ศึกษาตลาด e-commerce สินค้า Luxury.. ของหรูก็ขายออนไลน์ได้!

หลังจากที่ตลาด e-commerce เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในทั่วโลก สร้างการตื่นตัวในทุกวงการ แต่เชื่อหรือไม่ว่าสินค้า Luxury หรือของหรูหรากลายเป็นหมวดหมู่ที่เติบโตเร็วที่สุดในตลาด

ภาพจาก Shutterstock

หลายคนอาจจะมองว่าสินค้า Luxury ไม่สามารถซื้อขายทางออนไลน์ได้ เพราะเป็นสินค้ามีมูลค่าสูง มีความเสี่ยงเกินไป ยังไงคนซื้อก็ยังต้องไปหน้าร้านอยู่ดีเพราะมีความมั่นใจมากกว่า แต่ตามรายงานของ eShopWorld พบว่าสินค้า Luxury เป็นกลุ่มสินค้าที่เติบโตมากที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลกเลยทีเดียว

ยังมีรายงานจาก Euromonitor ในเดือนธันวาคม 2016 พบว่ายอดขายของสินค้า Luxury ทางช่องทางออนไลน์จะมีการเติบโตเฉลี่ย 8% ต่อปี ในช่วงปี 2016-2021 เมื่อเทียบกับยอดขายทางหน้าร้านที่เติบโต 2% เท่านั้น

การเติบโตนั้นได้อิทธิพลมาจากสินค้า Luxury ในระดับล่าง เช่น กลุ่มเครื่องสำอาง กลุ่มคนที่ซื้อส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นใหม่ อายุน้อย คุ้นเคยกับการซื้อออนไลน์ แต่ถ้าสินค้าหรูมากๆ ก็ยังคงเดินไปที่ช้อปอยู่ แต่ก็มีแนวโน้มมาออนไลน์มากขึ้นเช่นกัน

มีผลสำรวจของ Ipsos ที่ศึกษาถึงพฤติกรรมการซื้อสินค้า Luxury ในญี่ปุ่น และยุโรปตะวันตก (ฝรั่งเศส, อิตาลี และสหราชอาณาจักร) พบว่า 76% มีการค้นหาข้อมูลสินค้าก่อนทำการซื้อสินค้า และมีการค้นหาด้วยรูปภาพ แบรนด์สินค้า โซเชียลมีเดีย 49% และหาข้อมูลที่หน้าร้าน 44%

ส่วนในปี 2017 ทาง Hitwise ได้ทำการสำรวจนักช้อปออนไลน์ชาวอเมริกัน พบว่าเว็บไซต์ยอดนิยมของสินค้า Luxury ก็คือ Michael Kors 18.6%, Ralph Lauren 17.6% และ Coach 16.3%

มีการคาดการณ์ว่ากลุ่ม Millennial จะมีอิทธิพลมากขึ้นสำหรับสินค้ากลุ่ม Luxury หรือคิดเป็นสัดส่วน 40% ของตลาด ภายในปี 2025 โดยที่ Millennial ชาวมะกันมีการซื้อสินค้า Luxury ชิ้นแรกบนออนไลน์ 14% ต่อไปจะเป็นเหมือนตัวแทนของกลุ่มผู้ซื้อสินค้า Luxury ถึง 48% เมื่อเทียบกับ Gen X ที่มี 26% และ Baby Boomer 25%

พฤติกรรมการซื้อสินค้าหรูหราบนออนไลน์

88% ของผู้บริโภคบอกว่าคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจซื้อของหรู ซึ่งในประเทศจีนจะสูงถึง 93% รองลงมาคือซื้อของหรูเพราะรู้สึกดี รู้สึกมั่นใจ รู้สึกมีความสุข เป็นเหตุผลทางอารมณ์ 56% เหมือนเป็นสิ่งที่บ่งบอกสถานะ

87% ของนักช้อปชาวญี่ปุ่น และยุโรปตะวันตกชอบการซื้อของหรูที่หน้าร้านมากกว่า เพราะต้องการสัมผัสสินค้า และ22% กลัวสินค้าลอกเลียนแบบ

ส่วนนักช้อปออนไลน์ 40% บอกว่าสะดวกสบาย 33% บอกว่ามีข้อเสนอที่ดีกว่าหน้าร้าน และ 31% มีความกดดันน้อยกว่าเมื่อซื้อหน้าร้าน เพราะด้วยพนักงานในร้านด้วย

มีข้อมูลจาก McKinsey & Company ในเดือนกุมภาพันธ์ 2018 พบว่าสินค้า Luxury ที่มีการขายบนออนไลน์มากที่สุดก็คือกลุ่มความสวยความงาม, เสื้อผ้าแฟชั่น และเครื่องประดับ กระเป๋าต่างๆ แต่กลุ่มนาฬิกา หรือจิวเวอรี่ต่างๆ ขายได้ยาก เพราะมีราคาที่สูงเกินไปที่จะขายช่องทางนี้

อิทธิพลจาก Influencer

การที่ Luxury ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นผลมาจากสื่อสังคมโซเชียลมีเดีย และคนดัง Influencer บนโลกออนไลน์ที่มีการโปรโมทสินค้า

ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนปี 2017 Gucci สามารถสร้างรายได้ 227 ล้านเหรียญจากการใช้ Influencer Marketing ซึ่งคิดเป็นการเติบโตถึง 157.1%

จากการสำรวจของ Econsultancy ในเดือนมีนาคม 2017 พบว่า 1 ใน 3 ของสินค้า Luxury ในอเมริกา และสหราชอาณาจักรล้วนใช้ Influencer Marketing

แคมเปญที่มีอิทธิพลต่อผู้บริโภคสำหรับสินค้ากลุ่มนี้จะมาจาก Influencer บน Instagram และ Pinterest ได้รับเอ็นเกจเมนต์สูงที่สุด

มีรายงานจาก R3 Worldwide ระบุว่า Gucci เป็นแบรนด์ที่มีอิทธิพลอย่างมากใน WeChat ขณะที่ Dior และ Chanel ประสบความสำเร็จมากที่สุดใน Weibo ล้วนใช้ Influencer ทั้งสิ้น

เห็นได้ชัดว่าโลกออนไลน์อะไรก็เป็นไปได้ ขนาดสินค้าหรูหราที่คนคิดไม่ถึงว่าจะขายออนไลน์ได้ ก็ยังขายได้ มีทั้งขายทางตรงและทางอ้อม สามารถทำการตลาดให้เข้าถึงนักช้อปได้เช่นกัน

Source

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Ratinun Chaiwiboolvech | Content Editor | Marketing | Retail | Media | Liverpool ratinun.tk@gmail.com