แม้ก่อนหน้านี้จะยืนยันว่า ด้วยเงื่อนไขรายละเอียดการประมูลคลื่นความถี่แบบนี้ dtac หรือ ดีแทค จะไม่เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ใหม่ แต่ด้วยสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ในที่สุด dtac ก็เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 900MHz ขนาด 2×5 MHz เพียงรายเดียว และเคาะราคา 2 ครั้ง สรุปที่ 38,064 ล้านบาท คว้าใบอนุญาตใช้คลื่น 15 ปี (ถึง พ.ศ. 2576) ไปครอง
คลื่นครบ ลุยเต็มที่
ดีแทค เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ในนาม บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด บริษัทย่อยในกลุ่มบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เป็นผู้ถือครองใบอนุญาตคลื่น 900 MHz ขนาด 2×5 MHz จากการประมูลในราคา 38,064 ล้านบาท โดยได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่น 15 ปี จนถึง พ.ศ. 2576
อเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ ดีแทค บอกว่า คลื่น 900MHz เป็นคลื่นย่านความถี่ต่ำจะช่วยเติมเต็มประสิทธิภาพโครงข่ายการให้บริการอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศโดยเฉพาะการให้บริการครอบคุลมพื้นที่ชนบทที่ห่างไกล
การคว้าคลื่น 900MHz ทำให้ดีแทคมีบริการคลื่นความถี่ที่ครอบคลุมทั้งย่านคลื่นความถี่ต่ำ (Low-band spectrum) และคลื่นย่านความถี่สูง (High-band spectrum) จากการถือครองใบอนุญาต 900MHz, 1800MHz, 2100MHz และให้บริการโรมมิ่งบนคลื่น 2300MHz ของทีโอทีที่ดีแทคเป็นพันธมิตร ทำให้ดีแทคมีแถบคลื่นความถี่ที่ให้บริการกับลูกค้าทั้งหมดกว้างถึง 110MHz
ทั้งนี้ ดีแทคจะนำคลื่นใหม่ 900MHz มาให้บริการแทนคลื่น 850 MHz อย่างต่อเนื่อง
ทำไมถึงตัดสินใจเข้าประมูลคลื่น
การประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900MHz มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความต่อเนื่องให้ลูกค้าใช้งานหลังสิ้นสุดระยะเวลาคำสั่งของศาลปกครองกลางที่คุ้มครองการใช้งานของลูกค้าดีแทคบนคลื่นความถี่ 850MHz จากที่กำหนดให้ใช้งานหลังสิ้นสุดสัมปทานได้ถึง 15 ธันวาคมนี้
ภายใต้หลักเกณฑ์ประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900MHz ของ กสทช. ที่ให้ผู้ชนะประมูลสามารถใช้คลื่นความถี่ย่าน 850MHzแทนคลื่น 900MHz ต่อไปได้ในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ขณะนี้ลูกค้าดีแทคจึงไม่ต้องกังวลอีกต่อไป โดยสามารถใช้งานมือถือได้อย่างมั่นใจ โดยเฉพาะลูกค้าที่ใช้งานดีแทคในพื้นที่ต่างจังหวัด
หลังจากได้คลื่น 900MHz มาแล้ว dtac จะทำอะไรต่อไป มีโฆษณายิงออกมาแล้ว
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา