แม้ E-Commerce ในไทยจะเติบโตเร็ว แต่สิ่งที่ตามมาก็คือความเสี่ยงในการถูกโกงที่เพิ่มขึ้น

ปัจจุบันคนไทย 3 ใน 4 ของประเทศมีการซื้อขายสินค้าผ่าน E-Commerce ถือเป็นการการเติบโตที่เร็วมาก เพราะใช้เวลาเพียงไม่ถึง 10 ปี แต่การเติบโตที่รวดเร็วนี้ก็ตามมาพร้อมกับความเสี่ยงในการถูกทุจริตที่มากขึ้นเช่นกัน

การซื้อสินค้าแบบ E-Commerce

ความสะดวกสบายที่มาพร้อมกับอันตราย

ต้องยอมรับว่าทั้งคนเมือง และคนต่างจังหวัดเริ่มหันมาซื้อสินค้าผ่าน E-Commerce ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ที่ทำธุรกิจนี้โดยตรง รวมถึงช่องทาง Social Media ที่เป็นพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย โดยสิ่งที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือสินค้าแฟชั่น, สินค้าความงาม และเครื่องใช้ไฟฟ้า แถมเหตุผลหลักๆ ยังมาจากความสะดวกในการซื้อขาย

เดฟ ดีมาน กรรมการผู้จัดการ เอ็กซ์พีเรียน เอเชีย แปซิฟิก ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตลาดใหม่ เล่าให้ฟังว่า แม้การเติบโตของ E-Commerce ในไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่อันตรายในการซื้อสินค้าผ่านช่องทางนี้ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน หลังมีคนไทยกว่า 19% ที่เคยพบเจอการถูกทุจริตในการซื้อสินค้าผ่านช่องทางนี้

การทุจริตในการซื้อขาย E-Commerce

“เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ เพราะการซื้อสินค้าบนโลกออนไลน์ไม่น่ามีการทุจริต แต่จริงๆ แล้วเรื่องนี้กลับเติบโตไปพร้อม E-Commerce ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างมาก และประเทศไทยยังมีการทุจริตทางตรงเป็นอันดับที่ 5 เมื่อเทียบกับตลาดเกิดใหม่ เช่นเวียดนาม, อินเดีย และอินโดนีเซียเป็นต้น”

ตัดสินใจซื้อสูง ดังนั้นความเชื่อมั่นต้องดีกว่านี้

สำหรับมูลค่าการซื้อขายต่อคนของคนไทยที่ใช้จ่ายผ่าน Smartphone และอุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ กับพ่อค้าแม่ค้าที่ไม่รู้จักกันมาก่อนนั้นเฉลี่ยสูงถึง 140 ดอลลาร์/ครั้ง (ราว 4,500 บาท) เป็นอันดับที่ 2 ของภูมิภาคนี้ แสดงให้เห็นถึงความเชื่อใจในการซื้อขายผ่าน E-Commerce ที่ค่อนข้างดี

การซื้อสินค้าผ่าน Smartphone

“เมื่อเราเน้นซื้อขายผ่าน Smartphone และไม่รู้จักพ่อค้าแม่ค้ามาก่อน ทำให้ความปลอดภัยมันต้องมีมากกว่านี้ เพื่อการันตีได้ว่าสินค้า หรือบริการที่ได้มามันจะถึงมือผู้ซื้อให้ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งการยืนยันตัวตนด้วยวิธีต่างๆ น่าจะเป็นตัวช่วยแก้ปัญหานี้ได้ไม่มากก็น้อย”

Biometric กับการการันตีความปลอดภัย

ดังนั้นการนำ Biometric หรือการยืนยันตัวตนด้วยวิธีต่างๆ มาช่วยการันตีในการซื้อขาย ก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกที่ดีในการยกระดับมาตรป้องกันการทุจริต เพราะเมื่อแต่ละฝั่งรับรู้ข้อมูลส่วนตัวกันแล้ว การจะตามตัวในภายหลังหากมีเหตุการณ์ไม่ดีเกิดขึ้นก็สามารถทำได้ง่ายกว่าในปัจจุบัน

สรุป

แม้ Biometric และการยืนยันตัวตนจะช่วยป้องกันการโกงได้ แต่ปัจจุบันคนไทยก็ยังไม่ไว้วางใจในการฝากข้อมูลส่วนบุคคลไว้กับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แม้แต่หน่วยงานภาครัฐก็ตาม ดังนั้นการเดินหน้าเพื่อป้องกันการทุจริตบน E-Commerce อาจต้องเริ่มจากการสร้างความไว้วางใจจากหน่วยงานที่ดูแลข้อมูลเรื่องนี้ด้วย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา