ยักษ์ e-Commerce เกาหลีบุก 11Street เปิดแคมปัสช่วยร้านค้าออนไลน์ ขายของได้ 11 พ.ย. นี้

campus-4
ภายในแคมปัส ที่มีการฝึกอบรมทำคอนเทนต์ e-Commerce

ใครชื่นชอบ เป็นสาวก หรือติ่งเกาหลี เตรียมกระเป๋าเงินไว้ให้พร้อม 11 Street เว็บ e-Commerce อันดับ 1 ในเกาหลีที่เข้ามาตั้งบริษัทลงทุนในไทยตั้งแต่เดือน ส.ค. และอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมหลังบ้าน ประกาศแล้วว่าจะเปิดขายสินค้า 11 พ.ย. นี้

และสินค้าที่จะขายเป็นหลักเลย คือ เครื่องสำอาง, สินค้าแฟชั่น และสินค้ากีฬา โดยตั้งเป้าว่าในปี 60 จะมีร้านค้าจากไทยให้ความสนใจมาเปิดบริการบน 11Street ประมาณ 20,000 ร้าน และเป็นร้านจากเกาหลีประมาณ 3,000 – 5,000 ร้าน

2

ฮงชอล จอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร 11Street บอกว่า 11Street มีประสบการณ์ทำ e-Commerce มา 16 ปีเริ่มจากเกาหลีและไปมาแล้วหลายประเทศ ก่อนจะมาเริ่มต้นที่ประเทศไทยมั่นใจว่าด้วยประสบการณ์และความสำเร็จในตลาดต่างๆ จะนำมาประยุกต์ใช้กับตลาดประเทศไทย โดยตั้งเป้าว่าในปีหน้าจะมีคนเข้ามาเว็บไซต์เพื่อซื้อสินค้าไม่ต่ำกว่า 20 ล้านรายต่อเดือน และในอนาคตเชื่อว่า 11Street มีศักยภาพพอที่จะขึ้นอันดับ 1 ได้

ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับสมัครร้านค้าในเว็บ ก่อนจะเปิดให้บริการขายสินค้าได้ 11 พ.ย. นี้ และจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ 21 ธ.ค. อีกครั้ง ซึ่งจุดเด่นของ 11Street นอกจากการมีสินค้าเกาหลีมาขายโดยตรงแล้ว ยังเป็นเว็บที่มีระบบตรวจสอบ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ มีระบบการจัดส่ง โดยร่วมกับ Kerry และผู้ให้บริการอื่นๆ การเก็บเงินร่วมกับ 2C2P และ LINE Pay เพื่อให้บริการ อำนวยความสะดวกให้กับผู้ซื้อ

campus-3
ภายในแคมปัส ที่มีการฝึกอบรมทำคอนเทนต์ e-Commerce

ด้าน ผู้ขาย ตัวเว็บจะมีแพลตฟอร์มที่ช่วยให้การเปิดร้านง่าย มีเครื่องมือต่างๆ ช่วยในการทำตลาดและเข้าถึงลูกค้า และยังสามารถเข้าถึงได้ทั้งเว็บไซต์และสมาร์ทโมบาย ซึ่งคนไทยนิยมเข้าผ่านสมาร์ทโฟนอยู่แล้ว

อีกส่วนที่สำคัญคือ การเปิดแคมปัส หรือศูนย์ฝีกอบรมผู้ขาย ช่วยให้ร้านค้าเปลี่ยนจากออฟไลน์มาออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะในมุมมองของ 11Street ร้านค้าของไทย ยังมีจุดอ่อนเรื่องคอนเทนต์ในการนำเสนอ ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจของผู้ซื้อ และที่แคมปัส จะมีการรวมกลุ่ม ให้คำปรึกษาด้านต่างๆ

campus-2

อูซอง ฮา รองประธานฝ่ายขาย บอกว่า 11Street เปิดแคมปัสที่แรกที่ออฟฟิศ เอ็มควอเทียร์ และเตรียมเปิดอีกประมาณ 6 แห่ง ในกรุงเทพ 4 ต่างจังหวัด 2 ใช้งบประมาณรวม 3 ล้านดอลลาร์ และในอนาคตจะขยายขึ้นอีกตามความต้องการของตลาด เพื่อคอยให้ความช่วยเหลือร้านค้าทั่วประเทศไทย และปีหน้ายังเตรียมงบการตลาด 20 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยให้ 11Street เป็นที่รู้จักดึงดูดนักช้อปของไทยเข้ามาตามเป้า

ขณะที่รายได้ของ 11Street ส่วนแรกจะมาจาก ค่าธรรมเนียมการให้บริการ ซึ่งคิดที่ 5-10% ของการขายขึ้นกับประเภทและราคาของสินค้า และในอนาคตจะมีค่าโฆษณาต่างๆ เพิ่มเข้ามารวมถึงดอกเบี้ยจากเงินหมุนเวียนจากการซื้อขาย โดยมองว่าตลาด e-Commerce ในไทยยังเล็กมากมีสัดส่วนประมาณ 1% ของการซื้อขาย มีมูลค่าประมาณ 90,000 ล้านบาท ขณะที่ตลาด e-Commerce ของเกาหลีมีสัดส่วน 15% มูลค่า 30,000 ล้านดอลลาร์

สรุป

11Street จะเป็นน้องใหม่อีกรายจากยักษ์ใหญ่กิมจิ ที่กระโดดเข้ามาในสงคราม e-Commerce ของไทย และยังอยู่ในฝั่งผู้ให้บริการ e-Marketplace ซึ่งก่อนหน้านี้มีผู้ให้บริการจำนวนหนึ่งที่ถอนตัวออกไป เพราะการแข่งขันหนัก ต้องใช้เงินมากเพื่ออัดโปรโมชั่นดึงดูดคนซื้อ เป็น Dead Valley ที่ค่อนข้างยาว และผู้บริโภคไม่มี Loyalty หรือพร้อมจะไปซื้อกับเว็บใหม่ที่ให้โปรที่ดีกว่า จุดเด่นที่ 11Street มีคือ แคมปัส ที่จะสร้างคอนเทนต์ให้กับสินค้าได้ดีกว่า และอีกส่วนคือ สินค้าที่สั่งตรงเข้ามาจากเกาหลี เพราะยังไม่มีเว็บไหนที่ทำได้ชัดเจน ยิ่ง 11Street มาจากเกาหลี นี่อาจจะเป็นจุดสร้างความสำเร็จ

campus-1

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา