ในต่างประเทศเราเห็นการล่มสลายของค้าปลีก ห้างสรรพสินค้ากันไปมาก ตอนนี้ตลาดในภูมิภาคอาเซียนดูเหมือนว่าจะมีแนวโน้มไปแบบนั้นเหมือนกัน เพราะบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ ทำการสำรวจออกมาว่า ภูมิภาคอาเซียนมีตัวเลขการซื้อขายบนออนไลน์สูงมาก เพิ่มขึ้นกว่า 50% จากปีที่แล้ว
ถ้าทำธุรกิจดิจิทัล ตลาดอาเซียนถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
รายงานจาก Bain & Co. บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ ระบุว่า จำนวนผู้ใช้ที่ซื้อสินค้าและบริการผ่านระบบดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มมากขึ้นจนมีมูลค่าถึง 5 หมื่นล้านเหรียญแล้ว โดยผู้บริโภคในอาเซียนเข้าสู่การซื้อขายในระบบดิจิทัลมากขึ้นถึง 50% เทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีผู้ใช้อยู่ประมาณ 200 ล้านคน
จากการสำรวจกว่า 2,400 คนใน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม Bain & Co. พบว่า “ผู้บริโภคในแถบนี้เป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในออนไลน์สูงมาก”
หมายความว่า โทรศัพท์มือถือ/สมาร์ทโฟน เป็นสิ่งที่เข้าถึงง่าย และถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคนี้ขับเคลื่อนไปได้อย่างดี พอไปเปิดตัวเลขพบว่า ปีที่ผ่านมากว่า 62% ของผู้ใช้งาน ได้ใช้โทรศัพท์มือถือ/สมาร์ทโฟนที่มีราคาอยู่ราวๆ ไม่เกิน 5,250 บาท นอกจากนั้นยังพบอีกว่า มีตัวเลขมากถึง 89% ในภูมิภาคนี้ที่ใช้สมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์เชื่อมต่อหลักในชีวิต และแน่นอนว่าอีกไม่นานจะขยายออกไปทั่วภูมิภาคอย่างแน่นอน
ผลารสำรวจยังไม่จบแค่นั้น เพราะยังพบอีกว่า ผู้ใช้งาน 6 ประเทศที่ไปสำรวจมากว่า 85% ใช้งาน Social Media ถึง 90% ต่อวันในการส่งข้อความหากันหลายครั้ง โดยช่องทางนี้เป็นหนึ่งในช่องทางที่ทำให้ซื้อสินค้าและบริการผ่านออนไลน์อีกด้วย
” Social Media กลายเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพในการซื้อขาย เพราะเมื่อผู้ซื้อและผู้ขายแลกเปลี่ยนพูดคุยกันบนออนไลน์ สุดท้ายก็ตัดสินใจซื้อ”
แต่ในขณะเดียวกัน การขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัล อาจทำให้เกิดความเสียหายของบางอุตสาหกรรม เช่น ห้างสรรพสินค้า หรือบริษัทท่องเที่ยวต่างๆ อย่างในสิงคโปร์ที่ตอนนี้ ห้างสรรพสินค้าเริ่มประสบปัญหา ไม่มีผู้เช่า เพราะต่างพากันไปขายของ-ซื้อของบนออนไลน์กันหมด
สรุป
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นตลาดที่เติบโตอย่างน่าสนใจ และถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของหลายบริษัทที่อยากเริ่มต้นธุรกิจ E-commerce ก็น่าส่งมาลงเล่นในตลาดนี้ เพราะผู้บริโภคกำลังสนุกและใช้ชีวิตอยู่กับการซื้อขายบนออนไลน์อย่างมาก ส่วนรูปแบบการซื้อขายเดิมอย่างเช่นห้างสรรพสินค้าคงจะต้องปรับตัวกันยกใหญ่เพื่อความอยู่รอดในยุคดิจิทัล
ที่มา –Nikkei Asian Review
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา