ดุสิตธานีครึ่งปีแรก ปี 2564 รายได้เพิ่ม 15% แต่ยังขาดทุนอยู่ 302 ล้านบาท

ดุสิตธานี เปิดเผยผลประกอบการครึ่งปีแรก ปี 2564 รายได้รวม 1,898 ล้านบาท ขาดทุน 302 ล้านบาท โดยขาดทุนน้อยลงเกือบครึ่ง เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก ปี 2563

ธุรกิจการท่องเที่ยว และโรงแรม เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดมากที่สุด ดุสิตธานี เครือโรงแรมขนาดใหญ่สัญชาติไทยก็ไม่ได้รับการยกเว้นจากวิกฤตในครั้งนี้เช่นกัน

เปิดผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2564 ดุสิตธานี รายได้เพิ่ม แต่ยังขาดทุน

ในไตรมาส 2 ปี 2564 พบว่า บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ขาดทุนสุทธิ 376 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ราว 17% ส่วนครึ่งปีแรก ปี 2564 ขาดทุนไป 302 ล้านบาท นับว่าลดลงจากครึ่งปีแรก ของปี 2563 ที่ขาดทุน 535 ล้านบาท

ด้านรายได้ พบว่าในไตรมาส 2 ปี 2564 ดุสิตธานี มีรายได้เพิ่มขึ้นจาก ช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ราว 38.4%

    • ไตรมาส 2 ปี 2564 รายได้ 587 ล้านบาท
    • ไตรมาส 2 ปี 2563 รายได้ 424 ล้านบาท

ส่วนรายได้ครึ่งปีแรก ปี 2564 ดุสิตธานี มีรายได้รวมทั้งสิ้น 1,898 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรก ปี 2563 ที่มีรายได้ 1,646 ล้านบาท

หากแยกรายได้ของดุสิตธานีออกเป็นธุรกิจ จะพบว่า ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2564 มีรายได้ดังนี้

    • ธุรกิจโรงแรม รายได้ 322 ล้านบาท
    • ธุรกิจการศึกษา รายได้ 56 ล้านบาท
    • ธุรกิจอาหาร รายได้ 54 ล้านบาท
    • ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รายได้ ติดลบ 9 ล้านบาท
    • ธุรกิจอื่นๆ รายได้ 164 ล้านบาท

เมื่อเจาะลึกไปที่ธุรกิจโรงแรม ซึ่งเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับดุสิตธานีมากที่สุด จะพบว่า ในขณะนี้ดุสิตธานี บริหารโรงแรม 45 แห่ง และวิลล่าอีก 284 แห่ง รวมเป็น 329 แห่ง ห้องพักรวมทั้งหมด 11,655 ห้องพัก

ซึ่งในไตรมาส 2 ปี 2564 ธุรกิจโรงแรมมีรายได้ 322 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 222% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสามารถเปิดให้บริการโรงแรมได้ตามปกติ ในขณะที่ปีที่แล้วต้องปิดโรงแรมชั่วคราวไป 7 แห่ง ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ

สถานการณ์ปัจจุบันปฎิเสธไม่ได้เลยว่า ดุสิตธานีจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อีกครั้ง จากยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น รวมถึงมาตรการของรัฐบาลที่ขอความร่วมมือประชาชนงดเดินทางข้ามจังหวัด ทำให้มีการยกเลิกการจองห้องพักเกิดขึ้น

การดำเนินงานของธุรกิจโรงแรม ครึ่งปีแรก ปี 2564 แย่กว่าครึ่งปีแรก ปี 2563

อัตราการเข้าพักเฉพาะโรงแรมที่ดุสิตธานีลงทุนเอง ไตรมาส 2 ปี 2564 อยู่ที่ 33.0% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว อยู่ที่ 15.6% ในขณะที่หากเทียบเป็นช่วงเวลาครึ่งปีแรก ปี 2564 อัตราการเข้าพักจะอยู่ที่ 32.4% ลดลงจากช่วงครึ่งปีแรก ปี 2563 ที่อัตราการเข้าพักอยู่ที่ 36.6%

ค่าห้องเฉลี่ย หากเทียบเฉพาะไตรมาส 2 ปี 2564 จะอยู่ที่ 2,312 บาทต่อคืน เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2563 ที่ค่าห้องเฉลี่ยอยู่ที่ 2,124 บาทต่อคืน ในขณะที่หากเทียบเป็นช่วงเวลาครึ่งปีแรก ปี 2564 ค่าห้องเฉลี่ยจะอยู่ที่ 2,837 บาทต่อคืน ลดลงจากช่วงครึ่งปีแรก ปี 2563 ที่ค่าห้องเฉลี่ยอยู่ที่ 3,975 บาทต่อคืน

ในขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อห้อง ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2564 จะอยู่ที่ 763 บาทต่อคืน เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2563 ที่อยู่ที่ 332 บาทต่อคืน แต่หากเทียบเป็นช่วงเวลาครึ่งปีแรก ปี 2564 รายได้เฉลี่ยต่อห้องจะลดลงราว 37% เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก ปี 2563 จาก 1,456 บาท เหลือ 918 บาท

โควิด-19 ยังระบาดเหมือนเดิม แต่การปรับกลยุทธ์ทำให้ขาดทุนน้อยลง

สาเหตุที่ทำให้ดุสิตธานี มีรายได้เพิ่มขึ้นราว 17% แม้ว่าในปี 2564 ยังคงมีสถานการณ์โควิด-19 ระบาดเช่นเดียวกับปีที่แล้ว เป็นเพราะการปรับกลยุทธ์ในการหารายได้ที่เปลี่ยนไป โดยการกระจายการลงทุนไปยังธุรกิจอาหาร และธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ทำมาตลอดเวลาหลายปี ทำให้มีรายได้จากธุรกิจอาหาร และรายได้อื่นๆ เพิ่มขึ้น

โดยได้มีการขยายธุรกิจบริการจัดการอาหารแก่โรงเรียนนานาชาติ ไปยังประเทศเวียดนามตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 ปี 2563

นอกจากนี้ในปี 2564 โรงแรมยังสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ ในขณะที่ปีที่แล้วจำเป็นต้องปิดให้บริการโรงแรม 7 แห่งทั้งในไทย และต่างประเทศ

นอกจากในด้านรายได้แล้ว ดุสิตธานียังมีกลยุทธ์การควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด โดยปรับโครงสร้างองค์กรให้มีค่าใช้จ่ายรายเดือนโดยรวมลดลง ทำให้ค่าใช้จ่ายในไตรมาส 2 ปี 2563 ลดลง 6.4% ซึ่งส่งผลต่อการขาดทุนสุทธิที่ลดลง

ที่มา – เครือดุสิตธานี

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา