ระยะหลัง การไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือ กฟผ. ถูกวิจารณ์จากสังคมหลายครั้ง ไล่ตั้งแต่ปัญหาค่าไฟแพง, การขายคืนไฟฟ้าได้ไม่เท่ากับที่ประชาชนต้องการ จนถึงการเข้ามีบทบาทของพลังงานสะอาด และกระแสรักษ์โลกทำให้โรงไฟฟ้าที่อาศัยเชื้อเพลิงจากถ่านหินมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีนัก
เรื่องเหล่านี้คือความท้าทายของ เทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 ที่รับตำแหน่งเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2024 แม้จะไม่นาน แต่เขาได้ดำเนินการแก้ไข และยกระดับให้ กฟผ. ภายใต้แนวคิดการเป็นหน่วยงานที่สร้างความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าไทย
รายละเอียดของแผนการดังกล่าวจะเป็นอย่างไร และภาพรวมอุตสาหกรรมไฟฟ้าในประเทศไทยก้าวหน้าไปขนาดไหน และแผนในการดำเนินงานของ กฟผ. ในปี 2024 จะออกมาเป็นแบบใด Brand Inside มีโอกาสได้รับฟังข้อมูลต่าง ๆ เทพรัตน์ ดังนี้
ยกระดับความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้า
เทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการกฟผ. เล่าให้ฟังว่า กฟผ. อยู่ระหว่างเร่งพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย หรือ Grid Morenization เพื่อรองรับการบริหารจัดการปริมาณไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงไฟฟ้าหลัก หนึ่งในนั้นคือการเตรียมพร้อมไปสู่โรงไฟฟ้าเสมือน หรือ Virtual Power Plant: VPP
“Virtual Power Plant ช่วยให้การบริการจัดการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทำได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการไปถึงจุดนั้นต้องยกระดับศูนย์ควบคุมต่าง ๆ ทั้งต้องนำ AI มาช่วยคำนวณ หรือคาดการณ์กำลังไฟฟ้าเพื่อผลิตไฟฟ้าออกมาให้แม่นยำกับความต้องการมากขึ้น”
เบื้องต้น กฟผ. มีแผนปรับปรุงโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ให้มีความยืดหยุ่น, พัฒนาศูนย์การพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และศูนย์ควบคุมการตอบสนองด้านโหลด เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าที่สมัครใจในช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเพื่อสร้างความสมดุลให้ระบบไฟฟ้า
ราคาไฟฟ้าต้องเป็นธรรม และแข่งขันได้
กฟผ. ต้องการให้ราคาไฟฟ้ามีเสถียรภาพ และแข่งขันได้ เนื่องจากเรื่องนี้ค่อนข้างเป็นประเด็นในระยะหลัง ซึ่งไทยมีทรัพยากรธรรมชาติที่เหมาะสมกับการนำมาผลิตไฟฟ้า เช่น ก๊าซในอ่าว หรือแผ่นดิน รวมถึงแหล่งลิกไนต์ การนำมาใช้ก็มีความเป็นไปได้ที่จะช่วยให้ค่าไฟลด และหากไม่นำมาใช้ตอนนี้ในอนาคตอาจนำมาใช้ไม่ได้แล้ว
“หากมองในมุมความเป็นธรรม กฟผ. ไม่อยากให้นำการคำนวณไฟฟ้าแบบ Net Metering เข้ามาใช้ แม้ผู้บริโภคจะบอกว่า กฟผ. เอาเปรียบ ผ่านการต้องซื้อไฟมา 4 บาทกว่า แต่ขายคืนได้แค่ 2 บาท เพราะคุณภาพไฟที่ขายคืนมาไม่ได้ 100% และกลายเป็นต้นทุนที่สูงขึ้นของ กฟผ. ในการต้องมาทำให้คุณภาพไฟนั้น 100% จริง ๆ”
เทพรัตน์ ชี้ว่า คุณภาพไฟที่ผู้บริโภคขายคืนมีไม่ถึง 20% ดังนั้นการนำคุณภาพไฟ 20% มาแลกคุณภาพไฟ 100% คงไม่เหมาะ และการนำระบบ Net Billing ที่อาศัยการคำนวณราคาแบบผันแปรตามเวลา เช่น ช่วงพีคราคาสูง ช่วงไม่พีคราคาต่ำ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายมากกว่า
ไฟฟ้าในอนาคตจะมาจากพลังงานหมุนเวียน
ในทางกลับกัน กฟผ. สนับสนุนนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ สปป. ลาว เพราะหากไม่ซื้อ ประเทศอื่นก็พร้อมซื้อ ซึ่งไทยอาจเสียประโยชน์ได้ นอกจากนี้ กฟผ. ยังเดินหน้าพัฒนาไฟฟ้าพลังงานสะอาดต่าง ๆ เช่น Floating Solar ที่ติดตั้งตามเขื่อนต่าง ๆ รองรับนโยบายลดมลพิษของประเทศไทย
ทั้งยังมีการสนับสนุนการใช้ ไฮโดรเจน เป็นพลังงานทางเลือก เพราะไฮโดรเจนนำไปใช้กับโรงไฟฟ้าดั้งเดิมได้ ช่วยให้โรงไฟฟ้าเหล่านั้นจากใช้พลังงานจากฟอสซิล เป็นพลังงานสะอาด ทั้งไม่ต้องปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ แต่ด้วยราคาอาจจะสูงอยู่ แต่ในอนาคตจะมีราคาที่ถูกลง และคุ้มค่ากว่าโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม หรือ Combined-Cycle
นอกจากนี้ Small Modular Reactor: SMR หรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก กำลัง 50-300 เมกะวัตต์ ยังเป็นอีกรูปแบบที่ กฟผ. อยู่ระหว่างศึกษา โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีความปลอดภัย เพราะโรงไฟฟ้าแบบนี้ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และต้องให้ข้อมูลแก่ประชาชนทุกระดับหากต้องการเดินหน้าเรื่องนี้
รับลูกนโยบายรัฐ คู่คงความแข็งแกร่งให้องค์กร
“เราอยากให้ กฟผ. เป็นองค์กรที่แข็งแกร่ง เพื่อรองรับนโยบายต่าง ๆ ของภาครัฐได้ ถ้าเราไม่แข็งแรง ใครจะมาบัฟเฟอร์ค่าไฟแสนกว่าล้านบาทในเวลานี้ ยิ่งก่อนหน้านี้มีนโยบายเรื่องการแยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator) เราก็ค่อนข้างกังวลเรื่องความมั่นคง และศูนย์เหล่านั้นต้องปรับปรุงคุณภาพให้ใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น”
รัฐให้เหตุผลเรื่องการแยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าว่า ต้องการให้เกิดความอิสระ, โปร่งใส และตรวจสอบได้ ซึ่งตอนนี้ กฟผ. มีการควบคุมโรงไฟฟ้าที่ Must Run, Must Take และ Merit Order โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างพัฒนาระบบให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลการกระจายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ว่าผลิตหรือไม่ และส่งไปที่ไหนบ้าง
ส่วนการจัดทำระบบเปิดเผยข้อมูลศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าให้มีความเป็นธรรม ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และการจัดทำสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (Internal PPA) ให้ครอบคลุมโรงไฟฟ้าทุกประเภท กฟผ. สามารถดำเนินการได้ทันที โดยปี 2024 กฟผ. มีแผนลงทุนราว 30,000-40,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนโรงไฟฟ้า และระบบส่ง
นำรายได้เข้ารัฐ สร้างความยั่งยืนให้ประเทศ
เทพรัตน์ ย้ำว่า ด้วย กฟผ. ต้องนำรายได้ส่งเข้ารัฐ หรือเป็นผู้ทำธุรกิจแทนรัฐ เพื่อให้รายได้เหล่านั้นถูกนำไปพัฒนาประเทศ แต่เมื่อมีรายได้ ก็ต้องมีกำไร ซึ่งส่วนนี้จะถูกนำมายกระดับองค์กร และการดำเนินงาน โดยปัจจุบันสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าที่ กฟผ. ผลิตเองอยู่ที่ 30% และในอนาคตต้องการให้มีสัดส่วนมากกว่านี้
“เราอยากได้โรงไฟฟ้าที่ควบคุมได้ และมีกำลังผลิตเหนือความต้องการ ส่วนในหน้าร้อนปี 2024 คาดว่าจะมีความต้องการไฟฟ้ามากกว่าปี 2023 หลังเดือน มี.ค. 2024 มีการใช้ไฟฟ้ามากกว่าปีก่อนแล้ว แต่ถึงจะมากขึ้นก็ยังอยู่ในวิสัยที่ กฟผ. ดูแลได้”
ปัจจุบันสภาพคล่องของ กฟผ. อยู่ที่ 90,000 ล้านบาท ลดลงจากปี 2022 ที่เคยมีอยู่ราว 1.5 แสนล้านบาท แม้จะต้องแบกรับเรื่องค่า FT จากนโยบายของรัฐบาลต่อเนื่อง แต่หากต้องแบกรับต่อไปอาจถึงขั้นไปกู้เงินเพิ่ม ซึ่งภาครัฐต้องเป็นคนค้ำ ทำให้เกิดหนี้สาธารณะ และวนไปไม่มีที่สิ้นสุด
แนะทำ FT ให้นิ่ง เพื่อลดต้นทุนสินค้า
สุดท้าย เทพรัตน์ ต้องให้การค่าไฟ หรือ FT ควรจะมีการกำหนดให้ชัดเจน ไม่ผันผวนมากจนเกินไป เนื่องจากค่าไฟเป็นต้นทุนสำคัญในการนำไปคำนวณเพื่อผลิตสินค้า หรือทำธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งหากผันผวน ภาคธุรกิจย่อมนำตัวเลขโอกาสที่ค่าไฟสูงที่สุดมาคำนวณเพื่อความปลอดภัย และภาระย่อมตกไปถึงผู้บริโภค
“อะไรที่มันไม่แน่นอนคือความแพง ดังนั้นอะไรที่ควบคุมได้มันก็ดีกว่า แต่ถึงอย่างไรระบบไฟฟ้าต้องมีประสิทธิภาพ และความมั่นคงสูง คุณภาพไฟไม่ตก ไม่ดับ ควบคู่กับการดูแลค่าไฟฟ้าให้สามารถแข่งขันได้และเป็นธรรม เพื่อเป็นปัจจัยดึงดูดนักลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ”
สำหรับเทคนิคการประหยัดไฟในช่วงฤดูร้อน ผู้ว่าการ กฟผ. แนะให้ทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศบ่อย ๆ เพราะด้วยค่าไฟยังอยู่ที่ 4.18 บาท เมื่อเทียบระหว่างเครื่องปรับอากาศที่ไม่ทำความสะอาด กับเครื่องที่ทำความสะอาด แบบหลังย่อมกินไฟน้อยกว่าอยู่แล้ว
อ้างอิง // EGAT
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา