“มันเจ็บ แต่ไม่ตาย” EA ยืนยัน การเงินแข็งแกร่ง ถึง Adder จะหมดแต่กระแสเงินสดยังเข้าเสมอ

EA ยืนยันยังมีรายได้อยู่ ยังมีความสามารถในการชำระหนี้คืน ฐานะการเงินมั่นคงแข็งแกร่ง ธุรกิจอินเทรนด์ มีศักยภาพเติบโตอีกมากในอนาคต 

หลังจากที่ EA ถูก Force Sell อย่างหนัก จนเป็นเหตุให้ผู้บริหารต้องออกมาแถลงยอมรับวานก่อน พร้อมชี้แจงเพิ่มเติมในวันรุ่งขึ้นถึงเรื่องรายได้ว่ายังมีกระแสเงินสดต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุน

บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA

โดยสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และวสุ กลมเกลี้ยง Executive Vice President บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) EA ร่วมแถลงเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีเนื้อหาสำคัญ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้

  1. เอาความจริงมาสู้กับข่าวลือ 
  2. EA ช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และ Product Champion เป็นอย่างไร
  3. Worst scenario เป็นยังไง ราคาหุ้นอยู่อย่างนี้ เราคิดอย่างไร ให้นักทุนพิจารณาว่าบริษัทจริงแล้วๆ ควรมีมูลค่าเท่าไร 

เรื่องแรก หุ้นโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ของเรากำลังหมด Adder (อัตราค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่ม) และโปรเจคอื่นๆ ทยอยหมดไปเรื่อยๆ ทำให้รายได้ลดลง จะรับมืออย่างไร?

สมโภชน์ อาหุนัย ระบุว่า รายได้ในการขายพลังงานจะมี 2 ส่วน ส่วนที่ 1 คือไฟฐาน และบวก Adder การที่หมดไป หมายความว่า การขายไฟของโครงการที่บริษัทมี ก็ยังมีราคาไฟฐานที่เรายังมีรายได้อยู่ ไม่ได้หมายความว่ารายได้หายไป 100% การที่บอกโปรเจกต์หมด ไม่ได้หมดปีหน้า 

รายได้ลดลง จะรับมืออย่างไร?

ผมเห็นอยู่แล้วว่าสิ่งที่เราพยายามทำทุกวันนี้ เราเข้าตลาดหลักทรัพย์ คือความพยายาม เรารู้ว่าธุรกิจนี้เป็น Red ocean ขึ้นเรื่อยๆ มีเรื่องคอนเนคชันมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ได้มีมาร์จินดีแบบสมัยก่อน จึงเป็นที่มาของโครงการ Champion Product 

ตลาดทุนมีความกังวล จะเริ่มมีคนพูดถึงว่าสิ่งที่ทำอยู่เวิร์คหรือไม่ คนเริ่มคิดว่าอันนี้ไม่ดี อันนั้นไม่ดี จึงเป็นที่มาว่าถ้าทุกอย่างเสียหายหมด การลงทุนไม่ประสบความสำเร็จ บริษัทจะอยู่รอดไหม? เรามีความสามารถในการชำระหนี้คืนรึเปล่า? สรุปแล้วว่าเรามีความสามารถในการชำระหนี้คืน 

Adder ทยอยหมด แต่ยังมีรายได้จากไฟฐาน

อมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เล่าว่าโซลาร์มี 4 โครงการ ลพบุรี 8 เมกะวัตต์ นครสวรรค์ ลำปาง พิษณุโลก ที่ละ 90 เมกะวัตต์ ตอนนี้ ตัวที่เราหมด Adder แล้วมี 2 ตัวคือที่ลพบุรี 8 เมกะวัตต์และนครสวรรค์ซึ่งหมดเมื่อปลายปีที่แล้ว ปีนี้ 2 โครงการนี้ยังขายไฟได้อยู่ แต่ไม่มี Adder แล้ว

ส่วนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็คือปีหน้า คือโครงการที่ลำปางก็จะหมด Adder แต่ขายไฟได้เหมือนเดิม ปีถัดไปคือปี 2569 ที่พิษณุโลก

ถัดไปคือโครงการลม กังหันที่ภาคใต้ ปี 2570 และปี 2571 โครงการลมที่ชัยภูมิ ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ที่บอกว่า Adder หมด คือทยอยหมด และจริงๆ แล้ว ทุกโครงการที่เราเซ็นสัญญาและทำการขายไฟ เรามีการสื่อสารชัดเจนว่า Adder มีเวลา 10 ปี เพราะฉะนั้นเวลานับหนึ่งของแต่ละโครงการที่มันเหลื่อมกัน ทำให้เวลาที่ Adder จะหมดมันก็เหลื่อมกันไป

ถ้าไปดูงานวิจัยต่างๆ ที่หลายสำนักทำออกมา ทุกคนจะทราบอยู่แล้วว่า Adder ของเรามีเวลา 10 ปี เขาจะมีการประมาณการออกไปว่า ปีไหนจะหมดเมื่อไร อย่างไร ซึ่งทุกโครงการถ้าดูตามรายงานประจำปี จะมีการเขียนโครงการว่า โครงการไหนเริ่มเมื่อไร จะหมด Adder เมื่อไร 

ค่าไฟ เราก็ยังได้ค่าไฟฐาน Adder ที่หายไปคือ โซลาร์ หายไป 65 บาท ต่อ 1 หน่วย ลม หายไป 3.5 บาทต่อหน่วย ตัวเลขนี้ก็ยังสูงกว่า FIT ที่มีการประมูล 5,000 เมกะวัตต์ล่าสุด ดีกว่า เพราะ 

  1. ยังขายไฟอยู่ ไม่มี Adder ก็ยังแพงกว่า FIT 
  2. ไม่มีหมดอายุ FIT ที่เรามีในปัจจุบันยังมีหมดอายุที่ 25 ปี แต่โครงการที่ได้สมัยก่อนเป็นโครงการที่ต่อไปเรื่อยๆ ผมคิดว่าเป็นกระแสเงินสดสำหรับบริษัทในระยะยาว 

ปีนี้ Adder หมดไปแล้วบางส่วน ตัวเลขรายได้รวมอยู่ที่ 9,000 ล้านบาท จากนั้น Adder จะทยอยลดไปเรื่อยๆ สุดท้ายปี 2030 รายได้จะลดเหลือประมาณ 5,000 ล้านบาท 

สัญญาในการขายไฟฟ้าจะต่อทีละ 5 ปี พอใกล้ครบ 5 ปี เราซึ่งเป็นผู้ขายจะส่งจดหมายไปที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตและการไฟฟ้าภูมิภาค ว่าประสงค์จะขอต่อสัญญาอีก ก็จะมีการต่อสัญญา เป็นการต่อสัญญาทุก 5 ปี 

สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

สัญญาที่เป็น Adder จริงๆ สมัยก่อนทำไมถึงมีสัญญาพวกนี้ขึ้น ทำไมถึงมี Adder ที่แพงมหาศาลในสมัยนั้น?

สมโภชน์เล่าว่า สาเหตุที่ Adder แพงมหาศาล เพราะเมื่อก่อนต้นทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแพงมาก ในวันนั้นกระทรวงพลังงานเขาคำนวณแล้วว่า ถ้าให้ 6.50 บาท 8 บาท ในช่วงตอนแรกๆ ที่ทำกันจะกระทบไฟฐานเท่าไร วันนั้นคำนวณออกมา กระทบเป็นหลักสตางค์ ไม่ใช่หลักสิบสตางค์หรือยี่สิบสตางค์หรือบาทหนึ่ง นี่คือสิ่งที่เป็นพวกหน่วยกล้าตายที่ได้ไป

พอผ่านมาแล้ว เริ่มมี Product เริ่มมีโครงการออกมาอีกและไม่มีการปรับปรุงเงื่อนไขการให้การสนับสนุนจนตัวเลขเยอะขึ้นจนเริ่มเป็นภาระกับระบบ มันต้องแยกก่อนว่าใครเป็นหน่วยกล้าตาย ใครเป็นคนตามมาและเป็นภาระของระบบ ถ้าย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ใครได้ก่อน ใครได้หลัง จะเห็นเอง 

ทุกวันนี้ที่เป็นภาระของประเทศและมาบอกว่าพลังงานทดแทน ทั้งหมดนี้ก็ยังเป็นหลักสิบสตางค์อยู่ 

คนที่ยื่นก่อนคนแรกคือบริษัทเอ็กโก กรุ๊ป ผมเป็นคนยื่นคนที่ 2 ในประเทศ ควรจะได้ 8 บาทด้วย แต่สักพักก็มีบางจากได้ คนนั้นได้ ทุกคนได้หมดเลยแต่ผมไม่ได้ คนอื่นยื่นใช้เวลา 6 เดือนบ้าง 1 ปีบ้าง ผมใช้เวลา 3-4 ปี 

จนค่า Adder จาก 8 บาทวันนั้นเหลือ 6.50 บาท ที่ผมได้ ทั้งที่ผมเป็น First Come, First Serve ถ้าไปอ่านระเบียบ ใครคุณสมบัติครบก่อนจะได้ก่อน แต่ผมก็ได้ทีหลัง ซึ่งก็ดีกว่าไม่ได้ เราเป็นคนแรกๆ ที่เข้าไปแล้วทุกคนบอกว่าจะมาทำไม 

วันนั้นที่เราเข้าไปบอกว่าจะทำ 90 เมกะวัตต์ วันนั้นคนที่ใหญ่ที่สุดคือเยอรมนีทำ 20 เมกะวัตต์ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะบอกว่าที่ว่ารัฐบาลทำไมให้เยอะ จริงๆ แล้ว ให้เพื่อให้มันคุ้มทุนเท่านั้นเอง

เราไปทำจุดหนึ่งแล้วมันหลุด ไม่เหมือนจีน เชื่อไหมว่าวันที่ E@ เริ่มทำแบตเตอรี่ เมืองจีนก็เพิ่งเริ่มทำไม่นานนะ แต่ผ่านมา 7-8 ปี E@ ก็ยังมีขนาด 1 กิกะวัตต์ แต่จีนเป็นเบอร์ 1 ของโลกไปเรียบร้อย วันนั้นเขาบอกเลยว่าเขาจะ Subsidy ให้แบตเตอรี่ของคนจีนเท่านั้น LG, Samsung มาเจ๊งหมด เขาบอกว่าเขาต้องการให้อุตสาหกรรมเกิด

ที่ผมเล่ามาก็เพื่อจะบอกว่า เขามีเวลาแน่นอนว่าเขา Subsidy กี่ปีและเปิดให้เกิดการแข่งขันและเขาบอก WTO ชัดเจนว่าทำแบบนี้ ทำไปเพื่ออะไร ทุกวันนี้เขาเป็นเบอร์ 1 ของโลก

เราพลาดที่ว่าเมื่อเราเริ่มแล้ว เราไม่หยุด เรามี Product อื่นๆ เข้ามา มีฉันขอด้วย ฉันขอด้วย จนเป็นภาระของระบบปัจจุบัน เสร็จแล้วก็เอาตรงนี้มาตีทุกคน ซึ่งผมมองว่ามันไม่ถูก

สำหรับประเด็นการแก้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า ผมมองว่ามันเป็นเรื่องที่ควรจะคุยกัน เราควรทำให้ภาพรวมไปได้ก่อน ต้องทำให้ทุกคน Win-Win

ในรอบ 5,000 เมกะวัตต์ เราได้ลมมา 1 โครงการ ยังอยู่ในช่วงของการขอความเป็นธรรมจากศาลปกครอง มีการอุทธรณ์กันอยู่ ผมก็ยังยืนยันว่า ระบบการคัดกรอง ระบบการคัดเลือกไม่โปร่งใส ไม่เป็นธรรม ศาลกรุณาให้ความคุ้มครองชั่วคราว 

ที่เรารู้สึกแปลกๆ คือข้อสอบอันเดียวกัน สอบให้วิศวะกับหมอและบอกข้อสอบอันนี้มีปัญหา แต่โครงการสอบหมอบอกโอเค สอบวิศวะไม่โอเค ทั้งที่ข้อสอบอันเดียวกัน ถ้าระบบอันเดียวกันต้องไม่ถูกทั้งหมด ไม่ใช่ไม่ถูกเฉพาะคนนี้ ถูกเฉพาะคนนั้น ผมยังห่วงเพราะว่ามีบทเรียนมาแล้ว 

ตัวอย่างจากบริษัทโกลบอลกรีน สมัยที่ยื่นขอขายพลังงานเหมือนผม เป็น Adder และเขาก็ถูกการคัดเลือกที่ไม่เป็นธรรม เขาก็เลยไม่ได้ เขาก็ไปฟ้องศาลปกครอง ผ่านมา 8-9 ปีแล้ว ศาลปกครองตัดสินให้โกลบอลกรีนชนะ 

จากนั้นศาลปกครองสั่งลงมาเลยว่า ให้รับซื้อไฟจากโกลบอลกรีน เพราะว่า กฟภ. กระทรวงพลังงานบอกว่าทำไม่ได้เพราะไม่มีโควตาเหลือแล้ว เพราะขายไปหมดแล้ว ผมกำลังจะบอกว่ากระทรวงยุติธรรมทำได้ แต่บังคับใช้ไม่ได้

สำหรับโครงการที่จะมีการยื่นรอบ 2 ผมก็ไม่แน่ใจว่ารอบ 2 จะเกิดหรือเปล่า จากข่าวที่ปรากฏว่าคนที่มีการฟ้องร้อง จะไม่มีสิทธิยื่นรอบ 2 ผมรู้สึกว่าทำไมต้องมีลิสต์ว่าคนไหนเข้าได้ เข้าไม่ได้ ตามรัฐธรรมนูญไทยควรจะมีสิทธิเท่าเทียมกันไหม ถ้าคนหนึ่งมีปัญหาเวลาหนึ่ง คนละกรรม คนละวาระ ทำไมต้องเอามาอยู่ในเรื่องการยื่นรอบ 2

Adder จะหมด ทำรายได้จากไฟฟ้าฟ้ากลายเป็นศูนย์?

ตอบว่าไม่จริง มีไฟฐานอยู่และยังแพงกว่าราคาไฟ FIT

บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA)

ปัจจุบัน EA มีฐานะการเงินอย่างไร

อมร ระบุว่า เวลาเราจะมีแผนลงทุนในแต่ละปี เราประเมินการณ์อยู่แล้วว่าธุรกิจจะสร้างรายได้เท่าไร กู้แบงก์ และคืนเงินอย่างไร เราประมาณการเพื่อให้เหมาะสมกับกระแสเงินสดที่จะได้ในแต่ละปี 

จริงๆ แล้ว ต้องถามว่า ฐานะการเงินแต่ละคนให้คำนิยามอย่างไร ดีกับไม่ดี ในมุมมองผม เราทำหน้าที่ดูแลการเงิน เราทำในแผนที่เรามีเงินพอที่จะจับจ่ายใช้สอย ทั้งในส่วนการใช้จ่ายปกติ ทั้งการคืนหนี้ เราก็วางแผน เพราะการที่เรามีเงินสดในมือเยอะเกินไปไม่ใช่เรื่องดี มันเงินพวกนี้มันมีต้นทุนหมด การถือเงินไว้เฉยๆ ไม่ใช่เรื่องดี 

เราก็พยายามจะเอาเงินที่มีไปทำอย่างอื่นเพื่อให้เกิดดอกผล มากกว่าจะรับเงินฝาก ซึ่งดอกเบี้ยเงินฝากค่อนข้างต่ำ วันนี้เรามีเงินสดพอจะใช้จ่ายตามแผนการใช้เงินของเรา 

ถ้ามองในภาพรวมวันนี้ DE ของเราอยู่ที่เท่าไร?
(DE หรือ Debt to Equity Ratio หรือ DE Ratio คืออัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน หรือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทมีภาระหนี้สินเท่าไร) DE ของบริษัทอยู่ที่ 1.6 เราอยู่ที่ 1.5-1.6 ตลอด ไม่เคยสูงกว่านี้

สมโภชน์ ระบุว่า เราอยู่ในตลาดทุน มีข้อมูลในบริษัทระดับหนึ่ง วันนี้ E@ ยังมีเครดิตเรตติ้งอยู่ที่ BBB+ เรายังอยู่ใน investment grade คนที่เขาทำหน้าที่นี้และเข้าถึงข้อมูลนี้ยังให้เกรดระดับนี้ มันเป็นหลักฐานชัดเจน ว่าเรามีฐานะการเงินในระดับที่ดี

อมร เสริมว่า วันนี้ตั้งแต่มีประเด็นเรื่อง NEX จนถึง E@ เจ้าหนี้ก็เดินมาคุยทุกคนเพื่อขออัพเดตข้อมูล เข้าใจได้ เพราะเห็นราคาเป็นอย่างนี้ ก็ต้องถามก่อนแล้วว่ามีอะไรรึเปล่าที่เขาไม่รู้ เจ้าหนี้เราทุกคน สถาบันการเงินทั้งหลายก็คุยกับเขาเรื่อยๆ อยู่แล้ว หลังจากอธิบายให้เขาเห็นภาพ เขาก็สบายใจ แบงก์ก็สนับสนุนเราเหมือนเดิม เขาจะเป็นคนแรกที่เดือดร้อนเพราะเป็นเจ้าหนี้ เป็นหนี้ส่วนใหญ่ ใหญ่กว่าหุ้นกู้อีก

วสุ ระบุว่าถ้าพูดถึงเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน ตัวเงินกู้ระยะสั้น เราไม่ได้ rely on ธนาคารเดียว ใช้ 11 ธนาคาร เงินกู้ระยะยาวก็ให้การสนับสนุนหลัก อยากให้สบายใจเรื่องนี้ 

ส่วนเรื่อง สภาพคล่องบริษัทจะครบดีลหุ้นกู้เดือนสิงหาคม-เดือนกันยายน 5,500 ล้านบาท หมายความว่าธนาคารพร้อมให้เงินใช่ไหม?

สมโภชน์ กล่าว่า เรามีแผน rollover เพื่อให้มีการจ่ายคืนเงินให้กับผู้ถือหุ้นกู้ 5,500 ล้านบาท สถาบันการเงินที่สนับสนุนเรา ยังเข้าใจเราอยู่ ส่วนที่ผมออกมาเคลียร์เพื่อสร้างความมั่นใจว่าข่าวลือมันไม่จริง

โดยรวม เรามีแผนเพียงพอที่จะรับสิ่งเหล่านี้ ลึกๆ บริษัท E@ ไม่เหมือนบริษัทอื่นๆ บริษัทพลังงานมีข้อดีอย่างหนึ่งเพราะมีสัญญาขายไฟระยะยาวกับรัฐบาล 

ลูกหนี้ของ E@ คือรัฐบาล แสงแดดขึ้นลง เรามีรายได้เข้า เรามีกระแสเงินสดที่คงที่ทุกวัน เรารับเงินจากการไฟฟ้าทุกเดือน ไม่เหมือนบริษัทประเภทอื่นทั่วไปที่ออกหุ้นกู้ เช่น ขาย x, y เพื่อได้เงินสด ถ้าเศรษฐกิจดี อาจจะขายดี ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี อาจขายไม่ได้ ทำให้เกิดความเสี่ยงกับเจ้าหนี้ มีหนี้เสร็จ ไม่รู้ว่า บริษัทจะมีกำไรเท่าไรจะมาจ่าย มันมีความเสี่ยงที่จะทำให้คนกังวลถ้าจะซื้อหุ้นกู้จะได้เงินคืนเมื่อไร

แต่บริษัท E@ หรือบริษัทที่ทำธุรกิจนี้ รายได้มันค่อนข้างชัดเจน คำนวณได้ เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่า สิ่งที่เราทำอยู่นักลงทุนก็ดูออกว่าความเสี่ยงของหุ้นกู้เป็นอย่างไร สถาบันการเงินก็ดูออกว่าการปล่อยกู้ไปแล้วจะได้เงินคืนเมื่อไร อย่างไร เพราะเขาเป็นคนแรกที่ได้รับเงินหลังจากที่เราไปขายไฟ

E@ จะขายหุ้นกู้อีก มั่นใจว่าจะขายได้ตามเป้ามากน้อยอย่างไร?

สมโภชน์ ระบุว่า เรามีกระแสเงินสด ระยะยาวจ่ายหนี้ได้ทั้งต้น ทั้งดอก เรามีกระแสเงินสดเข้ามาทุกเดือน ผมเชื่อว่าคนที่ได้หุ้นกู้นี้ไปจะได้รับผลตอบแทนที่ดีและมีความเสี่ยงที่ต่ำ เรายังเป็น investment grade อยู่ เราเชื่อว่า ธรรมชาติธุรกิจที่เราอยู่ น่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งที่เป็นหุ้นกู้และเจ้าหนี้

Cash flow เราติดลบ จะให้ความมั่นใจกับนักลงทุนยังไง?

สมโภชน์ กล่าวว่า ปีที่แล้ว ที่ติดลบ เพราะเป็นปีที่เราไปช่วยบริษัทลูก บริษัทหลาน ช่วยสร้างให้เกิดธุรกิจ สิ่งที่เราทำนี่ ทำครั้งเดียว ไม่ได้ทำเรื่อยๆ เราทำเพราะต้องการให้ธุรกิจของเรามันเริ่มเดิน ถ้าเราอยากได้เขา เราก็ต้องแลกกัน เขาลงแรงมากกว่าเรา เราลงเงินมากกว่าเขา เหมือนกับ NEX เหมือนกันทุกอัน 

การลงทุนของโรงไฟฟ้า ไม่เหมือนกับโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนพลังงานเพราะเป็นการลงทุนครั้งเดียว หลังจากนั้นก็เป็นต้นทุนในการบำรุงรักษา การดูกระแสเงินสดอาจไม่ได้สะท้อนความสามารถในการชำระเงินของบริษัทอย่างแท้จริง

วสุ ระบุว่า กระแสเงินสดที่เป็นลบปีที่แล้ว กลับมาเป็นบวกในปีนี้ สถานการณ์จะดีขึ้นเรื่อยๆ สำหรับเรื่องนี้ 

เป้าหมายของการเพิ่มทุน

สมโภชน์ ระบุ ผมเคยเล่าไปแล้วครั้งหนึ่งว่า ในประเด็นเรื่องจุดประสงค์ของการเพิ่มทุน หนึ่ง คือความต้องการให้ธุรกิจนั้นอยู่บนลำแข้งของตัวเองในอัตราส่วนฐานะการเงินที่เหมาะสม สอง เราต้องการกอบกู้ทีมงานเราให้กลับมา มีความเป็นเจ้าของในบริษัท 

วันนี้สิ่งที่กำลังทำคือทำให้ทุกคนกลับมา สิ่งที่เราหายไป คือความเชื่อมั่น มันไม่ใช่พื้นฐานของบริษัท ก่อนจะเกิดเรื่องถูก Forced sell มีข่าวลือต่างๆ นานา ทั้งคุณหลินหนีไปแล้วบ้าง E@เข้าไปฮุบบ้าง 

ทำไมผมบอกบริษัทนี้มันมีพื้นฐานที่ดี ลองนึกดูว่าในไทยมีขายรถที่เป็นรถไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ครบวงจรมีใครบ้าง บางคนอาจนำเข้าบ้าง ประกอบบ้าง มีใครทำครบวงจรขนาดนี้ มีบริการหลังการขายดี มีดีลเลอร์ทั่วประเทศตั้งแล้ว 12 แห่ง มีชาร์จเจอร์เยอะที่สุดในไทย คนที่ขายไทยตอนนี้เราก็เป็นเบอร์ 1 ผมถามหน่อยว่าในตลาดตอนนี้ใครคือเบอร์ 2 ที่ใกล้เคียงกับเรา.. ไม่มี 

มีบริษัทไหนที่มีรถยนต์ครบทุกประเภทที่เป็น EV ผมกล้าพูดว่าไม่มี วันนี้ที่ต้องออกมาอธิบายเพื่อให้เข้าใจว่า วันนี้บริษัทดีๆ มันมีแผล อย่างที่ผมบอกคือ “มันเจ็บแต่ไม่ตาย”

ส่วนสาเหตุ ทำไมต้องแยกการเพิ่มทุนเป็นสองครั้งเพราะเราเข้าใจว่าตลาดสับสน นักลงทุนยังสับสนอยู่ว่าบริษัทเป็นยังไงกันแน่ ข่าวลือถูกไหม บริษัทนี้ดีไหม เราจึงค่อยๆ เพิ่มในส่วนที่ควรจะเพิ่ม เริ่มจาก 2 พันล้าน อัตราส่วน 1:1 ไม่น่าจะเป็นภาระกับผู้ถือหุ้นมากนัก จากนั้นเราต้องทำงานแข่งกับเวลา เอาเงิน 2 พันล้านเข้ามาเสร็จแล้ว

เราโปร่งใส เล่าตั้งแต่ 1 ถึง 100 เพื่อให้ทุกคนมีข้อมูลในการตัดสินใจเท่ากัน ผมคิดว่าผมโปร่งใสและอยากให้นักลงทุนสบายใจและทำให้ทุกคนเห็นได้ ว่ามีการปรับปรุงตรงนี้ยังไง

ความท้าทายของ NEX จากนี้จะเป็นยังไง?

สมโภชน์ ระบุว่า ความท้าทายของเขาคือความเชื่อมั่นนี่แหละ เป็นที่มาว่าทำไมวันนี้ผมเข้าใจแล้วว่าอำนาจของข่าวลือที่ลือกันไปเรื่อยๆ เป็นยังไง ผมจึงบอกว่าผมผิด จึงต้องอธิบายทีละขั้น ลองนั่งนึกดีๆ บริษัทดีๆ อย่างนี้ในประเทศไทยมีสักกี่บริษัท ทำมาไม่กี่ปีมีโครงข่ายขนาดนี้ ขายรถได้ขนาดนี้

ถามว่าวันนั้นทำไม E@ ต้องจับมือกับคุณคณิสสร์ (คณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) ให้ผมทำเอง ผมทำไม่ได้ เพราะไม่ได้อยู่ในวงการรถมาก่อน เขาอยู่วงการนี้มา 20 ปี 

การประเมินแนวโน้มของอุตสาหกรรมธุรกิจ EV ทั้งพลังงาน แบตเตอรี่ และ EV เป็นยังไง

สมโภชน์ กล่าวว่าใน 3 ตัว ตัวที่หนักที่สุด แบตเตอรี่หนักสุด เพราะเป็นธุรกิจที่เป็น Capital Intensive ไทยมีฐานการผลิตที่มีตลาดไม่ใหญ่ หนักสุดตายไหม ไม่ตาย เจ็บเหมือนกัน ไม่ตาย โรงงานเราต่างชาติมาดูทุกคน บอกว่าโรงงานเราดีมาก เราไม่ได้ซื้อเทคโนโลยี เราซื้อบริษัทที่มีเทคโนโลยีมา เราสามารถพัฒนาปรับปรุงไปเรื่อยๆ ได้ 

เราพยายามเอาแบตเตอรี่ ใส่สินค้า และเราไปขายสินค้า นั่นคือเหตุผล ทำไมทำหลายอย่าง เพื่อให้เกิด ecosystem วันนี้เกิด sanction ระหว่างจีน-อเมริกา ทำให้เกิดโอกาสกับเรา จีนเกิด oversupply มหาศาล ทำให้เราสามารถเข้าถึง raw material ราคาถูก ทำให้เราสามารถทำแบตเตอรี่ในราคาถูกลง เพราะ gap น้อยลง ทำให้โรงงานแบตเตอรี่ น่าจะเริ่มฟื้นกลับมา ธุรกิจพลังงาน เรามีการขยายไปต่างประเทศ ล่าสุด เราขยายไปยังลาวด้วย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา