อุปกรณ์ไม่พร้อม เวลาไม่มี รูปแบบไม่ได้ อุปสรรคเรียนออนไลน์ ยุคโควิดระบาด ที่ต้องเร่งแก้ไข

  • เรียนออนไลน์ เป็นช่องทางเลือกที่จำเป็นในภาวะที่โควิดยังระบาดรุนแรง แต่ก็มีอุปสรรคและข้อจำกัดไม่น้อย
  • ความไม่พร้อมในอุปกรณ์การเรียนออนไลน์อย่างคอมพิวเตอร์/แท็บเล็ต อินเทอร์เน็ต และค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งกลุ่มผู้ปกครองที่เผชิญปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเรียนออนไลน์น่าจะยังอยู่ยาว ทุกฝ่ายควรเร่งสร้างความพร้อมและลดอุปสรรคในการเรียนออนไลน์ เพื่อลดช่องว่างระหว่างการศึกษาในนักเรียนบางกลุ่มที่ไม่มีความพร้อม
  • ทางออก เช่น การจัดทำคลิปสื่อการสอนบทเรียนของแต่ละชั้นเรียนให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและเผยแพร่ในหลายช่องทาง การกำหนดเวลาการใช้อินเทอร์เน็ตฟรีในช่วงเวลาเรียน
  • เร่งพัฒนาความรู้การใช้เทคโนโลยีสื่อการสอนออนไลน์แก่บุคลากรผู้สอนผ่าน E-learning
e-learning
ภาพจาก Shutterstock

เรียนออนไลน์ สิ่งที่จำเป็น แต่มีข้อจำกัด

การระบาดของโควิด-19 ระลอกนี้ นับว่ารุนแรงกว่าที่ผ่านมา และคาดว่าน่าจะใช้ระยะเวลานานกว่าที่สถานการณ์จะคลี่คลายลง ทำให้การกลับมาเรียนที่โรงเรียนจึงยังมีความไม่แน่นอนสูง การเรียนออนไลน์ จึงเป็นช่องทางเลือกที่จำเป็นในภาวะเช่นนี้ไปอีกระยะหนึ่งจนกว่าสถานการณ์จะปลอดภัยสำหรับเด็กนักเรียนที่จะกลับไปโรงเรียนอีกครั้ง

บางพื้นที่ต้องปรับการเรียนการสอนทั้งการเรียนแบบ On-Site และ Online โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของโรคโควิดในพื้นที่ 

จากผลสำรวจความพร้อมการเรียนออนไลน์ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย สะท้อนว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังพบอุปสรรคและข้อจำกัดในการเรียนออนไลน์ของบุตรหลาน (79.1%) โดยกลุ่มผู้ปกครองที่เผชิญปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย ผู้ปกครองต้องออกไปทำงานทุกวัน และกลุ่มที่มีบุตรหลานมากกว่า 1 คน อยู่ในช่วงวัยเรียนชั้นประถมและมัธยมต้น ขณะที่ผู้ปกครอง 20.9% ไม่มีอุปสรรคหรือปัญหาในการเรียนออนไลน์ของบุตรหลาน

K Research

อุปกรณ์ไม่พร้อม ปัญหาหลักของผู้มีรายได้น้อย

อุปสรรคสำคัญในการเรียนออนไลน์ คือ ความไม่พร้อมในอุปกรณ์การเรียน โดยผู้ปกครองผู้มีรายได้น้อยจะเผชิญกับข้อจำกัดที่สูงกว่าเมื่อบุตรหลานต้องเรียนออนไลน์

การเรียนทางออนไลน์สามารถช่วยให้เข้าถึงความรู้ได้ตลอดเวลา ลดช่องว่างการเข้าถึงการศึกษาหาความรู้ แต่ในอีกมุมหนึ่ง ความสามารถในการเข้าถึงการเรียนรู้ออนไลน์ในประเทศไทยก็ยังมีข้อจำกัดสูง โดยเฉพาะเมื่อต้องปรับมาเรียนออนไลน์แบบเต็มรูปแบบ

ความไม่พร้อมในอุปกรณ์การเรียนออนไลน์อย่างคอมพิวเตอร์/แท็บเล็ต และอินเทอร์เน็ต (คิดเป็น 59.8%) ซึ่งผลสำรวจสะท้อนว่านักเรียนส่วนใหญ่เรียนออนไลน์ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่สมาร์ทโฟน (คิดเป็น 50.9%)  ซึ่งการเรียนออนไลน์ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่สมาร์ทโฟนมีข้อจำกัด อาทิ ขนาดหน้าจอที่เล็ก ข้อจำกัดของโทรศัพท์ในการลงแอปพลิเคชั่นเพื่อการทำการบ้านส่งออนไลน์ และการเรียนเป็นระยะเวลานานจะส่งผลต่อสุขภาพของนักเรียน

นอกจากนี้ ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานในวัยเรียนมากกว่า 1 คน จะต้องแบ่งปันการใช้อุปกรณ์ในการเรียน และค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์เพื่อการเรียนออนไลน์ รวมถึงยังต้องมีภาระรายจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น (จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า คนไทยที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ส่วนใหญ่ยังใช้ระบบเติมเงิน ขณะที่การใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมีเพียง 9-10 ล้านคน) และผลสำรวจยังสะท้อนว่า กลุ่มผู้ปกครองผู้มีรายได้น้อยจะเผชิญกับข้อจำกัดที่สูงกว่าเมื่อบุตรหลานต้องเรียนออนไลน์

e-learning
ภาพจาก Shutterstock

เวลาของผู้ปกครอง อีกตัวแปรสำคัญ

ผู้ปกครองเผชิญปัญหาในการจัดสรรเวลาระหว่างการทำงานและการดูแลบุตรหลานระหว่างเรียนออนไลน์ (คิดเป็น 52.5%) ด้วยการเรียนออนไลน์นักเรียนจะต้องการเวลาจากผู้ปกครองมากกว่าปกติ โดยเฉพาะผู้ปกครองที่ต้องออกไปทำงานทุกวันไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ ซึ่งผู้ปกครองต้องใช้เวลาในการสอนเพิ่มเติมเมื่อบุตรหลานไม่เข้าใจบทเรียน และการแก้ไขปัญหาเมื่ออุปกรณ์การเรียนขัดข้อง เป็นต้น 

นักเรียนเองก็ไม่พร้อมเช่นกัน

ความไม่พร้อมของผู้เรียน (คิดเป็น 44.9%)  การเรียนออนไลน์เด็กนักเรียนจะต้องมีวินัยในตนเองสูง ซึ่งปัญหาที่ผู้ปกครองพบส่วนใหญ่เด็กนักเรียนจะขาดสมาธิในการเรียน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก เนื่องจากหลายสาเหตุ อาทิ สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยไม่เหมาะกับการเรียนออนไลน์ นักเรียนจะเปิดเว็บไซต์อื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนในระหว่างเรียน ความล้าจากการที่ต้องเรียนผ่านอินเทอร์เน็ตนานๆ และเมื่อมีปัญหาระหว่างเรียนไม่สามารถปรึกษาได้ทันทีส่งผลต่อการเรียน เป็นต้น 

รูปแบบการสอนก็ไม่พร้อมด้วย

ความไม่พร้อมของรูปแบบการสอน (คิดเป็น 38.2%) เหตุการณ์ไม่คาดคิดเมื่อการระบาดของโควิด-19 เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ทำให้สถานศึกษาหลายแห่งไม่ได้เตรียมความพร้อมและออกแบบการเรียนการสอนในการรองรับรูปแบบการเรียนออนไลน์แบบเต็มรูปแบบ เช่น อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการสอน ข้อจำกัดของบุคลากรในการใช้เทคโนโลยีแพลตฟอร์มการประชุมออนไลน์หรือแอปพลิเคชั่นเฉพาะสำหรับการเรียนที่ช่วยให้การสอนออนไลน์เสมือนจริง ความพร้อมของเทคโนโลยีของโรงเรียนในแต่ละพื้นที่ยังมีช่องว่างสูง เช่น โรงเรียนในเมืองและในพื้นที่ชนบท เป็นต้น

e-learning
ภาพจาก Shutterstock

ยกมือถาม ทางออกของอุปสรรค ต้องทำอย่างไร?

เด็กนักเรียนอายุต่ำกว่า 18 ปี ยังคงต้องรออีกสักระยะกว่าที่จะได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิดทำให้โอกาสการกลับไปเรียนที่โรงเรียนยังมีความไม่แน่นอนสูงในหลายพื้นที่ ดังนั้น การเรียนออนไลน์จึงยังเป็นช่องทางสำคัญ

ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือออกมาบ้าง เช่น สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ปกครอง 2,000 บาทต่อนักเรียน 1 คน (ระดับอนุบาล-ม.6 และอาชีวศึกษา)​ หน่วยงานรัฐร่วมกับเอกชนจัดแพคเกจอินเทอร์เน็ตราคาประหยัด (15 ส.ค.-15ต.ค. 2564) เพื่อส่งเสริมการศึกษาให้กับเยาวชนและลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวของเด็กนักเรียน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เพื่อที่จะลดอุปสรรคในการเรียนออนไลน์ และลดช่องว่างระหว่างการศึกษาในนักเรียนบางกลุ่มที่ไม่มีความพร้อมในการเรียนออนไลน์และมีข้อจำกัดเรื่องของสภาพคล่องในครัวเรือน ซึ่งในระยะสั้นการแบ่งเบาภาระรายจ่ายของผู้ปกครอง เช่น การให้นักเรียนกลุ่มรายได้น้อยที่อยู่ห่างไกลจากจุดสัญญาณ WiFi ฟรีของรัฐได้รับสิทธิ์อินเทอร์เน็ตฟรีในช่วงเวลาเรียน 

การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบทเรียน เช่น การจัดทำคลิปการสอนบทเรียนของแต่ละชั้นเรียนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เผยแพร่ในหลายช่องทาง เช่น เว็บไซต์โรงเรียน เว็บไซต์เฉพาะของกระทรวงศึกษาธิการ หรือจะเป็นช่องทางโทรทัศน์ (National Broadcast) เพื่อให้นักเรียนสามารถเข้าไปทบทวนบทเรียนได้ตลอดเวลา ขณะที่การสอนอาจจะมีการเพิ่มกิจกรรม หรือคลิปวิดีโอ เพื่อลดภาวะความเครียดในการเรียนออนไลน์ และการออกแบบการวัดประสิทธิผลในการเรียนให้สนับสนุนกับการเรียนออนไลน์

การเรียนออนไลน์จะมีบทบาทมากขึ้น ดังนั้นการพัฒนาการศึกษาในระบบให้มีคุณภาพและเท่าเทียม ด้วยการพยายามลดข้อจำกัดและเติมเต็มช่องว่างในทุกๆ ด้าน ทั้งพัฒนาการของนักเรียนและบุคลากรผู้สอน เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันดำเนินการวางแผนและสร้างระบบการเรียนออนไลน์ให้เป็นมาตรฐานโดยการเข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่งเป็น “ความท้าทายหลัก” สำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงการเปิด WiFi ฟรีให้กับผู้มีรายได้น้อยและนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลได้เข้าถึงเป็นสิ่งจำเป็น

ท้ายสุด การให้ความสำคัญในการพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีกับบุคลากรในโรงเรียน เช่น การจัด E-Learning การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดความคุ้นชินและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกการศึกษาในระยะข้างหน้า

Disclaimer

รายงานวิจัยนี้จัดทำโดยบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (“KResearch”) เพื่อเผยแพร่เป็นการทั่วไป โดยอาศัยแหล่งข้อมูลสาธารณะหรือข้อมูลที่เชื่อว่ามีความน่าเชื่อถือที่ปรากฏขณะจัดทำ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละขณะเวลา ทั้งนี้ KResearch มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ ความเหมาะสม ความครบถ้วนสมบูรณ์ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลดังกล่าว และไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ชวน เสนอแนะ ให้คำแนะนำ หรือจูงใจในการตัดสินใจเพื่อดำเนินการใดๆ แต่อย่างใด ดังนั้น ท่านควรศึกษาข้อมูลด้วยความระมัดระวังและใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจใดๆ KResearch จะไม่รับผิดในความเสียหายใดที่เกิดขึ้นจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว 

ข้อมูลใดๆ ที่ปรากฎในรายงานวิจัยนี้ถือเป็นทรัพย์สินของ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) การนำข้อมูลดังกล่าว (ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน) ไปใช้ต้องแสดงข้อความถึงสิทธิความเป็นเจ้าของแก่ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) หรือแหล่งที่มาของข้อมูลนั้นๆ ทั้งนี้ ท่านจะไม่ทำซ้ำ ปรับปรุง ดัดแปลง แก้ไข ส่งต่อ เผยแพร่ หรือกระทำในลักษณะใดๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในทางการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรจาก KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา