เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เผยปี 64 เงินบาท ผันผวนสูง ต้านทานยาก

คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เผย เงินบาท ปี 2564 มีความผันผวนสูงเนื่องจากการระบาดระลอกใหม่และสภาพคล่องล้นในระบบเศรษฐกิจโลกจากการอัดฉีดเม็ดเงินเยียวยาเศรษฐกิจ และมีแนวโน้มปรับตัวเหวี่ยงสูงเนื่องจากค่าเงินมีการปรับตัวเคลื่อนไหวตามสกุลเงินต่างประเทศมากถึง 85%

เงินบาท
ภาพโดย Maneenuch Siangwarn

ทิศทางของค่าเงินบาทไทยในปี 2564 ยังคงมีความผันผวนอย่างต่อเนื่องจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อการไหลเข้าออกของกระแสเงินทุนในประเทศ นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้ว่า ความผันผวนของค่าเงินบาทไทยในปี 2564 นอกจากจะมีแนวโน้มเหวี่ยงตัวสูงแล้วการต้านทานหรือควบคุมความผันผวนของค่าเงินยังทำได้ยาก เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทมีการเคลื่อนไหวตามสกุลเงินต่างประเทศสูงถึง 85% ทำให้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทจะปรับตัวตามทันที ซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องสภาพคล่องที่ล้นตลาดโลกจากดำเนินนโยบายอัดฉีดเงินเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจในแต่ละประเทศทั่วโลก รวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐที่จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนลงและทำให้เกิดการไหลของสภาพคล่องมายังภูมิภาคเอเชียมากขึ้น

เงินบาท แข็งค่า
เงินบาท ภาพจาก Shutterstock

อย่างไรก็ตาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ คาดการณ์ว่า แนวโน้มค่าเงินบาทไทยในปี 2564 จะแข็งค่ามากขึ้นจากปัจจัยเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ ดังนี้

  • การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องและมีสัดส่วนการลงทุนต่ำ อ้างอิงข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า การแข็งค่าของเงินบาทในประเทศไทยสาเหตุหลักมาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงแต่มีการนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศต่ำ โดยลงทุนเพียงครึ่งเดียวของการเกินดุลบัญชีเกินสะพัดและยังเป็นการลงทุนโดยตรงหรือการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่มีการป้องกันความเสี่ยง 100% ทำให้ไม่สามารถลดแรงกดดันค่าเงินลงได้
  • เกินดุลการค้า มีกำลังการผลิตภายในประเทศต่ำทำให้อัตราการนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบลดลง และลงลงต่ำกว่าการหดตัวของการส่งออกในช่วงที่มีการระบาดรอบที่ผ่านมา ซึ่งการเกินดุลการค้านี้ยิ่งส่งผลให้บัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากขึ้น
  • อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำว่าของสหรัฐ การที่ไทยมีอัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าสหรัฐฯ ทำให้ระดับราคาสินค้าของไทยถูกกว่าของสหรัฐฯโดยเปรียบเทียบ โดยตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนธันวาคม 2563 ของไทยอยู่ที่ -0.27% ขณะที่สหรัฐฯ มีอัตราเงินเฟ้อที่ 1.2% ซึ่งการที่ไทยมีอัตราเงินเฟ้อต่ำนี้เป็นผลมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ประเทศมีระดับการผลิตจริงต่ำกว่าระดับศักยภาพการผลิตของประเทศ

แม้ทิศทางของเงินบาทจะขึ้นอยู่กับตลาดสินค้าแต่ความผันผวนของค่าเงินบาทที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากตลาดเงินที่มีปริมาณการซื้อขายสินทรัพย์มากกว่าปริมาณการซื้อขายสินค้าและบริการ นอกจากนี้การแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วของเงินบาทไทยในตอนนี้เกิดจากการความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดเงินของไทยที่ยังมองว่าเสถียรภาพทางการเงินของไทยมีความเสี่ยงต่ำทำให้มีเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ของไทยอย่างต่อเนื่อง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

A freelance writer at Brand Inside who is hitting hard by COVID-19, main interests are international economics, business & power dynamics, trade war, and public policy.