E-Sport ในไทย และระดับโลกนั้นบูมมากจนใครๆ ก็อยากมีส่วนร่วมกับการเติบโตครั้งนี้ แต่ใช่ว่าลงทุนไปแล้วจะสำเร็จเสมอ ลองมาฟังแนวทางการทำธุรกิจนี้จากประธานบริหารทีม Alpha หนึ่งในทีม E-Sport ชั้นนำของไทยกัน
ใช้รากเดียวกับ Sport Marketing ในการวางแผน
การแข่งขันเกม หรือ E-Sport ไม่เหมือนกับการเล่นเกมเพื่อความบันเทิง แต่มันคือการแข่งขันเช่นเดียวกับกีฬาชนิดต่างๆ และเมื่อการแข่งขันเริ่มได้รับความนิยมก็จะมีผู้ชมเข้ามามากขึ้น ทำให้แบรนด์สินค้าเริ่มให้มาศึกษาการทำการตลาดผ่านกีฬา หรือ Sport Marketing เพื่อสื่อสารเนื้อหาให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มรว.รุจราภา อาภากร ประธานบริหาร บริษัท อีสปอร์ต เน็ตเวิร์ค (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของทีม Alpha เล่าให้ฟังว่า Sport Marketing นั้นมีประวัติมาหลายร้อยปีแล้ว และถ้าลองมาดู E-Sport ในตอนนี้มันก็ได้การยอมรับจากบุคคลมากมายในความเป็นกีฬาแล้ว และนั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นในการตัดสินใจลงทุนธุรกิจนี้
“ช่วงปีที่ผ่านมาหลายๆ อย่างที่เกี่ยวกับ E-Sport มันพร้อมขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นการเป็นที่ยอมรับจากบุคคลทั่วไป, การเข้าสนับสนุนทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึงแบรนด์สินค้าต่างๆ ก็เริ่มศึกษาในการทำตลาดผ่านช่องทางนี้ มันจึงเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างธุรกิจที่เกี่ยวกับ E-Sport ในการคิดแบบ Sport Marketing เป็นพื้นฐาน”
ใช้เงินลงทุน 7-8 หลักเพื่อประสิทธิภาพ และพื้นฐานที่ดี
สำหรับเงินลงทุนที่ใช้ในการทำทีม E-Sport นั้น “มรว.รุจราภา” ย้ำว่าต้องใช้ราว 7-8 หลัก และนี่เป็นเพียงเงินลงทุนในระดับเริ่มต้นเท่านั้น เพราะค่าใช้จ่ายในการทำทีมกีฬา E-Sport ไม่ได้มีแค่ค่าเหนื่อยนักกีฬา แต่มีเรื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และค่าใช้จ่ายด้านการบริหารที่เกี่ยวกับทีมเหมือนกับทีมกีฬาอาชีพอื่นๆ
“ป้จจุบันคนเล่นเกมในไทยเริ่มมีฝีมือมากขึ้น สังเกตจากการผ่านเข้าไปแข่งขันรอบลึกในเกมดัง รวมถึงมีผู้เล่นชาวไทยไปอยู่ในทีมสโมสรชั้นนำของโลก ดังนั้นการลงทุนตอนนี้มันก็ค่อนข้างคุ้มแล้ว แต่เราต้องวางแผนให้ชัดว่าจะทำทีมขนาดไหน ต่อยอดในการหารายได้อย่างไร และไปไกลในระดับภูมิภาคหรือไม่”
ส่วนเรื่องความเสี่ยงนั้น ประธานบริหารท่านนี้มองว่าไม่ได้เสี่ยงมากเหมือนที่คนภายนอกมอง เพราะถ้าลงทุนถูกวิธีมันก็มีโอกาสคืนทุนภายใน 3-4 ปีได้ ยิ่งปัจจุบันแบรนด์ต่างๆ ก็อยากเข้ามาเป็นสปอนเซอร์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบทำกับทีม หรือจัดการแข่งขัน แต่พวกเขาไม่รู้ว่าจะเข้ามาอย่างไร และมันจะสร้างประโยชน์ให้พวกเขาได้ดีแค่ไหน
9 เดือน กับการอยู่ในตลาด E-Sport ประเทศไทย
“ตอนนี้เราเริ่มเห็นแบรนด์สินค้าที่ไม่เกี่ยวกับวงการเกม หรือคอมพิวเตอร์เข้ามาสนับสนุน E-Sport มากมาย ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ หรือโทรคมนาคม ซึ่งตอนนี้ Alpha เองก็เจรจากับพวกเขาเพื่อมาทำธุรกิจร่วมกัน เพราะจะพึ่งแค่เงินรางวัลก็คงไม่พอ เหมือนกับกีฬาอาชีพอื่นๆ ที่รายได้หลักก็มาจากสปอนเซอร์ ไม่ใช่การขายตั๋ว หรือเงินรางวัล”
สำหรับทีม Alpha ก่อตั้งมาเกือบ 1 ปี แต่มีนักกีฬากว่า 40 คน คิดเป็น 10 ทีม เพื่อลงแข่งทั้งหมด 8 เกม และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกได้ แต่เมื่อเทียบกับทีม E-Sport อื่นๆ ในไทยที่ลงแข่งจำนวนเกมมากขนาดนี้ Alpha ถือเป็นทีมน้องใหม่ต่างกับทีมอื่นที่มีอายุมามากกว่า 5 ปีทั้งนั้น
และด้วยการเติบโตของ E-Sport ในไทยนั้นเพิ่มขึ้น 20% ต่อปี ใกล้เคียงกับต่างประเทศ ทำให้มีกลุ่มทุนใหม่ๆ ส่งทีม E-Sport เข้ามาชิงโอกาสทางธุรกิจทั้ง Buriram United Esports ของ “เนวิน ชิดชอบ” และ Lynx ของ “กฤษฎา เจียรวนนท์” เพราะพวกเขาต่างมองว่ามันเข้าถึงคนรุ่นใหม่ที่เริ่มดู E-Sport เพื่อความบันเทิงมากขึ้น
สรุป
ถือเป็นการเติบโตอย่างรวดเร็วในแง่ขนาดทีม และความสำเร็จของทีม Alpha แต่ทางทีมน่าจะไม่หยุดเพียงแค่การทำทีมแน่ๆ เพราะปัจจุบันมีการขยายทีมไปลุยในเรื่องธุรกิจสื่อเพื่อสร้างความครบวงจรในการทำตลาดมากขึ้น และหากยังคงความโด่งดัง และฝีมือแบบนี้ไว้ได้ โอกาสคืนทุนก็อยู่อีกไม่ไกล
ส่วนใครที่อยากลงทุนในธุรกิจนี้ อยากให้ศึกษาดีๆ ก่อน เพราะทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ยิ่ง E-Sport เป็นเรื่องใหม่ โอกาสที่เงิน 7-8 หลักจะหายไปอย่างรวดเร็วก็มีสูง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา