ภาพรวม e-Commerce ปีนี้จะเป็นอย่างไร หลังจาก Alibaba บุกตลาดอาเซียน

ปีที่ผ่านมาเห็นแล้วว่า จีน มีพลังมหาศาลที่จะเปลี่ยนแปลงโลกนี้ พลังทางดิจิทัลที่แข็งแกร่ง กับการบุกตลาดไปทั่วโลกมีผลกระทบต่อผู้เล่นระดับท้องถิ่น ซึ่งภูมิภาคล่าสุดที่จีนให้ความสนใจคือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ที่ Alibaba ได้กระโดดเข้ามาในช่วง 4 เดือนสุดท้าย ทั้งการเข้าซื้อ Lazada หรือการร่วมมือกับ Ascend ในการบุกตลาดประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ในอนาคต

ดีลที่คาดว่าจะมีผลอย่างยิ่งคือ การซื้อ Lazada ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้สินค้าจีนสามารถเข้าทำตลาดในอาเซียน และน่าจะเพิ่มมูลค่าให้กับตลาดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น โฆษณาดิจิทัล, ขนส่ง, ประกันภัย หรือแม้แต่เรื่องของสุขภาพ

ในปี 2016 ที่ผ่านมา มีอะไรเกิดขึ้นมากมายในวงการ e-Commerce เช่น กลุ่มเซ็นทรัลเข้าซื้อเว็บ Zalora, Ascend ปิดบริการ iTruemart ในฟิลิปปินส์, Rakuten ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นถอนทัพออกจากอาเซียนและขาย Tarad.com คืนให้กับผู้ก่อตั้ง และมีอีกหลายเหตุการณ์ซึ่งถ้านับว่าปี 2016 คือของหวานเรียกน้ำย่อย ปี 2017 นี้ก็จะเป็นอาหารจานหลักของ e-Commerce ที่มีมูลค่ากว่า 238,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งล่าสุด Amazon เตรียมเข้าทำธุรกิจที่สิงคโปร์ภายในไตรมาส 1 นี้ และต่อไปนี้คือสิ่งที่ต้องจับตามอง e-Commerce ในปี 2017

Alibaba ผลกระทบครั้งใหญ่สำหรับผู้เล่นท้องถิ่น

Taobao เป็นโปรแกรม e-Commerce ที่เปิดให้บริการในจีนมาแล้ว 7 ปี เป็นบริการให้กับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ เช่น ระบบจัดการสินค้า ระบบส่งของและเก็บเงิน ซึ่งถือเป็นแพล็ตฟอร์ม e-Commerce ที่ใหญ่ที่สุดของจีน ดังนั้นการมาเปิดตลาดในอาเซียน จะสร้างโอกาสอย่างกว้างขวางในการขยาย ecosystem ตั้งแต่ ดิจิทัลเอเยนซี่ ไปจนถึงบริษัทขนส่งต่างๆ

บริการขนส่งจะแข่งขันอย่างหนัก

ระบบขนส่งถือเป็นคอขวดสำหรับ e-Commerce ต่อให้ซื้อขายดีแค่ไหน ถ้าขนส่งถึงผู้รับได้แย่ e-Commerce ก็จบเช่นเดียวกัน ดังนั้นบริการขนส่งจึงมีความสำคัญมาก และสำหรับ Alibaba มีบริการที่ชื่อว่า Cainiao Network เป็นแพล็ตฟอร์มสำหรับบริการขนส่ง

70% ของธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ในจีนมาจาก e-Commerce ซึ่ง Alibaba เป็นคนกระตุ้นตลาด และนั่นทำให้สามารถสร้างมาตรฐานบริการ และกำหนดค่าบริการได้เบ็ดเสร็จ ยิ่งกว่านั้นการที่ Ant Financial และ Alipay ได้มาถึงอาเซียน อนาคตอาจจะได้เห็น Caiciao มาให้บริการต่อก็ได้

อย่าประมาท Google และ Facebook

Alibaba และ Amazon ไม่ได้มีคู่แข่งเพียงแค่ร้านขายของออฟไลน์เท่านั้น แต่ยังรวมถึง Google และ Facebook ด้วย ต่อไปจะซื้ออะไรไม่ต้องใช้ Search Engine เข้าเว็บ e-Commerce โดยตรงก็ค้นหาได้ ในประเทศจีน การแข่งขันระหว่าง Alibaba และ Baidu (Search Engine ในจีน) เข้มข้นรุนแรง โดย Alibaba บล็อกบริการของ Baidu ในการเข้ามาค้นหาข้อมูลตั้งแต่ปี 2009 เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกค้าไปค้นหาสินค้าจากเว็บ Baidu

ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นเช่นกันบน Lazada เท่ากับว่าจะสามารถจัดการระบบโฆษณาได้เหมือน Google Adwords พ่อค้าบน Lazada สามารถทำโฆษณาบน Lazada ได้โดยตรง ได้ยินแบบนี้แล้ว ดิจิทัลเอเยนซี่ ต้องใส่ใจและศึกษาให้ดี

จับตา Alipay รวบระบบจ่ายเงิน

อาเซียน มีระบบจ่ายเงินที่หลากหลาย มีผู้ให้บริการเป็นจำนวนมาก แต่การมาถึงของ Alipay เชื่อว่าจะทำให้เกิดการรวมตัวกันขึ้น ปัจจุบัน Cash-on-delivery (COD) มีส่วนแบ่งตลาด 75% ในการซื้อขายของ e-Commerce เพราะคนส่วนใหญ่ไม่มีบัญชีธนาคาร หรือไม่มีบัตรเครดิต ตอนนี้ระบบต่างๆ ของ Alibaba กำลังเข้ามาวางขุมกำลังต่างๆ ไว้แล้ว ปี 2017 จะเห็นการขับเคลื่อนตลาดแน่นอน

เตรียมพบการเผชิญหน้า Alibaba และ Amazon

ถ้าปี 2016 มีการควบรวมหรือซื้อกิจการอยู่ เช่น กลุ่มเซ็นทรัลซื้อ Zalora, TCC Group ซื้อ C-discount, Rakuten เลิกกิจการใน มาเลเซีย, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ รวมถึงไทย ยิ่งกว่านั้นอาจจะได้เห็น Amazon เข้ามาทำตลาดในนาม AmazonFresh ด้วย ซึ่งคาดการณ์กันว่าผู้ที่จะได้รับผลกระทบคือ Ascend Group ที่มีทั้ง Wemall และ WeLoveShopping ซึ่งข้อเท็จจริงยังต้องรอการพิสูจน์

แบรนด์ต่างๆ จะขายสินค้าไปผู้บริโภคโดยตรง

การขายผ่าน Marketplae เช่น Lazada, Wemall, 11street จะได้ความรวดเร็ว และมีคนเข้ามาที่เว็บเป็นจำนวนมาก เหมือนห้างสรรพสินค้า แต่ก็ยังมีแบรนด์จำนวนไม่น้อยเริ่มต้นเว็บออนไลน์ brand.com ของตัวเอง เช่น ลอรีอัล, ยูนิลีเวอร์

ส่วนหนึ่งเพราะเว็บ Marketplace ทั้งหลายเก็บข้อมูลของลูกค้าไว้โดยไม่แบ่งปันให้กับแบรนด์ที่มาเปิดร้าน จึงไม่แปลกใจที่ปีนี้แบรนด์จะกระโดดมาทำเว็บ e-Commerce เอง เพื่อให้สามารถขายของได้เองโดยตรง เก็บข้อมูลลูกค้าได้เต็มๆ และยังทำการตลาดอื่นๆ ได้อีกเพียบ

ธุรกิจประกันภัย, การเงิน และสุขภาพ จะมีมากขึ้น

เหมือนสหรัฐอเมริกาและจีน Startup ในอาเซียนจะมีมากขึ้นในธุรกิจประกันภัย, การเงิน และสุขภาพ เพราะนี่คือธุรกิจที่ไม่ต้องมีสินค้าที่จับต้องได้ ขอเพียงมีอินเทอร์เน็ต เปิด Marketplace ก็สามารถเสนอขายสินค้าไปยังผู้บริโภคได้โดยตรง เหมือน การปล่อยเงินกู้ หรือ การทำประกันชีวิต หรือประกันรถยนต์ ซึ่งถ้าดูในตลาดตอนนี้เริ่มมีเว็บไซต์ลักษณะนี้เกิดขึ้นมาก

ย้อนกลับมาดู Alibaba ที่ได้ประกาศไว้ตั้งแต่แรกว่า จะสร้างโครงสร้างพื้นฐาน e-Commerce เพื่ออนาคต พอดูธุรกิจต่างๆ ของ Alibaba จะเห็นว่า มีทั้งเรื่องขนส่ง, การเงิน, ข้อมูลบิ๊กดาต้า, คลาวด์คอมพิวติง, โมบาย อินเทอร์เน็ต, โฆษณา และธุรกิจด้านสุขภาพ แสดงให้เห็นว่า e-Commerce เป็นเพียงแค่ก้าวแรกเท่านั้น

เมียนมาร์ คือเป้าหมายถัดไป

ธรรมชาติของธุรกิจต้องหาตลาดใหม่เสมอ ในอาเซียนถือได้ว่า เมียนมาร์ คือตลาดใหม่ที่ดึงดูดใจมาก ด้วยการมีประชากร 53 ล้านคน ใหญ่เป็นอันดับ 5 ในอาเซียนเพิ่งเปิดประเทศได้ไม่นาน เริ่มมีบริการ 4G และ 3G ประชาชนเรียนรู้การเป็น Mobile-First มีจำนวนผู้ใช้ Facebook 10 ล้านราย เช่นเดียวกับไทย ที่ยอดการซื้อขาย e-Commerce 50% เกิดขึ้นบน Facebook, Instagram และ LINE ในเมียนมาร์ ก็มีโอกาสเกิดขึ้นเช่นกัน

ที่มา: techcruch.com

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา