ในภาพรวมอัตราประชากรโลกนับตั้งแต่ทศวรรษ 1950 ถึง 2020 ผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปค่อยๆ มีแนวโน้มสูงขึ้น ผิดกับจำนวนประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปีที่พุ่งต่ำลง (ตามกราฟด้านล่างที่อธิบายแต่ละพื้นที่ในโลก)
จากกราฟดังกล่าว เราจะเห็นได้ว่าในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในละตินอเมริกาและแคริบเบียน ในยุโรปและในอเมริกาเหนือ ผู้สูงวัยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมีอัตราสูงขึ้นมาก ในขณะที่ประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปีค่อยๆ ลดต่ำลงสวนทางกันชัดเจน
ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติในปี 2015 ระบุว่าญี่ปุ่นนั้น มีอัตราการเกิดอยู่ที่ 1.5 อัตราการขยายตัวของประชากร อยู่ที่ -0.2 อายุคาดเฉลี่ยอยู่ที่ 83 ปี รายได้ประชาชาติต่อหัวอยู่ที่ 38,840 เหรียญสหรัฐ
อัตราประชากรในญี่ปุ่นสะท้อนอะไร?
ปี 2017 ที่ผ่านมา โครงสร้างประชากรญี่ปุ่นที่มีผู้สูงอายุวัยตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปหรือมากกว่าอยู่ในอัตรา 27.6% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในโลก และคาดว่าจำนวนประชากรจะลดลงเหลือ 88 ล้านคนในปี 2065 หรือในอัตรา 38.4%
- ปี 1920 ประชากรญี่ปุ่นอยู่ที่ 56 ล้านคน
- ปี 1965 อยู่ที่ 98 ล้านคน
- ปี 2010 อยู่ที่ 128 ล้านคน
- ปี 2015 อยู่ที่ 127 ล้านคน
- ปี 2065 อยู่ที่ 88 ล้านคน
ผู้สูงวัยที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นสวนทางกับอัตราเกิดประชากรที่ต่ำลงในญี่ปุ่นสร้างปัญหาให้เศรษฐกิจได้อย่างไร ?
บทความจาก Bloomberg พูดถึงญี่ปุ่นโดยแบ่งประเทศออกเป็นสองพื้นที่ คือพื้นที่ A กับพื้นที่ B โดยพื้นที่ A คือพื้นที่แห่งความเจริญรุ่งเรือง เขานับตั้งแต่เมืองโตเกียวจรดโอซากาซึ่งมีระยะกว่า 300 ไมล์ หรือประมาณ 480 กิโลเมตร
ทั้งสองเมืองนี้อยู่ในบริเวณภาคคันโต (Kantō) และคันไซ (Kansai) เป็นพื้นที่ที่เป็นชุมชนเมือง เป็นดินแดนที่มีความมั่งคั่งระดับโลกกระจุกตัวอยู่
ขณะที่พื้นที่ B ต่างกับพื้นที่ A ราวฟ้ากับเหว เมืองที่เหลือนี้ถือเป็นเมืองเล็ก เมืองน้อย เมืองในชนบท เมืองที่กำลังร้าง เมืองที่ผู้คนพากันอพยพเข้าไปทำมาหากินในเมืองหลวงหรือในพื้นที่ A ตามที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น
ขณะเดียวกัน ผู้สูงวัยในเมืองของพื้นที่ B ก็ค่อยๆ ตายลง คนหนุ่มสาวก็ยอมทิ้งทรัพย์สินของตัวเองเพื่อย้ายเข้าเมือง
ร้านค้าปลีก เป็นส่วนหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือชีวิตผู้สูงวัยในชนบท
ญี่ปุ่นเองก็รู้ตัวดีว่ามีปัญหาเรื่องคนสูงวัยที่ล้นเกิน เด็กรุ่นใหม่ก็มีอัตราการเกิดต่ำ อีกทางเลือกหนึ่งที่เขาใช้แก้ปัญหา ก็คือการเปิดร้าน Misekko Asaminai ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกเล็กๆ ในจังหวัด Akita ขึ้นมา ซึ่งถือว่าอยู่ในพื้นที่ส่วน B เป็นเมืองที่ไม่เจริญนัก
ร้านนี้เปิดมาตั้งแต่ 3 ปีที่แล้วด้วยทุนสนับสนุนจากรัฐบาลเอง เพื่อแก้ปัญหาสำหรับคนสูงวัยในการเข้าถึงร้านค้าเพื่อจับจ่ายใช้สอย
ร้านค้าปลีกขนาดเล็กที่ว่ามานี้ก็มีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือคนสูงวัยนี่แหละ โดย Etsuko Kudo หญิงสูงวัยอายุ 66 ปี เธอกลัวมากว่า เธอจะทำอย่างไร ถ้าเธอไม่สามารถขับรถในระยะไกลๆ เพื่อที่จะไปหาหมอรักษาตัวหรือแม้แต่แค่ไปซื้อของใช้ก็ยังทำไม่ได้ เธอจะทำยังไง เธอบอกว่าตอนนี้เธอยังสบายดี แต่เธอกังวลชีวิตเธอในอนาคตมากกว่า
เธอบอกว่า ในจังหวัดที่เธออยู่นี้ ไม่มีคนหนุ่มสาวอาศัยอยู่เลย มีแต่ผู้สูงวัยอยู่เต็มไปหมด ถ้าเกิดอะไรขึ้น ทุกคนก็จะมารวมตัวกัน ในทุกๆ วันพฤหัสบดีของสัปดาห์ทุกคนจะมาทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ร้องเพลงด้วยกัน
องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่า อัตราประชากรญี่ปุ่นในชนบทนั้นจะลดลงอย่างรวดเร็ว 17% ภายใน 12 ปี หรือตั้งแต่ปี 2018 ถึงปี 2030 และอัตราประชากรน่าจะลดลงอย่างรวดเร็วปีละ 2% ในทศวรรษ 2030
รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามแก้ปัญหาสังคมสูงวัยหลายด้านด้วยกัน
มีการสำรวจจากกระทรวงเกษตรเมื่อปีที่ผ่านมา พบว่าในชนบทนั้นจะประสบปัญหาค่อนข้างมาก กว่า 80% ของเมืองต่างต้องการให้มีร้านค้าปลีกเพื่อที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้อยู่อาศัยบริเวณนั้น ปัญหาหลักก็มาจากความสูงวัยนี่เอง
ทั้งนี้ นับจากปี 2002 ถึงปี 2017 นั้น โรงเรียนรัฐในญี่ปุ่นกว่า 7,000 แห่งถูกปิดตัวลง ถูกรื้อถอน ผู้คนหนุ่มสาวต่างอพยพเข้าเมือง
ธนาคาร Sumitomo Mitsui Trust รายงานว่า ปัญหาเกิดขึ้นหลังจากที่หนุ่มสาวอพยพเข้าเมืองในสัดส่วนกว่า 20% ก็คือ การทิ้งมรดกทรัพย์สินไว้เบื้องหลัง เพราะไม่ต้องการอยู่ในเมืองร้าง เมืองชนบท เมืองที่ไม่ค่อยมีความเจริญ แถมยังเต็มไปด้วยผู้สูงวัย โรงเรียนบางแห่งในชนบท 3 โรงเรียนรวมกันมีนักเรียนอยู่ราว 30 – 40 คน
ญี่ปุ่นก็พยายามแก้ไขปัญหาสังคมสูงวัยในประเทศอยู่ ไล่มาตั้งแต่การเปิดร้านค้าปลีกเพื่อช่วยผู้สูงอายุในชนบท การจ้างคนให้ออกไปสร้างธุรกิจในชนบทมากถึง 3 ล้านเยน ทั้งนี้ รัฐพยายามกระตุ้นให้อัตราประชากรเพิ่มขึ้น จากเดิมอยู่ที่ 1.4 ซึ่งเป็นอัตราการให้กำเนิดบุตรของผู้หญิงญี่ปุ่นเป็น 1.8 ไปจนถึงฟรีค่าบริการสถานรับเลี้ยงเด็ก ถึงแม้จะมีการเปิดรับผู้อพยพเข้ามาทำงานบ้าง แต่ก็ไม่ได้บรรเทาปัญหาแรงงานขาดแคลนเท่าไรนัก
สถานการณ์สังคมสูงวัยของไทยก็แย่ไม่แพ้ใคร
ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติในปี 2015 สำหรับประเทศไทยนั้น มีอัตราการเกิดอยู่ที่ 1.4 อัตราการขยายตัวของประชากร อยู่ที่ 0.3 อายุคาดเฉลี่ยอยู่ที่ 73 ปี รายได้ต่อหัวอยู่ที่ 5,720 เหรียญสหรัฐ ในอาเซียนไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงที่สุด แรงงานไทยก็มีแนวโน้มลดลง
ไทยมีแนวโน้มแก่ก่อนรวยสูง กล่าวคือ แก่แล้วก็ยังไม่รวยเลย แถมยังมีหนี้แบกไว้เป็นภาระอีก รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 26,371 บาท หนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 167,913 บาท
อัตราการจ้างงานในไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะแรงงานไทยเข้าสู่วัยเกษียณอายุ บางส่วนออกจากวัยแรงงาน คือ เริ่มหยุดหารายได้ในช่วงวัย 45 ปี
ปัญหาของครัวเรือนที่มีเงินไม่พอใช้ยามเกษียณ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรายได้น้อยจนไม่เหลือออม บางส่วนตั้งใจว่าจะออมแต่สุดท้ายทำไม่ได้ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงในการใช้ชีวิตยามบั้นปลาย และส่วนที่คิดและวางแผนเกษียณแล้วมีเพียง 25% เท่านั้น
การแก้ปัญหาสังคมสูงวัยของไทย เรื่องใหญ่คือเรื่องเงิน เรื่องหนี้ที่คนสูงอายุไทยยังย่ำแย่ และเป็นภาระใหญ่ในวัยเกษียณ
ปัญหาเรื่องผู้สูงอายุเต็มเมืองก็กำลังสร้างปัญหาให้ไทยเช่นกัน แต่ไทยอาจจะหนักกว่าญี่ปุ่นมากหน่อย เนื่องจาก คนไทยมีหนี้แม้ว่าอยู่ในวัยเกษียณ คนมีเงินไม่พอใช้ เมื่อมีหนี้หลังเกษียณ เงินออมไม่พอยังชีพ รายได้ก็ไม่สามารถหาเพิ่มได้แล้ว การชำระหนี้ก็มีปัญหา การเลี้ยงชีพแต่ละวันก็ลำบาก
วิธีแก้ปัญหาของไทยล่าสุดที่ช่วยขับเคลื่อนนโยบายรองรับสังคมสูงวัย ประกอบด้วย การออมเพื่อสังคมสูงวัย ซึ่งมีการออมหลายรูปแบบ คือการออมด้วยการปลูกไม้ยืนต้น จัดตั้งองค์กรส่งเสริมการปลูกไม้เพื่อการออม โดยรับรองให้ไม้ดังกล่าวเป็นหลักทรัพย์ในการทำธุรกรรมต่างๆ เช่น การประกันตัว การกู้ยืม
การเสริมสร้างศักยภาพด้วยการจัดชมรมผู้สูงอายุ การปรับสภาพแวดล้อมสังคมสูงวัย 1 ตำบล 1 ศูนย์ การสร้างชุมชนรอบรู้สุขภาพและพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว เช่น ศาสนสถาน สถาบันการศึกษา หน่วยบริการสุขภาพ เข้ามาช่วยดูแลคนในชุมชน สร้างสหกรณ์ออมทรัพย์ ธนาคารเวลา เพื่อสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว
สรุป
สำหรับญี่ปุ่น ประเด็นเรื่องสังคมสูงอายุนั้นถือว่ารัฐบาลมีความพยายามค่อนข้างมากในการแก้ไขปัญหา นโยบายอุดหนุนและให้บริการฟรีในด้านต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนนั้นก็นำมาใช้ได้จริง แต่ปัญหาความเจริญที่กระจุกตัวในเมืองหลวงขนาดใหญ่ยังคล้ายกับไทย
คนหนุ่มสาวในต่างจังหวัดต่างทยอยเข้าเมืองไม่ต่างกัน แต่ปัญหาของไทยค่อนข้างสาหัสเพราะครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ก็จะมีเงินออมไม่พอใช้ในยามเกษียณ ยิ่งถ้ามีหนี้ในช่วงวัยเกษียณที่ไม่สามารถหารายได้เพิ่มได้อีก การจะเผื่อเงินไว้สำหรับรักษาตัว รักษาพยาบาลยามป่วยไข้ก็ยิ่งสร้างปัญหา การวางแผนการออมก่อนเกษียณของไทยจึงสำคัญและจำเป็นมาก
ที่มา – Bloomberg, World Population Prospects 2019, Population and Social Security in Japan, The Economist, ทำเนียบรัฐบาล, สำนักงานสถิติแห่งชาติ, ธนาคารแห่งประเทศไทย (1), (2)
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา