รู้จัก Easy E-Receipt มาตราการลดหย่อนภาษี 2567 กัน

ขึ้นปีใหม่มาก็เข้าสู่ช่วงที่ต้องเตรียมตัวลดหย่อนภาษีกัน โดยปีนี้กรมสรรพากรได้ออกมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในช่วงต้นปีแบบนี้ให้กับพวกเราในชื่อว่า Easy E-Receipt ซึ่งจะมีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง ไปดูกัน

Easy E-Receipt คืออะไร 

เป็นมาตรการลดหย่อนภาษีประจำปี 2567 ซึ่งสามารถใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้ส่วนบุคคล (ที่จะยื่นช่วงต้นปี 2568) ได้สูงสุดถึง 50,000 บาท โดยปีนี้จะมีช่วงเวลาให้ได้ใช้สิทธิตามมาตรการนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 กุมพาพันธ์ 2567 โดยจะคล้ายกับมาตรการช้อปดีมีคืนของปี 2566 ก็คือลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 50,000 บาทเหมือนกัน แต่จะแตกต่างอย่างชัดเจนตรงที่ ช้อปดีมีคืนนั้นสามารถใช้ใบกำกับภาษีแบบเต็มทั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์และแบบกระดาษได้ แต่สำหรับ Easy E-Receipt นั้นจะใช้ได้เพียงแค่ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบในรูปแบบของอิเล็กทรอนิกส์ทางอีเมลเท่านั้น และไม่ได้หมายความว่าทุกร้านที่ส่งอีเมล์ให้คุณได้จะใช้ลดหย่อนภาษีได้ ต้องเป็นร้านที่ร่วมมาตรการนี้เท่านั้น โดยอาจสังเกตได้จากร้านค้าที่มีสัญลักษณ์เหล่านี้ ส่วนใหญ่จะอยู่ตามห้างสรรพสินค้าอยู่แล้ว

ขั้นตอนวิธีการเข้าร่วมโครงการ

สำหรับใครวางแผนการจับจ่ายใช้สอยในช่วงต้นปีอยู่ อยากให้ลองพิจารณาการซื้อสินค้าผ่านมาตรการนี้ เพราะนอกจากจะได้สินค้าที่เราต้องการแล้ว ยังได้ใช้สิทธิสำหรับการลดหย่อนภาษีไปในตัวด้วยถือเป็นการวางแผนภาษีของปี 2567 ไปในตัว โดยหลังจากที่เราซื้อของและชำระเงินเสร็จเรียบร้อย สามารถขอให้ร้านที่เข้าร่วมโครงการออกใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ Easy E-Receipt ได้เลย โดยเวลาในการส่งอีเมลให้กับเรานั้นจะขึ้นอยู่กับปริมาณของลูกค้าและการจัดการของทางร้าน ส่วนใหญ่จะไม่เกิน 7-14 วันหลังจากวันที่เราซื้อ

ลดหย่อนได้เท่าไร

สำหรับใครที่มีรายได้ปีนี้เป็นปีแรกหรือ First jobber ที่มีรายได้แล้วนั้นอาจจะเข้าใจว่า 50,000 บาทนี้ถ้าเราซื้อสินค้าและบริการครบ 50,000 บาทก็จะได้ลดหย่อนภาษีเต็มๆ เลย 50,000 บาท ที่เข้าใจนี้เป็นความเข้าใจที่ผิด เนื่องจากจะมีการลดหย่อนไปตามขั้นบันไดตามขั้นของภาษีที่เราอยู่ในปีนั้น

เช่น หากเราใช้จ่ายจนครบ 50,000 บาท

  • หากรายได้ต่อปี น้อยกว่า 150,000 จะไม่ได้ลดหย่อนภาษี
  • 150,001-300,000 (ฐานภาษี 5%) จะลดหย่อนภาษีได้ 2,500 บาท
  • 300,001-500,000 (ฐานภาษี 10%) จะลดหย่อนภาษีได้ 5,000 บาท
  • 500,001-750,000 (ฐานภาษี 15%) จะลดหย่อนภาษีได้ 7,500 บาท
  • 750,001-1,000,000 (ฐานภาษี 20%) จะลดหย่อนภาษีได้ 10,000 บาท
  • 1,000,001-2,000,000 (ฐานภาษี 25%) จะลดหย่อนภาษีได้ 12,500 บาท
  • 2,000,001-5,000,000 (ฐานภาษี 30%) จะลดหย่อนภาษีได้ 15,000 บาท
  • 5,000,001 ขึ้นไป (ฐานภาษี 35%) จะลดหย่อนภาษีได้ 17,500 บาท

สินค้าที่เข้าร่วมและไม่เข้าร่วม

  1. สินค้าและบริการจากร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
  2. สินค้าประเภทหนังสือ และ e-book
  3. สินค้า OTOP

โดยที่สินค้าชนิดที่ 2 สามารถออกเป็นใบรับอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-receipt เพื่อใช้ลดหย่อนภาษีแทนได้ ส่วนสินค้าที่ไม่เข้าร่วมนั้นได้แก่

  1. สุรา เบียร์ และไวน์
  2. ยาสูบ
  3. รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
  4. ค่าน้ำมัน และก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
  5. ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
  6. ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
  7. ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าว นอกเหนือจากระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567

ใครที่กำลังวางแผนภาษีหรือวางแผนซื้อของและรางวัลให้ตัวเองก็อย่าลืมพิจารณามาตรการนี้ไว้ด้วยนะ นอกจากได้ของที่ถูกใจ ยังใช้ลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมได้อีกด้วย

Source: rd.go.th,  iTAX pedia,krungsri.com

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา