY

ปลายเดือน ก.พ. COVID-19 แพร่ระบาดรวดเร็วนอกจีน

ในระยะต่อไป คาดว่าการส่งออกไทยมีแนวโน้มหดตัวจากการชะลอลงหรือหดตัวของเศรษฐกิจหลายประเทศทั่วโลก โดยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้หลายประเทศต้องมีมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มงวด อาทิ การปิดเมือง ห้ามเดินทางสัญจร

ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลกที่จะลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 จึงทำให้ EIC คาดว่า เศรษฐกิจโลกจะปรับตัวแย่กว่าเดิมเป็นหดตัวที่ -0.8% ในปี 2020 ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย โดยตรง

ปัญหา supply chain disruption จะส่งผลต่อภาคส่งออกของไทยใน 2 ประเด็น

  • ไทยส่งออกสินค้าวัตถุดิบขั้นกลางลดลง เนื่องจากอยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตหลายประเทศ เมื่อเกิดการชะงักของภาคการผลิตจากประเทศต้นทาง ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบขั้นกลางจากไทยลดลง
  • ไทยมีอุปสรรคในการผลิตสินค้าส่งออก เนื่องจากต้องพึ่งพาสินค้าวัตถุดิบขั้นกลาง

ราคาน้ำมันที่ปรับลดลง ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ปรับลดลงอย่างแรง ทั้งจากความล้มเหลวในการเจรจาลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC และพันธมิตร นำโดยซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย ส่งผลต่อราคาสินค้าส่งออกไทยหลายประเภท เช่น เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และสินค้าโภคภัณฑ์บางประเทศ

ที่มา – EIC SCB

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
สนใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทูต การเมือง ประชาธิปไตย เสรีภาพ ความยุติธรรมและความเท่าเทียม ชอบอ่าน ชอบเขียน ชอบสืบค้นข้อมูล ชอบทำคอนเทนต์