แบงก์ชาติ-TMB ย้ำเศรษฐกิจไทยปี 2019 โตต่ำ สภาพัฒน์จี้ 6 หนทางแก้ปัญหา

หลายปีมานี้เงินในกระเป๋าประชาชนเหลือน้อยลงทุกที ฝั่งรัฐบาลยังบอกต่อเนื่องว่าเศรษฐกิจดีอยู่ แต่ล่าสุดหน่วยงานภาครัฐอย่างสภาพัฒน์ ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 เติบโตต่ำสุดในรอบ 4 ปี แล้วทั้งปี 2019 เศรษฐกิจไทยจะไปอย่างไรต่อ?

TMB ปรับลด GDP ไทยเหลือ 3% จากเดิมมองว่าจะโตถึง 3.5%

นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) บอกว่า ปี 2019 นี้ปรับการเติบโตเศรษฐกิจไทยเหลือ 3.0% จากปี 2018 จากเดิมที่มองว่าจะโต 3.5% สาเหตุหลักเพราะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2019 ชะลอตัวกว่าที่คาดการณ์ไว้ เช่น มูลค่าส่งออกไทยติดลบ 2% ผลกระทบหลักมาจากเศรษฐกิจโลกเป็นขาลงแรงและเร็วกว่าเดิม

ทั้งนี้มองว่าการส่งออกของไทยปี 2019 โต 0.5% จากปี 2018 ปัจจัยที่ต้องจับตามองได้แก่ เศรษฐกิจ (GDP) และการค้าโลกที่จะคาดว่าจะเติบโตลดลงมาอยู่ที่ 3.3% และ 3.4% และต้องจับตาสงครามการค้าที่กดดันสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ของไทย ที่คิดสัดส่วนเป็น 1 ใน 4 ของการส่งออกไทย ขณะเดียวกันหากไทยโดยตัดสิทธิ GSP (สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร) จากสหรัฐมูลค่าประมาณ 4,400 ล้านเหรียญสหรัฐอาจทำให้ภาคการส่งออกทรุดตัวกว่าที่คาดการณ์ไว้

ด้านการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของไทยปี 2019 นี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเติบโตชะลอตัวลงปี 2019 คาดว่าจะมี 40.4 ล้านคนโต 5.5% (ปี 2018 โต 7.5%) สาเหตุหลักเพราะนักท่องเที่ยวจีน และยุโรปที่เป็นตลาดหลักของไทยเศรษฐกิจไม่ดี ดั้งนั้นประเทศต้องหันมาเน้นรายได้จากกระแสไทยเท่่ยวไทยเพื่อชดเชยรายได้

ความหวังของไทยจะมาจากการลงทุนภาคเอกชนปีนี้คาดว่าจะเติบโต 4% และจะมาในช่วงครึ่งปีหลังเมื่อรัฐบาลมีความชัดเจน เพราะปัจจุบันบริษัทไทยอยู่ในสถานะพร้อมลงทุน ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจอยู่ในเกณฑ์ดี และต้นทุนการเงินอยู่ในระดับต่ำ (คาดว่าทั้งปีธนาคารแห่งประเทศไทยจะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75%) การลงทุนใหม่ของเอกชนปี 62 นี้หากเกิดขึ้นจริงมูลค่าอาจสูงถึง 6.3 ล้านล้านบาท เช่น การลงทุนอุตสาหกรรม S-Curve อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ ปิโตรเคมี เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ

ส่วนค่าเงินบาทของไทยในปี 2019 มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ปัจจุบันเคลื่อนไหวที่ 31.6-32.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้ทั้งปีนี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในช่วง 31.2-32.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าราว 2.7 % จากปีก่อนหน้า สาเหตุหลักเพราะพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังเกินบัญชีดุลสะพัด แต่ค่าเงินบาทจะผันผวนมากขึ้นจากความเสี่ยงจากสงครามการค้าและความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์

แบงก์ชาติประเมินเศรษฐกิจไทย ปี 2019 โตต่ำประเมิน

ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า เมื่อสภาพัฒน์ ประกาศว่าไตรมาส 1 ปี 2019 GDP เติบโต 2.8% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ใกล้เคียงกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อ 8 พ.ค. 2019 ประมาณการไว้

ปัจจัยหลักมาจากการส่งออกหดตัว เศรษฐกิจโลกชะลอ แม้อุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวต่อเนื่อง จากการใช้จ่ายภาคเอกชน ทั้งการบริโภคภาคเอกชนเติบโต 4.6% และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 4.4% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

หลังจากนี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ เพราะปัจจัยต่างประเทศเป็นสำคัญและต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าของสหรัฐฯ และจีน ซึ่งในเดือนมิ.ย.นี้ กนง.จะมีประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้งในมิ.ย. 2019 นี้

เมื่อสภาพัฒน์ ปรับลดการเติบโตเศรษฐกิจไทย รัฐไทยต้องโฟกัสเรื่องอะไรบ้าง?

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) แถลงข่าวว่า การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2562 ควรให้ความสำคัญ 6 เรื่องได้แก่

  1. การผลักดันให้การส่งออกปี 2019 ไม่ต่ำกว่า 3% เช่น การช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า เพิ่มความร่วมมือทางการค้ากับประเทศอื่นๆ ฯลฯ
  2. สนับสนุนให้ไทยมีรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ต่ำกว่า 2.21 ล้านบาท เช่น การฟื้นฟูภาพลักษณ์ปัญหาฝุ่น PM2.5
  3. ผลักดันให้การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ ไม่ต่ำกว่า 70% และการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจไม่ต่ำกว่า 80%
  4. สนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน
  5. การดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย สร้างความเข้มแข็งให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเศรษฐกิจฐานราก

  6. การรักษาความสงบเรียบร้อยและบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ

สรุป

เศรษฐกิจไทยเจอปัญหาจากภายนอกที่กระทบการส่งออก (เครื่องจักรหลักของไทย) ส่วนในประเทศการเมืองที่ไม่ราบรื่น รัฐบาลที่ยังไม่ชัดเจนก็ทำให้ภาคเอกชนชะลอการลงทุน ต่างชาติไม่กล้าใส่เงินเข้ามาในไทย สุดท้ายแล้วถ้าเศรษฐกิจไทยยังไม่พัฒนาจากภายใน จากรากฐาน ย่อมมีปัญหาอื่นเกิดตามมาอย่างต่อเนื่อง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

จากนักข่าวการเงินหนังสือพิมพ์ธุรกิจย่านประชาชื่น ผันตัวเข้าโลกออนไลน์ ความท้าทายครั้งใหม่คือการเล่าเรื่องเงินให้เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง