ผลสำรวจจาก Edelman Trust Barometer พบว่า ผู้คนไม่เชื่ออีกต่อไปแล้วว่างานหนักจะทำให้ชีวิตดีขึ้นมาได้ แม้ว่า ศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศจะแข็งแกร่งและผู้ที่เป็นกลุ่มตัวอย่างจากผลสำรวจส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้วก็ตาม พวกเขาก็ไม่เชื่อว่าชีวิตของพวกเขาจะดีขึ้นมาได้ภายใน 5 ปี
ผลสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า แม้ระดับพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตแค่ไหน ก็ไม่ได้ทำให้คนเชื่อว่า ทำงานหนักแล้วชีวิตจะดีขึ้น ด้าน Richard Edelman CEO จาก Edelman ระบุว่า เรากำลังอยู่ในภาวะความน่าเชื่อถือที่มีความย้อนแย้ง ขัดกันเองในตัว นับตั้งแต่การทำสำรวจความเชื่อมั่นมาตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว พบว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นตัวเร่งทำให้ผู้คนเชื่อถือ ไว้วางใจเพิ่มขึ้น แม้ในเอเชียและตะวันออกกลางก็ยังเป็นเช่นเดิม แต่สำหรับประเทศที่เจริญแล้ว ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญ
ประเทศพัฒนาแล้ว ไม่เชื่อว่าการทำงานหนักจะทำให้ชีวิตดีขึ้นได้ภายใน 5 ปี
ประเด็นความเหลื่อมล้ำทางรายได้กระทบต่อความเชื่อมั่นต่อผู้คน โดยเฉพาะคนที่อยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะให้ความสำคัญมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมองว่า การทำงานหนักไม่น่าจะทำให้พวกเขาและครอบครัวของเขาเองจะมีชีวิตที่ดีขึ้นมาได้ภายใน 5 ปี ประเทศเหล่านี้มีอยู่ 15 แห่งคือญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ อิตาลี ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย รัสเซีย แคนาดา เกาหลีใต้ ไอร์แลนด์ สเปน สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา
ส่วนประเทศกำลังพัฒนา ยังคงมองโลกในแง่ดีว่า ทำงานหนักน่าจะทำให้ชีวิตดีขึ้นได้ ประเทศที่ว่าคือแอฟริกาใต้ อาร์เจนตินา ไทย มาเลเซีย เม็กซิโก ซาอุดิอาระเบีย จีน บราซิล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โคลัมเบีย อินเดีย อินโดนีเซียและเคนยา
ประเทศที่ประชาชนกังวลว่าจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
ประชาชนกังวลว่ากำลังสูญเสียความเคารพในตัวเองและศักดิ์ศรีของตัวเองไปจากประเทศที่ตัวเองใช้ชีวิตอยู่ ประเทศส่วนใหญ่ที่สูญเสียความมั่นใจและความไว้วางใจมี 21 ประเทศด้วยกันจาก 28 ประเทศคือ อินเดีย เม็กซิโก อิตาลี ฮ่องกง โคลัมเบีย สเปน ไทย แอฟริกาใต้ บราซิล ฝรั่งเศส เคนยา มาเลเซีย อาร์เจนตินา จีน สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เยอรมนี รัสเซีย และเกาหลีใต้
56% มองว่าทุนนิยมกำลังสร้างความเดือดร้อนให้โลก มากกว่าสร้างผลดี
ผู้คนที่ทำแบบสำรวจทั้งจากประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้วมองว่าโลกทุนนิยมกำลังทำร้ายพวกเขา ทั้งในแง่เรื่องของความยุติธรรม 74% ในแง่ของความปรารถนาให้เกิดความเปลี่ยนแปลง 73% ในแง่ขาดความมั่นใจ 66% และในแง่ของการขาดความหวัง 26%
83% มีความกังวลต่ออนาคตของการทำงานหรือ Future of Work
ผู้คนกลัวว่าจะสูญเสียงาน ตกงานมากถึง 83% ด้วยสาเหตุดังนี้ มีพนักงานจากผลสำรวจราว 83% กังวลว่าจะตกงานเพราะระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ทั้งหลายจะเข้ามาแทนที่ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย การขาดการฝึกฝน เรียนรู้ การแข่งขันกับต่างประเทศที่แข่งกันด้วยระดับราคาที่ถูกกว่า เช่น ค่าแรงที่ถูกกว่า แหล่งผลิตที่ถูกกว่า การอพยพและ Gig economy หรือการทำงานแบบใหม่ที่เน้นจ้างงานแบบชั่วคราว เป็นต้น
66% ผู้นำทางสังคมไม่น่าเชื่อถือ
ผลสำรวจนี้แบ่งแยกประเภทบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือไว้ด้วย โดยแบ่งเป็น น่าเชื่อถือ, ความรู้สึกกลางๆ และไม่น่าเชื่อถือ คนที่น่าเชื่อถือมากคือ นักวิทยาศาสตร์ 80% ผู้คนในชุมชนท้องถิ่นของตัวเอง 69% พลเมืองในประเทศที่ตัวเองอยู่ 65% คนที่น่าเชื่อถือกลางๆ (เป็นความรู้สึกไม่บวก ไม่ลบ) คือผู้คนระดับ CEO 51% และผู้สื่อข่าว 50% ส่วนบุคคลที่ไม่น่าเชื่อถือเอาเสียเลย คือผู้นำทางศาสนา 46% ผู้นำรัฐบาล 42% คนที่ร่ำรวยมากๆ 36%
เมื่อดูแบบสำรวจในเรื่องคะแนนของความสามารถในการแข่งขันและความจริงใจแล้ว พบว่า ไม่มีสถาบันใดที่ทำได้ทั้งสองอย่าง เช่น รัฐบาลนั้นมีความสามารถในการแข่งขันอยู่ที่ระดับคะแนนติดลบ -40 ส่วนความจริงใจนั้นก็อยู่ในโซนความไม่จริงใจ คะแนนติดลบอยู่ที่ -19 ขณะที่ NGOs มีความจริงใจสูง คะแนนอยู่ที่ระดับ 12 คะแนน แต่ในส่วนของความสามารถในการแข่งขัน ก็ไม่สามารถแข่งขันได้ดี คะแนนติดลบอยู่ที่ -4 ในส่วนของธุรกิจก็มีความสามารถในการแข่งขันอยู่ที่ติดลบ -2 ส่วนความจริงใจอยู่ที่ระดับ 14 คะแนน เป็นต้น
จากการทำแบบสำรวจเรื่องความเชื่อมั่นหรือความไว้วางใจของ Edelman มาตลอด 20 ปี ผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมทำแบบสำรวจรวมกว่า 2 ล้านคน จากบริษัท 145 แห่ง พนักงานกว่า 80,000 คน รวมถึงสัมภาษณ์ผู้นำทางธุรกิจมาแล้วกว่า 50 คนตลอดจนได้รับการรีวิวจากบทความทางวิชาการระบุว่า ความเชื่อมั่นนั้นสำคัญต่อผู้คน ไล่มาตั้งแต่ผู้บริโภค พนักงาน ผู้กำหนดนโยบาย นักลงทุน มีผลต่อความยืดหยุ่นต่อความเสี่ยง ตลอดจนสื่อมวลชน เรียกได้ว่ามีความสำคัญต่อผู้คน องค์กรทุกแขนงเลยก็ว่าได้ แค่นั้นไม่พอ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ความเชื่อมั่นแต่ละปีเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยด้วย ไม่ได้ยึดติดตายตัวต่อแนวคิดแบบใดแบบหนึ่ง
ความเชื่อมั่น ความไว้วางใจเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ถ้าแบ่งออกเป็น 2 ช่วง อาจจะเรียกได้ว่าเป็นช่วงรูปธรรมกับนามธรรม ช่วง 10 ปีแรกคือปี 2001-2010 จะเป็นทั้งความเชื่อถือที่เพิ่มขึ้นจากตัวบุคคล องค์กร เช่น NGOs มีอิทธิพลเพิ่มขึ้น จากนั้น CEO ที่เป็นคนดังทั้งหลายก็เริ่มมีความน่าเชื่อถือลดลง ความเชื่อถือที่มีต่อภาคธุรกิจมากกว่าภาครัฐและสื่อมวลชนไปจนถึงความเชื่อถือที่มีต่อศักยภาพและความโปร่งใสที่เป็นสารัตถะสำคัญที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่น เป็นต้น
ในขณะที่ 10 ปีถัดมา คือช่วงปี 2011-2020 เริ่มเป็นความน่าเชื่อถือที่เป็นนามธรรม จับต้องไม่ได้แต่มีประเด็นลุ่มลึกมากกว่าสิบปีแรก มีผลทางจิตใจและเชื่อมโยงกับโครงสร้างทางสังคม เช่น ความเชื่อมั่นต่อวิกฤตภาวะผู้นำ ความเชื่อมั่นในบริบทของความเหลื่อมล้ำ ความเชื่อมั่นช่วงวิกฤต ความเชื่อมั่นที่มีต่อความจริง ความเชื่อมั่นในการทำงาน และปี 2020 คือความเชื่อมั่นต่อความสามารถและความจริงใจ
ผลสำรวจโดย Edelman ที่เผยแพร่ในปี 2020 นี้ ทำการสำรวจมาอย่างยาวนานถึง 20 ปีแล้ว ครั้งนี้เป็นการสำรวจออนไลน์กว่า 34,000++ คน เริ่มสำรวจช่วง 19 ตุลาคมถึง 18 พฤศจิกายน 2019 คนที่ร่วมทำแบบสำรวจนี้แบ่งได้หลากหลายวัยจาก 28 ประเทศ ดังนี้ ซาอุดิอาระเบีย ญี่ปุ่น ไอร์แลนด์ แคนาดา อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ รัสเซีย เยอรมนี ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิงคโปร์ จีน อาร์เจนตินา มาเลเซีย เคนยา ฝรั่งเศส บราซิล แอฟริกาใต้ ไทย สเปน โคลัมเบีย ฮ่องกง อิตาลี เม็กซิโกและอินเดีย
การทำแบบสำรวจออนไลน์นี้ มีคนร่วมทำแบบสำรวจ 28 ประเทศ ประเเทศละ 1,150 คน อายุ 18 ปีขึ้นไปและแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นโครงสร้างส่วนบน (คือกลุ่ม Informed Public) มีผู้เข้าร่วมทำแบบสำรวจ 500 คนจากสหรัฐอเมริกาและจีน รวมทั้งประเทศที่เหลืออีกแห่งละ 200 คน กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มตัวอย่างที่เป็นภาพตัวแทน 17% ของประชากรโลก โดยมีเงื่อนไข 4 ข้อสำคัญคือ มีอายุ 25-64 ปี, มีการศึกษาที่ดี, เป็นครัวเรือนที่มีรายได้ระดับสูงตามกลุ่มอายุในแต่ละประเทศ ส่วนกลุ่มที่สองเป็นโครงสร้างส่วนล่าง (คือกลุ่ม Mass Population) ถือเป็นตัวแทน 83% ของประชากรโลก อายุ 18-24 ปี มีผู้เข้าร่วมทำแบบสำรวจประเทศละ 250 คน
จากนั้น Edelman ก็สรุปว่า ในส่วนของภาคธุรกิจจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาความเชื่อถือที่มีต่อ Future of Work ของผู้คน ความกลัวว่าจะตกงาน ความกลัวที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ทั้งการขาดแคลนโอกาสที่จะเรียนรู้ ฯลฯ เรื่องนี้ ซีอีโอจะต้องเข้ามาแก้ปัญหาและให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการฝึกฝน การให้โอกาสได้เรียนรู้งานแห่งอนาคต การสร้างความหลากหลาย การแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางรายได้ เรื่องนี้แบบสำรวจพบว่าซีอีโอจะต้องเข้ามามีบทบาทนำในการสร้างความเปลี่ยนแปลงมากกว่าที่จะต้องรอให้รัฐบาลมีแนวคิดที่จะจัดการปัญหา อยู่ที่อัตรา 74% เพิ่มขึ้นจากปี 2018 ในอัตรา 9%
นอกจากนี้ แบบสำรวจยังพยายามหาจุดสมดุลที่ภาครัฐ ภาคธุรกิจ สื่อมวลชน และ NGOs มาทำงานร่วมกันเพื่อให้สังคมดีขึ้นด้วยและยังทิ้งท้ายสรุปไว้ด้วยว่าหากจะสร้างความเชื่อมั่นเพื่อที่จะสร้างอนาคตได้จริง จะต้องทำให้ทั้งฝั่ง NGOs สื่อมวลชน ภาครัฐ ภาคธุรกิจ มาอยู่ในจุดสมดุลคือมีความจริงใจและมีขีดความสามารถในการแข่งขันได้ ด้วยการจ่ายค่าแรงที่เป็นธรรม มุ่งเป้าให้การสนับสนุนและให้โอกาสคนในการฝึกฝน เรียนรู้เพิ่มทักษะได้ โดยแต่ละฝ่ายจะต้องโอบรับความแตกต่างของกันและกันเพื่อหาจุดสมดุลที่เหมาะสม จึงจะสามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้
สรุป
บทสรุปจากผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศและการแบ่งขั้วระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนามีมุมมองต่างกันในเรื่องการทำงาน ประเทศพัฒนาแล้วมองว่า การทำงานหนักไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้น ส่วนประเทศกำลังพัฒนายังก้มหน้าก้มตาทำงานหนักต่อไปแล้วหวังว่า สักวันหนึ่งชีวิตจะดีขึ้นมาได้ แน่นอน ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ก็ยังมีความเชื่อว่าต้องทำงานหนักเพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้น
นอกจากคนไทยจะทำงานหนักเพื่อหวังว่าชีวิตจะดีขึ้น ไทยยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความกลัวว่า ตัวเองกำลังจะสูญเสียความเคารพในตนเอง กำลังสูญเสียศักดิ์ศรีในการใช้ชีวิตกับประเทศที่ตัวเองใช้ชีวิตอยู่ด้วย
ในขณะที่ประเด็นเรื่องทุนนิยมผู้คนมองแง่ลบมากกว่าแง่บวก เพราะโลกทุนนิยมในปัจจุบันหาความยุติธรรมทางสังคมได้ยากยิ่ง โดยหวังว่าสักวันประเทศจะเปลี่ยนแปลงแต่ก็มีความรู้สึกที่ใช้ชีวิตอย่างไร้ความหวังด้วย
ส่วนเรื่องความกังวลต่อหน้าที่การงานในอนาคต กลุ่มตัวอย่างจาก 28 ประเทศทั่วโลกมีความกลัวสูงมากอยู่ที่ 83% กลัวว่าจะตกงาน กลัวโลกอนาคตที่ระบบอัตโนมัติจะเข้ามาแทนที่และการขาดโอกาสในการเรียนรู้ฝึกฝนยิ่งสร้างความกลัวให้กับพวกเขา ไปจนถึงแรงงานอพยพที่ทำให้คนในประเทศกังวลว่าเป็นปัจจัยที่จะเข้ามาแย่งงานในประเทศ เช่นเดียวกัน ยิ่งประเทศที่มีการดูแลประชาชนแย่เท่าไร ภาวะสมองไหลก็จะยิ่งเบ่งบานมากขึ้น นอกจากนี้ ความน่าเชื่อถือที่มีต่อผู้นำรัฐบาล ผู้นำทางศาสนา ไปจนถึงคนรวยมหาศาลก็กลายเป็นมีความน่าเชื่อถือต่ำกว่า 50% สัมพันธ์กับความสิ้นหวังในการใช้ชีวิตในประเทศและความหวาดกลัวว่าจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังด้วย
- กรุงเทพติดอันดับ 3 ของเมืองที่คนทำงานหนักที่สุดในโลก
- งานหนักไม่เคยฆ่าคน ไม่จริง ผลการศึกษาจาก WHO เผย มีคนตายจากการทำงานหนักปีละเกือบ 8 แสน
ที่มา – InsiderMag, Edelman
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา