หลังจากที่ กนง. มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อปี โดย กนง. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ส่งออกสินค้าเริ่มฟื้นตัวในระดับต่ำ
นักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่ กนง. ประเมินไว้ อุปสงค์ภายในประเทศหดตัวทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน การจ้างงานและรายได้ครัวเรือนได้รับผลกระทบรุนแรงจากเศรษฐกิจที่หดตัวและจะใช้เวลาฟื้นตัวนาน
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบในปีนี้ก่อนที่จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปีหน้า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นบ้างตามราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น ระบบการเงินมีเสถียรภาพ แม้ว่าจะเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ธนาคารพาณิชย์ต้องเตรียมรับผลกระทบจากโควิด-19
เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองทั้งในและต่างประเทศ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มทยอยกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น ดัชนีการบริโภคในเดือนมิถุนายนหดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจปรับดีขึ้นแต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ การส่งออกของไทย (ไม่รวมทองคำและอาวุธ) เดือนมิถุนายนหดตัวน้อยลงเช่นกัน
สัญญาณการชะลอตัวของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั้งในไทยและต่างประเทศ จากข้อมูล Google mobility index ชี้ว่า หลังจากเริ่มมีการทยอยเปิดเมืองในหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ ฮ่องกง มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การฟื้นตัวการเดินทางในหลายประเทศเริ่มชะลอลง
ทั้งนี้ มาตรการสนับสนุนที่หมดอายุลงสร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย มาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 สิ้นสุดเมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา ขระนี้ยังไม่มีความแน่นอนเรื่องการต่ออายุมาตรการ อาจเป็นความเสี่ยงที่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงช่วงที่เหลือของปี
EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ความเสี่ยงในระยะต่อไปยังมีอยู่มาก ทำให้ กนง. น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ 0.5% ต่อไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2020 เพื่อรักษาขีดความสามารถในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ เพื่อเตรียมรับมือเหตุการณ์ไม่คาดคิด
การผ่อนคลายนโยบายการเงินระยะถัดไป จะหันมาพึ่งพาเครื่องมือเชิงนโยบายอื่นๆ ที่ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยนโยบายมากขึ้น เช่น การเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) การค้ำประกันสินเชื่อโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนดย่อม (บสย.) การสนับสนุนสินเชื่อโดยสถาบัน การเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือการปรับลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟู (Financial Institutions Development Fund: FIDF Fee) เป็นต้น
ที่มา – SCB EIC
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา