เรียนออนไลน์ทางออกหรือสร้างปัญหา วิกฤตความเท่าเทียมทางการศึกษาที่เกิดจากโควิด-19

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในทุกด้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่เว้นแม้แต่ระบบการศึกษาก็ได้รับผลกระทบ

ภาพจาก pixabay.com

สถาบันการศึกษาหลายแห่ง โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มประกาศปิดพื้นที่มหาวิทยาลัยชั่วคราว เปลี่ยนไปใช้การเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์แทน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่มหาวิทยาลัย ซึ่งแน่นอนว่าการรวมตัวกันของคนจำนวนมากในห้องเรียนแคบๆ คงไม่ใช่เรื่องดี

ซึ่งแม้ว่าในช่วงแรก การเรียนการสอนผ่านช่องทางออนไลน์จะดูเหมือนเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเหล่าอาจารย์ และนักศึกษาในมหาลัย เพราะไม่จำเป็นต้องหยุดเรียน ยังคงจัดการเรียนการสอนต่อไปได้ แต่คำถามคือนักศึกษาทุกคนมีความพร้อมสำหรับการเรียนออนไลน์จริงๆ หรือไม่?

ในประเทศสหรัฐอเมริกาเคยมีการรวบรวมข้อมูล และสำรวจความพร้อมของเด็กนักเรียนสำหรับการเรียนการสอนออนไลน์ โดยสำนักงานสถิติของสหรัฐฯ พบว่า เด็กนักเรียนในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กว่า 19% ไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ กว่า 34% ไม่มีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงติดตั้งที่บ้าน และที่น่ากังวลคือเด็กนักเรียนอีกกว่า 17% ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่มีคอมพิวเตอร์สำหรับใช้งานที่บ้าน

ซึ่งแน่นอนว่าในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่นนี้ หลายๆ โรงเรียนเริ่มเปลี่ยนการเรียนการสอนเป็นระบบออนไลน์แทน เด็กนักเรียนที่ไม่สามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ เท่ากับว่าไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาเช่นกัน หรือในบางครอบครัวที่มีจำนวนคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์สำหรับเรียนออนไลน์ไม่เพียงพอกับสมาชิกครอบครัวที่ยังอยู่ในวัยเรียน เด็กๆ อาจจำเป็นต้องแบ่งกันใช้งาน ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพการเรียนที่ลดลง

เรียนออนไลน์ ไม่ได้ใช้แค่กระดาษและปากกา

การเรียนการสอนในระบบออนไลน์ นักศึกษาจำเป็นต้องมีอุปกรณ์เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียน มากกว่าการเรียนในห้องเรียนปกติ ที่มีเพียงหนังสือเรียน เอกสาร สมุดจด และเครื่องเขียนก็เพียงพอสำหรับการเรียนแล้ว แต่การเรียนในระบบออนไลน์นักศึกษาจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้เพื่อใช้สำหรับการเรียน

ภาพจาก pixabay.com

แม้ว่าในปัจจุบันโทรศัพท์สมาร์ทโฟนจะกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานอย่างหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ไปแล้ว แต่อย่าลืมว่าโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการเรียนออนไลน์อย่างมีคุณภาพ ด้วยขนาดหน้าจอที่เล็กเกินไป จนอาจทำให้มองไม่เห็นสิ่งที่อาจารย์กำลังสอน รวมถึงราคาของสมาร์ทโฟนก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งเช่นกัน สมาร์ทโฟนราคาแพงย่อมมีความรวดเร็วในการใช้งาน ซึ่งเหมาะกับการเรียนการสอนออนไลน์มากกว่า

ภาพจาก pixabay.com

นักศึกษาบางคนที่มีฐานะทางการเงินดีกว่า ก็สามารถหาซื้อคอมพิวเตอร์ และแทบเล็ตเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการเรียนออนไลน์โดยเฉพาะได้ ซึ่งการใช้คอมพิวเตอร์ หรือแทบเล็ตที่มีหน้าจอใหญ่กว่าจะช่วยให้การเรียนออนไลน์มีความสะดวกมากขึ้น สามารถเปิดไฟล์เอกสารประกอบการเรียนได้พร้อมๆ กัน หรือแม้แต่จะใช้ปากกาจดบันทึกลงไปในไฟล์เอกสาร แล้วแชร์ต่อให้เพื่อนคนอื่นก็ได้ ซึ่งไม่สามารถทำได้ด้วยโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียว

ภาพจาก pixabay.com

ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันราคาของอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการเรียนออนไลน์จะมีราคาถูกลงมากกว่าแต่ก่อนแล้วก็ตาม แต่สำหรับบางครอบครัว การซื้ออุปกรณ์ชิ้นใหม่เพื่อนำมาเรียนออนไลน์โดยเฉพาะอาจเป็นเรื่องใหญ่เช่นกัน โดยราคาของคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คและแทบเล็ตปัจจุบันมีราคาเริ่มต้นประมาณ 10,000 บาทขึ้นไป แต่หากต้องการอุปกรณ์อื่นๆ เพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวกให้คุณภาพการเรียนออนไลน์ดีขึ้น ก็อาจต้องเสียเงินเพื่อซื้อคอมพิวเตอร์หรือแทบเล็ตรุ่นที่มีราคาแพงกว่านี้ รวมถึงหากต้องการปากกาสำหรับใช้จดบันทึกลงในแทบเล็ตก็ต้องเสียเงินเพิ่มอีกประมาณ 3,400 บาท

ดังนั้นแล้วนักศึกษา 1 คน อาจต้องเสียเงินเพื่อซื้ออุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการเรียนออนไลน์ประมาณ 20,000 บาทขึ้นไป แต่หากนักศึกษาคนใดที่มีอุปกรณ์ทุกอย่างพร้อมอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเสียเงินเพิ่มแต่อย่างใด

อินเตอร์เน็ตอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ

นอกจากนี้การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตก็นับว่าเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่นับว่ามีความสำคัญเช่นเดียวกัน เพราะหากไม่มีอินเตอร์เน็ตก็คงไม่สามารถเรียนผ่านระบบออนไลน์ได้แน่ๆ ซึ่งราคาแพคเกจอินเตอร์เน็ตของโทรศัพท์สมาร์ทโฟนปัจจุบันมีราคาให้เลือกหลากหลายตั้งแต่ 199 บาทเป็นต้นไป แต่ยิ่งแพคเกจที่มีราคาแพงขึ้นก็จะยิ่งสามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตได้มากขึ้นเช่นกัน

ซึ่งการสมัครใช้งานแพคเกจอินเตอร์เน็ตที่มีราคาค่อนข้างถูกอาจไม่ตอบโจทย์การเรียนออนไลน์มากนัก เพราะการเรียนออนไลน์จำเป็นต้องใช้ทั้งการส่งภาพ และเสียงในเวลาเดียวกัน ทำให้ต้องใช้อินเตอร์เน็ตปริมาณมาก

ภาพจาก pixabay.com

เมื่ออินเตอร์เน็ตบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟนอาจไม่เพียงพอต่อการเรียนออนไลน์ การติดตั้งอินเตอร์เน็ตที่บ้านจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีกว่า เพราะใช้งานได้โดยไม่จำกัดปริมาณ รวมถึงมีความเร็วที่สูงเหมาะกับการเรียนออนไลน์มากกว่า แต่ต้องยอมรับว่าอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่บ้านมีราคาแพงกว่าเช่นกัน โดยปัจจุบันมีราคาเริ่มต้นที่ 599 บาทขึ้นไป

แต่นับว่ายังมีความโชคดีอยู่บ้างที่หลายๆ มหาวิทยาลัยเริ่มมีมาตรการที่ให้ความช่วยเหลือนักศึกษาให้สามารถเรียนออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการให้ยืมอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นอย่าง คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค รวมถึงสนับสนุนแพคเกจอินเตอร์เน็ตโทรศัพท์มือถือแบบไม่จำกัดปริมาณอินเตอร์เน็ตให้กับนักศึกษาที่มีความขาดแคลน

ที่มา – Vox

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา