หุ้นบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA กำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนหลังราคาหุ้นพุ่งแรงเกือบแตะซิลลิ่งในวันที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมา ต่อมาผู้บริหารของบริษัทได้จัดงานแถลงข่าวทิศทางบริษัทในอนาคต
ใจความสำคัญคือ EA ได้ตั้งบริษัทลูกขึ้นเพื่อดำเนินการติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ากว่า 1,000 จุด ทั่วกรุงเทพและปริมณฑล ชนิดที่เรียกว่ามีให้เติมได้ทุกๆ 5 กิโลเมตร ใช้เวลาเติมเพียงแค่ 7 นาที โดยจับมือร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 800 ล้านบาท นอกจากนี้มีแผนที่จะผลิต “รถยนต์ไฟฟ้า” สัญชาติไทยขึ้น โดยจะเริ่มเปิดตัวในงานมอเตอร์โชว์เดือนมีนาคมนี้เป็นประเดิม
ก่อนหน้านี้ EA ได้จับมือกับพันธมิตรจากจีนและไต้หวัน ลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่สตอเรจ กำลังผลิตกว่า 50 GWh มูลค่าการลงทุนกว่า 100,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจ EEC เท่ากับว่า EA กำลังปรับโครงสร้างธุรกิจจากเดิมเป็นผู้ผลิตพลังงานทดแทนอย่างพลังงานลม แสงอาทิตย์และไบโอดีเซล มาเป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีพลังงานสมัยใหม่อย่างเต็มตัว
จากโมเดลธุรกิจ จะพบว่าหุ้นพลังงานบริสุทธิ์ (EA) กำลังจะมี Business Model คล้ายกับบริษัท TESLA ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอันดับหนึ่งของโลก ที่มีทั้งธุรกิจผลิต Battery Storage และรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่ง EA กำลังจะไปถึงจุดที่ใกล้เคียงแล้ว หลังมีแผนเปิดโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในพื้นที่ EEC สถานีชาร์จไฟฟ้ารวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเปิดตัวในงานมอเตอร์โชว์ปีนี้
ดูจากทรงกราฟแล้ว หุ้นทั้งสองบริษัทแอบเหมือนกันอยู่ไม่น้อย พอเข้าตลาดแล้วก็เงียบไปพักใหญ่ จากนั้นก็เติบโตขึ้นแล้วก็เคลื่อนตัวไซด์เวย์กรอบใหญ่ และพอปี 2017 ที่ผ่านมาก็เป็นขาขึ้นรอบใหญ่เหมือนกันอีก (แต่ EA ดูจะซื้ออนาคตเร็วไปพอสมควร จากราคาที่วิ่งเกือบซิลลิ่งในวันที่ 11 มกราคม)
อาจจะเริ่มมีความคิดว่า EA จะกลายเป็น TESLA สัญชาติไทย และคุณสมโภชน์ อาหุนัย จะกลายเป็น Elon Musk คนใหม่ แต่ส่วนตัวผมมองว่าไม่ได้ง่ายแบบนั้นเพราะ…
หนึ่ง…นโยบายรถยนต์ไฟฟ้า เอาจริงแล้วก็ไม่ได้ชัดเจนว่าภาครัฐ (และผู้เล่นรายใหญ่เดิม) จะสนับสนุนอย่างสุดตัว มีแต่ภาคเอกชนที่ลุยกันไปก่อน จนเกิดเป็นทฤษฎีสมคบคิดว่า อาจมีบางกลุ่มที่พยายามคุมกำเนิดรถยนต์ไฟฟ้า
สอง…TESLA มีผลประกอบการขาดทุนมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2013 จากการลงทุนในโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ โดยปี 2016 ขาดทุน 674 ล้านเหรียญ ลดลงจากปี 2015 ที่ขาดทุน 888 ล้านเหรียญ แต่เพราะ TESLA โตจากการลงทุนโดย VC จึงมีสายป่านมากพอที่จะลงทุนได้ แต่กับ EA ยังไม่แน่ใจว่าจะเดินตามรอยทางได้เหมือนกันไหม
ถึงอย่างไร EA ได้เจรจาขอปรับโครงสร้างหนี้กับทาง SCB ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่เพื่อที่จะขยายเพดานสัดส่วนหนี้สินต่อทุนหรือ D/E ไม่ให้เกิน 3.5 เท่า และลดภาระดอกเบี้ยลง 400 ล้านบาทภายในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า แต่การที่ EA ได้ตั้งบริษัทลูกอย่าง Energy Absolute ขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ อาจคาดการณ์ได้ว่าอนาคตจะต้องนำบริษัทลูกดังกล่าวเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นเพื่อระดมเงินทุนเพิ่มหรือลดหนี้ก็เป็นได้ (ย้ำว่าเป็นการคาดการณ์ของผู้เขียนเอง หากวิเคราะห์จากตัวอย่างที่เกิดขึ้นในตลาดทุน) ซึ่งจะทำให้การดำเนินธุรกิจคล่องตัวขึ้น
ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าเป็นธุรกิจที่มีอนาคต จากการที่ประเทศตะวันตกเริ่มออกกฎหมายควบคุมการจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน และตั้งเป้าจะหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ทั้งหมด แต่ค่ายรถยนต์ที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดยังไม่เห็นตัวเลข “กำไร” ที่จับต้องได้ โดยเฉพาะบอร์ดบริหาร TESLA ที่ตั้ง KPI ให้กับ Elon Musk (ขนาดเป็นเจ้าของเอง) ให้โฟกัสเรื่องตัวเลขผลประกอบการที่ต้องดีขึ้น
กรณีของ EA หากอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า “เกิด” ได้อย่างเต็มตัว จะกลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ทันทีเพราะมาเป็นรายแรกและราคาหุ้นอาจจะไปแตะเกิน 100 บาท ตามที่โบรกเกอร์แห่งหนึ่งประเมินไว้ก็ได้ แต่ถ้าไม่สำเร็จก็อาจเป็นไปได้ว่าราคาหุ้นในปัจจุบันรับข่าวดีล่วงหน้าเร็วเกินไปก็ได้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา