จาก TriNet ถึง TURBO กับกลยุทธ์การตั้งชื่อเครือข่ายเพื่อดึงดูดลูกค้าของ dtac

ในที่สุดลูกค้า dtac ก็ได้ใช้งาน 4G บนคลื่น 2300 MHz หรือคลื่นความถี่ใหม่ที่ได้มาจากการร่วมมือกับบมจ.ทีโอทีแล้ว แถมทางค่ายยังเดินหน้าทำตลาดในชื่อ dtac TURBO แต่ชื่อนี้จะดึงความเชื่อมั่นของลูกค้ากลับมาได้หรือไม่

dtac TURBO

ย้อนรอยการตั้งชื่อโครงข่ายของ dtac

การใช้ชื่อโครงข่ายเพื่อทำตลาดของ dtac นั้นต้องย้อนไปในสมัยการประมูล 3G เมื่อปี 2556 ที่ตอนนั้นค่ายใบพัดสีฟ้าประมูลได้คลื่น 2100 MHz มาเพิ่ม ทำให้มีคลื่นที่ใช้ให้บริการ 3 คลื่นคือ 850 MHz, 1800 MHz และ 2100 MHz แถมเมื่อนำแถบคลื่นมารวมกันมีถึง 50 MHz มากที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาด

จึงไม่แปลกที่ dtac จะตั้งชื่อโครงข่ายว่า dtac TriNet เพื่อสื่อให้ลูกค้ารับรู้ว่าเครือข่ายของตัวเองมี 3 คลื่นความถี่ ซึ่งคนที่บวกลบคูณหารได้ก็น่าจะเข้าใจว่า การยิ่งมีคลื่นในมือเยอะ ประสิทธิภาพในการใช้งานก็ต้องดีขึ้น ประกอบกับคู่แข่งในตลาดขณะนั้นก็มีแค่ 2 คลื่น เรียกว่าถ้าสื่อสารได้ถูกต้อง ก็คงสร้างความได้เปรียบคู่แข่งได้ไม่น้อย

dtac TriNet

แต่สุดท้ายแล้วการสื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจประสิทธิภาพของ dtac TriNet ก็เหมือนยังไม่โดนใจลูกค้าเครือข่ายอื่นเท่าไรนัก แม้เมื่อจบยุค 3G ทางแบรนด์ยังสามารถรักษาอันดับที่ 2 ของตลาดในแง่จำนวนผู้ใช้เอาไว้ได้ แต่ก็ยังอยู่ห่างเบอร์หนึ่งเกือบเท่าตัว แถมถูกเบอร์ 3 ในตลาดขณะนั้นไล่จี้มาติดๆ

SUPER 4G ที่ใช้จุดเด่นเรื่องคลื่นเช่นเดิม

ถัดมาในปี 2558 ที่การประมูลคลื่น 4G หรือ 900 MHz กับ 1800 MHz จบลง แม้ dtac จะไม่ชนะประมูลสักคลื่น แต่ก็ยังชูจุดเด่นเรื่องคลื่นความถี่ที่รวมกันมากถึง 50 MHz ไว้ได้อยู่ รวมถึงยังแบ่งคลื่น 1800 MHz มาอีก 5 MHz เพื่อให้บริการ 4G ได้กว้างถึง 20 MHz และกลายเป็นที่มาของการตั้งชื่อทางการตลาดว่า dtac SUPER 4G

แถมนอกจากจะสื่อสารข้อมูลไปยังผู้บริโภคเกี่ยวกับเรื่องคลื่นความถี่เหมือนครั้งก่อน ยังเกทับคู่แข่งด้วยการสื่อว่าเงินที่ผู้ชนะประมูลคลื่น 900 MHz จำนวน 70,000 กว่าล้านบาทนั้น dtac สามารถนำมาพัฒนาโครงข่ายให้มีประสิทธิภาพได้มากกว่าเดิม รวมถึงเอาเงินก้อนนี้ไปทำอย่างอื่นได้อีกมากมาย

แต่บทสรุปแล้วมันก็ออกมาใกล้เคียงกับครั้ง 3G แม้จะลงทุนจ้าง “อั้ม-พัชราภา ไชยเชื้อ” มาช่วยสื่อสารเรื่องความ “ลื่น” ของเครือข่าย เพราะ dtac SUPER 4G ไม่สามารถช่วยให้ค่ายใบพัดสีฟ้ามีจำนวนลูกค้าได้ไกล้เคียงเบอร์หนึ่งแม้แต่น้อย หนักกว่านั้นคือต้องศูนย์เสียอันดับ 2 ของตลาดให้กับค่ายคู่แข่งที่พักหลังมาแรงขึ้นเรื่อยๆ

dtac TURBO

ความหวังใหม่ภายใต้ชื่อ dtac TURBO

ล่าสุดในปีนี้ dtac ได้บรรลุข้อตกลงกับทางบมจ.ทีโอที เพื่อขอใช้งานคลื่น 2300 MHz แถบความกว้าง 60 MHz หลังต้องเผชิญวิกฤติคลื่นที่ตัวเองมีอยู่นั้นสิ้นสุดระยะเวลาสัมปทาน และทำให้ความได้เปรียบในแง่คลื่นในมือที่เยอะที่สุดต้องหายไป ยิ่งหากไม่ได้คลื่นดังกล่าวมาจริงๆ ก็อาจมีคลื่นไม่เพียงพอเพื่อให้บริการก็เป็นได้

อย่างไรก็ตามเมื่อได้คลื่นมาแล้ว dtac ก็ไม่รอช้าที่จะตั้งชื่อให้เครือข่ายใหม่ว่า dtac TURBO พร้อมกับเร่งสื่อสารว่า 4G ที่ให้บริการหลังจากนี้จะวิ่งอยู่บนเทคโนโลยี 4G TDD ถือเป็นครั้งแรกของไทย แถม dtac ยังเป็นรายเดียวที่ถือคลื่นความถี่สูง หรือ 2100 MHz กับ 2300 MHz ซึ่งรองรับการส่งข้อมูลขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว

สำหรับ dtac TURBO จะเริ่มให้บริการในกรุงเทพชั้นใน, เชียงใหม่, ขอนแก่น และภูเก็ตตั้งแต่วันนี้ หลังจากนั้นจะทยอยขยายบริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งก็คงต้องลุ้นกันว่าสุดท้ายแล้ว dtac จะใช้ dtac TURBO เร่งเครื่องแซงคู่แข่งคนสำคัญขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 ในตลาดได้เหมือนเดิมหรือไม่

สรุป

เชื่อว่าการทำตลาดโทรคมนาคมเพื่อให้ลูกค้ามาใช้งานเยอะๆ ก็คงไม่พ้นโครงข่ายที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งก็ไม่ได้ต่างจากในอดีตที่ต้องมีสัญญาโทรศัพท์ครอบคลุมทั่วประเทศ เพียงแค่ปัจจุบันต้องทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตของลูกค้าในระบบนั้นเร็ว และเสถียรมากที่สุด ดังนั้นการสื่อสารอะไรยากๆ ผู้บริโภคก็อาจไม่เข้าใจก็เป็นได้ ซึ่งตัวอย่างที่ทำไม่สำเร็จมีมาให้เห็นกันบ้างแล้ว

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา