อัพเดท* กฎหมายภาษี E-payment เริ่มใช้ (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา) และเก็บข้อมูลประชาชนแล้วตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. 2562 โดยธนาคารและผู้ให้บริการทางการเงินต้องรายงาน “ธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ” ให้กรมสรรพากร หากไม่รายงานจะมีบทลงโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท
หลังจากที่กรมสรรพากรได้เปิดรับฟังความเห็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรที่ว่าด้วยการชำระเงินภาษีผ่านทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ไปเมื่อช่วงเดือนเม.ย. 2561 ที่ผ่านมา
- อ่านเพิ่มเติม สู่สังคมไร้เงินสด ร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรให้ธนาคารส่งข้อมูลคนรับโอนเกิน 3,000 ครั้งให้สรรพากร
จากปลายเดือนธ.ค. 2561 ร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่าน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว โดยในที่ประชุมได้ลงมติในวาระ 3 โดยมีผู้แสดงตนต่อที่ประชุม 146 คน ลงมติเห็นชอบ 139 เสียง และงดออกเสียง 7 เสียง
เว็บไซต์ข่าวสด รายงานว่า ในที่ประชุม สนช. เห็นด้วยกับข้อสังเกตของกมธ. ที่ระบุให้ผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูล ได้แก่ สถาบันการเงินของเอกชนและของรัฐ รวมถึงผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ต้องส่งรายละเอียดให้กรมสรรพากร เพื่อใช้ประมวลร่วมกับข้อมูลอื่นๆ เพื่อคัดเลือกรายบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีที่ไม่ถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม ใจความสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้คือ บุคคลหรือนิติบุคคลใดที่มีความเคลื่อนไหวทางบัญชีทั้งรับและโอนผ่านทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ จะต้องส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรตรวจสอบเพื่อนำไปสู่การเก็บภาษี โดยเรียกว่า “ธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ” และดูจากเงื่อนไขหนึ่งในสอง ดังนี้
- ฝากเงินหรือรับโอนรวมกันปีละ 3,000 ครั้ง (หรือถ้าคิดแบบเฉลี่ยจะตกวันละ 8.2 ครั้ง ในกรณีที่ใช้ทุกวัน ทั้งปี)
- ฝากเงินหรือรับโอนรวมกันปีละ 400 ครั้ง (มีการปรับเปลี่ยนในที่ประชุม สนช. จากยอดเดิมคือ 200 ครั้ง) แต่ยอดรวมยังคงเดิม คือเริ่มต้นที่ 2,000,000 บาทขึ้นไป
ร่างกฎหมายผ่านแล้ว ลองฟังเสียงของพ่อค้าแม่ค้าที่ทำมาหากินว่าเขาคิดกันอย่างไร? (ดูได้จากคลิป YouTube ด้านล่างนี้)
เว็บไซต์ข่าวสดรายงานด้วยว่า นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง ในฐานะประธาน กมธ. ยืนยันว่า นี่ไม่ใช่การบังคับจนเกินไป แต่เพื่อให้การเก็บภาษีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ “ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เจาะจงเก็บภาษีเฉพาะผู้ค้าออนไลน์เท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพ” พร้อมทั้งระบุว่า เป็นไปตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุให้กรมสรรพากรพิจารณาการจัดเก็บภาษีที่ยั่งยืนและไม่สร้างภาระทางภาษีในอนาคต
นายวิสุทธิ์บอกด้วยว่า “ร่างกฎหมายนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้เงินสดของประชาชน อีกทั้งผลดีของร่างกฎหมายคือช่วยตรวจสอบ และป้องปรามกลุ่มธุรกิจสีเทาได้ด้วย”
อ้างอิงข้อมูล – ข่าวสด
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา