หากพูดถึงดูไบ หลายคนคงนึกถึงเมืองที่เต็มไปด้วยมหาเศรษฐี และนักธุรกิจจากหลากหลายประเทศทั่วโลก Brand Inside จึงจะพามาไขคำตอบว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการในดูไบประสบความสำเร็จได้อย่างสูง
ดูไบเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจที่สำคัญของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และติดอันดับเมืองมั่งคั่งที่สุดในตะวันออกกลาง ตามรายงานของ NW Wealth แต่คนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่าดูไบรวยเพราะค้าน้ำมัน ทั้งที่ในความเป็นจริง น้ำมันสร้างรายได้ให้กับดูไบเพียง 6-7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นจากรายได้ทั้งหมด ส่วนอีก 20 เปอร์เซ็นต์เป็นการลงทุนจากต่างประเทศ
นอกจากนี้ รายได้ส่วนสำคัญของดูไบยังมาจากเหล่าผู้ประกอบการ SME โดยหากอ้างอิงสถิติของ Emirati Entrepreneurial Activity (TEA) จะพบว่า ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในทุกๆ 100 คน จะมีประมาณ 10 คนที่เป็นผู้ประกอบการ ถือเป็นจำนวนที่มากพอสมควร
เคล็ดลับแรกของดูไบคือภาครัฐสนับสนุน SME
ภาครัฐมองว่า SME จะช่วยให้เกิดการจ้างงาน การลงทุน และการขับเคลื่อนนวัตกรรม ภาครัฐจึงจัดอันดับ SME100 เพื่อให้ผู้ประกอบการในดูไบเห็นว่า SME ไหนมีการเติบโตสูงและน่าเรียนรู้กลยุทธ์การทำธุรกิจด้วย
รวมถึงมีกองทุน Khalifa Fund for Enterprise Development ที่ช่วยสนับสนุนให้ SME เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมากองทุนนี้ช่วยเหลือ SME ไปแล้วกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6.9 พันล้านบาท)
อีกทั้งยังมีโครงการ Dubai SME เพื่อให้ผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ได้ลองมาแข่งขันทำธุรกิจ SME และหาคอนเนคชันจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ
โครงการอีกแบบที่ดูไบมีแต่ไทยยังไม่มีเท่าไหร่คือโครงการช่วยหาคอนเนคชันของผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เช่น นักวิจัย นายธนาคาร ทนาย นักบัญชี ฯลฯ มาให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการ อย่างโครงการ Tamakkan
ยิ่งไปกว่านั้น ดูไบยังมีโครงการ Al Radda เพื่อรองรับผู้ต้องขัง และโครงการ Ishraq เพื่อรองรับผู้ที่เคยติดยาเสพติดให้กลับมาสู่ภาคธุรกิจได้ ถือเป็นการใช้ทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียม
สตาร์ทอัพก็สำคัญไม่แพ้กัน
ในฝั่งของสตาร์ทอัพ ดูไบมี Silicon Oasis Founders (SOF) เพื่อสนับสนุนธุรกิจที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีระดับสูง รวมถึงคอยช่วยหานักลงทุนให้กับสตาร์ทอัพที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาเพียง 3-12 เดือน
และมีการจัดงาน Startup Weekend เป็นประจำทุกปี โดยเน้นที่การพัฒนาเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันใหม่ๆ บนมือถือ ซึ่งงานนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในดูไบ
สื่อมวลชนเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันของสังคมแห่งผู้ประกอบการ
ด้านสื่อมวลชนก็ช่วยผลักดันสังคมแห่งผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี เช่น รายการ The Entrepreneur ที่ฉายทาง Dubai One ซึ่งเป็นช่องของบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ให้ผู้ประกอบการมาแข่งขันทำธุรกิจ เพื่อชิงเงินรางวัลหลักล้าน ด้วยความบันเทิงของรายการนี้ ทำให้คนในดูไบยิ่งสนใจการทำธุรกิจมากขึ้นไปอีก
พนักงานบริษัทก็มีความเป็นนักธุรกิจได้
แม้แต่คนที่เป็นพนักงานบริษัททั่วไป องค์กรต่างๆ ก็มักส่งเสริมให้พนักงานมีความเป็นผู้ประกอบการในตัว (Intrapreneurship) หลายบริษัทในดูไบจึงเปิดแผนกใหม่ขึ้นมาเพื่อให้พนักงานพัฒนาเรื่องนวัตกรรมโดยเฉพาะ ซึ่งหากมองในระดับโลกแล้ว องค์กรใหญ่อย่าง Google, Nestle, Ford, IBM และ 3M ก็เน้นปลูกฝังความเป็นผู้ประกอบการให้กับพนักงานเช่นเดียวกัน
ไทยสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้จากดูไบมาปรับใช้อย่างไรบ้าง
ก่อนอื่น ภาครัฐต้องปรับมุมมองว่าทรัพยากรบุลคลในไทยทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ หรือแม้กระทั่งผู้เคยมีประวัติไม่ดีมาก่อนนั้นสามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ หากได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสม
โดยเริ่มจากปลูกฝังจิตวิญญานความเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่เด็ก ผ่านโครงการที่ให้นักเรียนนักศึกษาลองมาทำธุรกิจ SME และสตาร์ทอัพ รวมถึงมีเครือข่ายของผู้ประกอบการกับผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มารองรับ เพื่อให้คนที่อยากตั้งธุรกิจสามารถหาที่ปรึกษาได้สะดวก
ในด้านของสื่อมวลชนก็สามารถผลิตรายการที่สร้างแรงบันดาลใจ และแนะนำวิธีดำเนินธุรกิจแบบใช้ได้จริงออกมามากขึ้น ส่วนองค์กรทั่วไปนั้นน่านำหลัก Intrapreneurship มาปรับใช้ให้พนักงานมีความเป็นผู้ประกอบการในตัวคือพร้อมคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้กับองค์กรมากขึ้น โดยหาพื้นที่และจัดเวลาให้พนักงานมาพัฒนานวัตกรรมเป็นประจำ เพราะนวัตกรรมจะนำมาซึ่งรายได้ในที่สุด
โดยสรุป
ดูไบให้ความสำคัญกับการสร้างผู้ประกอบการตั้งแต่วัยเด็ก รวมถึงทางภาครัฐก็สนับสนุนทั้ง SME และสตาร์ทอัพอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญ สื่อมวลชนก็เป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการเป็นผู้ประกอบการ ทำให้ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีพื้นเพแบบไหนก็มีโอกาสสร้างธุรกิจของตัวเองได้ ทั้งหมดนี้จึงเป็นปัจจัยที่ประเทศไทยน่าเรียนรู้และลองนำไปปรับใช้ตาม
ที่มา Forbesmiddleast, Gulf, Mfa, Researchgate, Mgronline
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา