อ่านความคิด “ดวงฤทธิ์ บุนนาค” พร้อมทักษะการใช้ชีวิตที่ไม่ได้สิ้นสุดแค่กรณีสุวรรณภูมิ

ในวงการสถาปัตย์ ชื่อ “ดวงฤทธิ์ บุนนาค” น่าจะเป็นที่รู้จักอยู่ไม่น้อย แต่สำหรับชื่อนี้ของบุคคลทั่วไปอาจรู้จักจากข่าว “อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ของสนามบินสุวรรณภูมิ” แล้วเขาคิดกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง ลองมาฟังคำตอบกัน

กว่า 20 ปีในโลกสถาปัตยกรรม

“ดวงฤทธิ์ บุนนาค” หรือ “พี่ด้วง” ของใครหลายคนนั้นโลดแล่นอยู่ในวงการสถาปัตยกรรมมานากว่า 20 ปี ซึ่งกว่าจะถึงจุดนี้ได้นั้น การใช้ความคิดสร้างสรรค์ในเรื่องต่างๆ ย่อมถูกกลั่นออกมาเพื่อใช้งานเป็นจำนวนมาก แต่นั่นก็เป็นเรื่องปกติของสถาปนิกทุกคนที่ต้องทำได้

“เราถูก Train มาเพื่อออกแบบตึก กับเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ยิ่งผมรับงานมาปีละหลายชิ้น มันก็ต้องมีกระบวนการคิดที่เยอะมาก แต่ถ้าเราติดกับดักเรื่องความสำเร็จ เช่นชื่อเสียง, การเป็นที่ยอมรับ หรืออื่นๆ มันก็จะทำให้เราไม่สามารถไปต่อได้เลย เพราะมันจะกลายเป็น Ego” ดวงฤทธิ์ กล่าว

ขณะเดียวกันเขายังมองว่า การเป็นสถาปนิกที่เป็นที่ยอมรับ จะทำให้หลายคนรู้สึกเหมือนเป็นพระเจ้า และเกิดเป็น God Complex เนื่องจากสถาปนิกเป็นคนสร้าง และกุมชีวิตของตึกตึกหนึ่งเอาไว้ จึงไม่แปลกที่หลายคนจะหลงระเริงกับเรื่องนี้ และทิ้งความเป็นตัวของตัวเองไป

สุวรรณภูมิกับการก้าวผ่านครั้งสำคัญ

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเพียงการแนะแนวเรื่องกระบวนการคิดเวลาเป็นสถาปนิกของ “ดวงฤทธิ์” เท่านั้น เพราะล่าสุดมันมีวิกฤติใหม่เข้ามาในชีวิตของเขานั่นก็คือ “อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ของสนามบินสุวรรณภูมิ” หลังถูกมองว่าไปลอกแบบจากวัดแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่นมา แถมแบบดังกล่าวยังชนะในการประกวดออกแบบสร้างอาคารดังกล่าวด้วย

“ตัวอาคารผู้โดยสารนี้ผมเริ่มจากความเป็นป่า เพราะมันน่าจะสื่อความเป็นไทยได้ง่ายกว่าวัด หรืออื่นๆ แถมตอนที่ผมเริ่มจะทำโปรเจคนี้ ลูกน้องหลายคนก็ไม่เชื่อว่ามันจะทำได้ เพราะเราเป็นแค่บริษัทรับออกแบบเล็กๆ แต่ผมก็พิสูจน์ด้วยการจริงจังกับมัน 3 เดือนเต็ม จนลูกน้องยอมรับว่ามันน่าจะเป็นไปได้ หลังจากนั้นผลลัพธ์มันก็ออกมาน่าพอใจ”

และเรื่องดังกล่าวมันช่วยให้เขาพิสูจน์เรื่องความเป็นผู้นำ หรือ Leadership ที่เป็นมากกว่าแค่ CEO หรือเจ้านาย เพราะถ้าลูกน้องไม่เชื่อ ทุกอย่างก็เดินต่อไม่ได้แน่ๆ ประกอบกับหลังถูกมองว่าลอกเลียนแบบ เขาก็ออกมายืนยันชัดเจนว่ามันไม่จริง และเป็นงานที่บริษัทภูมิใจอีกงานหนึ่ง ซึ่งจุดนี้ก็ทำให้ลูกน้องเชื่อมั่นได้เหมือนกัน

ความเป็นผู้นำ หรือ Leadership // ภาพ pexels.com

โลกธุรกิจที่ต้องผูกขาดชั่วคราว

ขณะเดียวกัน ในการทำธุรกิจของ “ดวงฤทธิ์” หลังจากนี้ได้นำหลักการมาใช้ทั้งหมด 3 เรื่องประกอบด้วย

  • Temporary Monopoly หรือการผูกขาดทางธุรกิจแบบชั่วคราว
  • Silent Knowledge หรือการเรียนรู้ที่ไม่สามารถสอนด้วยแบบแผนต่างๆ ได้
  • Experience Economy หรือการใช้ประสบการณ์ใช้ชีวิตของผู้บริโภคมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจ

โดยเรื่อง Temporary Monopoly มีที่มาจากหลายธุรกิจในอดีตนั้นประสบความสำเร็จ เพราะสามารถผูกขาดทางการตลาด หรือ Monopoly ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ไม่ว่าจะเป็น สินค้าสุรา, สินค้าเกษตร หรือสินค้าอุปโภคบริโภค แต่การทำธุรกิจในยุคที่โลกหมุนเร็วในปัจจุบัน ทุกอย่างก็ไม่สามารถ Monopoly ได้ตลอดกาลอีกแล้ว

“การทำธุรกิจเพื่อให้มันมั่งคั่ง หรือ Wealth นั้น ยุคนี้ต้องทำแบบ Temporary Monopoly ตัวอย่างเช่นผมเอาโรงงานเก่ามา Renovate แล้วมันสำเร็จ ผมก็ Monopoly ได้ แต่แค่ไม่นาน เพราะหลังจากนั้นก็มีคนทำแบบผมเต็มไปหมด ซึ่งถ้าผมอยากมั่งคั่งต่อ ผมก็ต้องไปหาอะไรใหม่ๆ เพื่อให้มัน Temporary Monopoly อีกครั้ง”

การเรียนรู้แบบไม่มีแบบแผนคือเรื่องใหม่

อย่างที่สองคือ Silent Knowledge หรือการเรียนรู้ที่ไม่สามารถสอนตามแบบแผน เนื่องจากในอดีตการหาความรู้นั้นยากลำบาก ถ้าไม่เรียนในห้องเรียน ก็ต้องไปอ่านหนังสือเอาเอง ซึ่งปัจจุบันมันไม่ใช่แล้ว พวกความรู้ตามแบบแผนเรียนนั้นสามารถอ่านได้ในอินเทอร์เน็ต ดังนั้นสิ่งที่มันจำเป็นมากกว่าคือ ความรู้ที่หาไม่ได้จากแบบแผนปกติ

Silent Knowledge หรือการเรียนรู้ที่ต้องอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่ตามแบบเรียน

“เมื่อทุกอย่างที่บันทึกได้ ไม่ว่าจะเป็นแบบเรียน, หลักการผลิตสิ่งต่างๆ หรืออื่นๆ มันถูก Upload ขึ้นไปบนอินเทอร์เน็ตได้ ดังนั้นทุกคนก็สามารถหาข้อมูลเสริมความรู้ให้ตัวเองได้ง่ายกว่าเดิม และสิ่งที่จำเป็นในตอนนี้คือ Silent Knowledge ที่หาได้จากการสื่อสารระหว่างคนด้วยกัน”

ตัวอย่าง Silent Knowledge เช่น การเลื่อยไม้ให้สวยงาม เพราะไม่สามารถบันทึกออกมาเป็นแบบแผนได้ ต้องใช้การใกล้ชิดกับช่างไม้ พูดคุยกับช่างไม้ เพื่อทำความเข้าใจเอง รวมถึงกลุ่มวิชาสถาปัตยกรรมก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะมันเป็นองค์ความรู้ที่สอนให้กันด้วยแบบแผนไม่ได้ จึงไม่แปลกที่มันต้องมีสำนักงานเพื่อให้ทุกคนมาพูดคุยกัน

การให้ประสบการณ์ที่ดีจะช่วยดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย

“ง่ายๆ เลยคือ สังคมเมืองที่หลายคนก็เห็นชัดว่ามัน Work เพราะมนุษย์ทุกคนกระหายจะเรียนรู้ระหว่างคนด้วยกัน ซึ่งมันต่างจากสังคมชนบทที่มันจะทำให้ Work ก็ลำบาก เพราะไม่มีมนุษย์มากพอ ดังนั้นเราต้องเน้นการสร้างองค์ความรู้ที่จะสอนกันตรงๆ ไม่ได้ มันต้องถ่ายทอดไปเองจากการทำอะไรร่วมกันสักอย่าง”

สุดท้ายคือ Experience Economy เพราะธุรกิจในยุคนี้จะขึ้นกับเรื่องประสบการณ์ หรือ Experience โดยตรง เช่นในธุรกิจค้าปลีกที่อดีตแค่ขายของก็สามารถดำเนินธุรกิจให้เติบโตได้ แต่ปัจจุบันมันต้องขายประสบการณ์ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีความรู้สึกร่วมไปกับตัวธุรกิจ

“อีกตัวอย่างที่ดีคือโรงแรม เพราะ Stage แรกของเรื่องความหรูหรา หรือ Luxury มันคือ Blink Blink หรืออะไรก็ได้ที่ดูแพง แต่หลังจากนั้นมันเริ่มต้องออกแบบให้ผู้มาใช้บริการแล้วเขารู้สึกภาคภูมิใจ ซึ่งการขายด้วยประสบการณ์มันช่วยเรื่องพวกนี้ได้ แต่มันก็ต้องพึ่งพาตัว Creativity เช่นเดียวกัน”

สรุป

เมื่ออ่านดูแล้วจะพบกลายๆ ว่า Creativity หรือความคิดสร้างสรรค์นั้นไม่ได้เกิดจากความพยายาม แต่มันจะเกิดขึ้นเองอัตโนมัติมากกว่า ซึ่งมันต้องใช้เวลาทำความเข้าใจในเรื่องต่างๆ เพื่อมาประยุกต์ใช้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ประกอบกับรูปแบบการทำธุรกิจในยุคใหม่ของ “ดวงฤทธิ์ บุนนาค” ก็คงไม่ได้ยากเกินกว่าที่ใครจะนำไปประยุกต์ใช้เช่นกัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา